เมื่อคนจีนคิดถึงบูเช็กเทียน

เมื่อคนจีนคิดถึงบูเช็กเทียน

เรื่องราวของบูเช็กเทียนเข้ากับบรรยากาศของสังคมจีนในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี

ช่วงที่ผ่านมาละครโทรทัศน์เรื่อง “พระนางบูเช็กเทียน” ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศจีน ทำลายสถิติยอดผู้ชมตอนแรกสูงสุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์จีน และสถิติใช้เงินลงทุนในการถ่ายทำสูงสุดมากถึง 300 ล้านหยวน (ราว 1,500 ล้านบาท) โดยได้นักแสดงหญิงชื่อดังฟ่านปิงปิงรับบทเป็นพระนางบูเช็กเทียน ตั้งแต่เข้าวังครั้งแรกในวัย 14 ปี เป็นฮองเฮาในวัย 31 ปี ขึ้นเป็นฮ่องเต้หญิงองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนในวัย 65 ปี ตราบจนสวรรคตในวัย 81 ปี


ความพิเศษของประวัติศาสตร์จีนคือการบันทึกและประเมินบุคคลเชิงวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศอื่นๆ ในสมัยโบราณมักนิยมเขียนประวัติศาสตร์แนวเทิดทูนยกย่อง เพื่อเอาใจผู้มีอำนาจแตกต่างจากจีนในยุคราชวงศ์ ขุนนางจีนที่รับผิดชอบในการ “สร้างประวัติศาสตร์” มองหน้าที่ของตนว่าเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ความสำเร็จและความล้มเหลวในแต่ละรัชสมัย เพื่อเป็นข้อคิดแก่อนุชน (โดยเฉพาะฮ่องเต้) รุ่นหลัง


พระนางบูเช็กเทียนเป็นฮ่องเต้หญิงองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์จีนไม่ว่าจะก่อนหน้าหรือหลังจากบูเช็กเทียนล้วนไม่มีใครกล้าประกาศตนเป็นฮ่องเต้ส่วนใหญ่ล้วนกุมอำนาจ “หลังม่าน” ภายใต้พระนามของ “ฮ่องเต้หุ่นเชิด” เช่นพระนางซูสีไทเฮาซึ่งมีอำนาจจริงเหนือฮ่องเต้ถึงสองรัชสมัยด้วยกัน


ในบันทึกประวัติศาสตร์พระนางบูเช็กเทียนถูกจารึกภาพเป็นฮ่องเต้หญิงที่อำมหิตและโหดร้ายพระนางลอบฆ่าพี่สาว โค่นและฆ่าฮองเฮา ปลิดชีวิตลูกสาวทารกวางยาพิษลูกชายคนโต บังคับลูกคนรองให้ฆ่าตัวตายไล่ลูกชายที่เหลืออีกสองคนออกจากตำแหน่งฮ่องเต้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ประหารเชื้อพระวงศ์และขุนนางใหญ่น้อยอีกเกือบร้อยลงโทษขุนนางผู้ต่อต้านจำนวนมากด้วยวิธีทารุณกรรมจนได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงโหดร้ายที่ไม่รู้จักอายฟ้าดิน


แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่หลายคนกลับมองว่าที่บูเช็กเทียนถูกบันทึกให้เป็นเสมือนปีศาจสาเหตุที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะการที่ผู้หญิงกล้าสถาปนาตนเป็นฮ่องเต้นั้นเป็นการทำลายกำแพงจารีตอันยิ่งใหญ่ของสังคมจีนโบราณอย่างที่คนรุ่นหลังไม่ควรคิดจะเอาอย่าง


เรื่องราวของบูเช็กเทียนมีรสชาตินิยายโดยไม่ต้องเสริมเติมแต่งพระนางมีชาติกำเนิดไม่สูงส่งเมื่อแรกที่ได้รับเลือกเข้าวังในวัย 14 ปีจึงได้เป็นสนมเพียงเล็กๆ ของจักรพรรดิถังไท่จงฮ่องเต้ที่นับเป็นมหาราชในสมัยราชวงศ์ถัง


ครั้นเมื่อจักรพรรดิถังไท่จงสวรรคตและจักรพรรดิถังเกาจงขึ้นครองราชย์บูเช็กเทียนตัดสินใจไว้ทุกข์โดยออกบวชเป็นแม่ชีแต่แล้วจักรพรรดิองค์ใหม่กลับเกิดหลงรักบูเช็กเทียน ซึ่งเป็นสนมเดิมของพ่อถึงกับเสด็จไปรับบูเช็กเทียนจากวัดกลับเข้าวัง ท่ามกลางเสียงคัดค้านถึงความไม่เหมาะสมจากบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนัก


บูเช็กเทียนต่อสู้ฝ่าฟันกับการเมืองในวัง จนสามารถโค่น (และฆ่า) ฮองเฮาซึ่งมาจากตระกูลชนชั้นสูงได้สำเร็จและเนื่องจากจักรพรรดิถังเกาจงเจ็บป่วยบ่อยและร่างกายอ่อนแอบูเช็กเทียนจึงเริ่มก้าวข้ามรั้ววังมาช่วยว่าราชการบ้านเมืองในหลายโอกาส


จีนในสมัยนั้น เป็นยุคที่ชนชั้นสูงมีอิทธิพลในทางการเมืองมาก บูเช็กเทียนต้องต่อสู้กับบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ที่มาจากชนชั้นสูงซึ่งคอยพยายามจะกุมอำนาจราชสำนักแทนจักรพรรดิถังเกาจงที่อ่อนแอจักรพรรดิถังเกาจงรักและสนับสนุนบูเช็กเทียน ขณะเดียวกันก็ได้อาศัยความเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวของบูเช็กเทียนในการรักษาและสร้างฐานอำนาจของตนด้วยถังเกาจงและบูเช็กเทียนทั้งไล่ทั้งปลดทั้งลงโทษพวกชนชั้นสูงหัวเก่าจากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงระบบการสอบจอหงวนให้กลายเป็นระบบการคัดเลือกขุนนางที่สำคัญเพื่อรับเอาสามัญชนที่มีความสามารถเข้าทำราชการและคานอำนาจกับพวกชนชั้นสูง


เมื่อจักรพรรดิถังเกาจงสวรรคตจักรพรรดิถังจงจงซึ่งเป็นโอรสของบูเช็กเทียนเองได้ขึ้นครองราชย์แต่ปกครองได้ไม่ถึงสองเดือนก็เริ่มแข็งข้อกับแม่ จึงถูกแม่ปลดออกกลางท้องพระโรง และตั้งลูกชายที่เหลืออีกคนขึ้นเป็นฮ่องเต้แทนแต่ฮ่องเต้องค์ใหม่ครองราชย์ได้ไม่นาน บูเช็กเทียนในวัย 65 ปี ก็เริ่มไม่พอใจและปลดออกอีกจากนั้นบูเช็กเทียนจึงประกาศตั้งต้นขึ้นเป็นฮ่องเต้เอง และเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากถังเป็นโจว


เพื่อรักษาอำนาจบูเช็กเทียนเดินหน้ากำจัดและจำกัดอำนาจบรรดาขุนนางที่มาจากชนชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์เก่าส่งเสริมการสอบจอหงวนให้กลายเป็นกลไกหลักที่สำคัญที่สุดในการคัดเลือกคนเข้าทำราชการจุดประสงค์เพื่อสร้างคลื่นลูกใหม่มาเสริมกำลังอำนาจของบูเช็กเทียน ซึ่งครองราชย์ต่อมาอีก 15 ปีก่อนจะถูกขุนนางเหล่านี้เองปฏิวัติยึดอำนาจกลับคืนให้ลูกชายที่ถูกปลดจากฮ่องเต้ก่อนหน้านี้ แต่ยังคงรักษาพระเกียรติของบูเช็กเทียนไว้ในฐานะไทเฮาจนสวรรคต


การเล่นการเมืองของบูเช็กเทียนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโครงสร้างของสังคมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จีนกล่าวคือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเส้นสายของชนชั้นสูงเป็นสังคมที่เปิดให้บุคคลทุกชนชั้นมีโอกาสสอบเข้าและเติบโตในระบบราชการในรัชสมัยบูเช็กเทียนนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่มีขุนนางผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่ได้มีพื้นเพมาจากแวดวงชนชั้นสูงหากไม่นับความโหดร้ายในเรื่องส่วนตัวและในการกำจัดศัตรูการเมืองรัชสมัยของบูเช็กเทียนยังนับเป็นช่วงที่ประเทศจีนเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านเรียกได้ว่าสืบทอดความเจริญมาจากรัชสมัยของจักรพรรดิถังไท่จงและเชื่อมผ่านไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยของจักรพรรดิถังสวนจง ซึ่งเป็นหลานของบูเช็กเทียนขุนนางคนสำคัญที่มีบทบาทในรัชสมัยถังสวนจงที่ราชวงศ์ถังเจริญถึงขีดสุด ก็ล้วนเป็นขุนนางที่เติบโตในหน้าที่การงานในยุคของบูเช็กเทียนทั้งสิ้น


ละครโทรทัศน์เรื่องบูเช็กเทียนก็เหมือนละครหลังข่าวทั่วไปเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยการตบตีแย่งชิงอำนาจของบรรดานางสนมในวังละครเรื่องนี้ยังเน้นฉากและเครื่องแต่งกายอลังการมีข่าวลือว่านักแสดงแต่งกายเปลือยช่วงท่อนบนมากเกินไปจนถูกทางการจีนระงับการฉายไปสองวันเมื่อต้นปี เพื่อให้ทีมงานกลับไปตัดต่อภาพใหม่


แต่นอกจากรสชาติความบันเทิงแล้ว เรื่องราวของบูเช็กเทียนยังเข้ากับบรรยากาศของสังคมจีนในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี จีนวันนี้ยังคงมองว่าตนอยู่ในยุคความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แม้การเมืองจะดูเริ่มไม่นิ่งเพราะมีข้าราชการระดับสูงถูกปลดและลงโทษด้วยข้อหาคอร์รัปชันจำนวนมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในขณะเดียวกันคนจีนก็คาดหวังถึงการเปิดกว้างในเรื่องโอกาสมากขึ้นทั้งโอกาสที่เท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างหญิงและชาย (กลุ่มผู้นำสูงสุด 7 คน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังคงไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว) และรวมถึงโอกาสที่เท่าเทียมในการแข่งขันระหว่างคนธรรมดาทั่วไปกับลูกท่านหลานเธอ (ลูกหลานของอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์) นอกจากนี้ ในยุคแห่งการค้าขายเช่นในปัจจุบันโอกาสย่อมไม่ได้หมายถึงเฉพาะโอกาสทางการศึกษาหรือโอกาสในการสอบเข้ารับราชการแต่ยังรวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่มีเส้นสายอีกด้วย


เมื่อคนจีนยุคใหม่คิดถึงบูเช็กเทียน พวกเขาและเธอคิดถึงความเป็นไปได้ที่ไม่น่าเป็นไปได้ และคิดถึงสังคมแห่งโอกาสที่เปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม