สื่อสุดโต่ง กับการยกระดับ ทัศนคติไปสู่อคติ

สื่อสุดโต่ง กับการยกระดับ  ทัศนคติไปสู่อคติ

ตลอดเดือนที่ผ่านมา เราได้พบเห็นกับกรณีศึกษาจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่สื่อในลักษณะสุดโต่ง

กลายเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในและระดับนานาชาติเกิดขึ้นอย่างพรั่งพรู ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นิตยสารชาลีของฝรั่งเศสที่นำเสนอภาพการ์ตูนเสียดสีศาสนามาอย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่น่าสลดในกรุงปารีส ต่อเนื่องด้วยการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ของกลุ่มไอซิสในการจับตัวประกันชาวญี่ปุ่นเพื่อเรียกร้องต่อรองกับอำนาจรัฐ จนจบด้วยเหตุการณ์สะเทือนขวัญ กระตุ้นให้เกิดการใช้อำนาจในการกำจัดขั้วตรงข้ามแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าความสุดโต่งทางการเมืองบนพื้นที่สื่อมวลชนนับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้นักวิชาชีพสื่อกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของการโจมตีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหากดูแนวโน้มความสุดทางในเชิงอุดมการณ์เหล่านี้ เห็นควรต้องไล่กันศึกษาตั้งแต่ระดับของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของยุคดิจิทัล ที่อนุญาตให้ใครก็ได้สามารถกระโดด ฉกฉวยมาใช้พื้นที่สื่อในการทำกิจใดๆ ก็ตามที่อิงประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มของตน ตามมาด้วยกระแสความสุดโต่งในกลุ่มผู้นำและแกนนำทั้งหลายที่เริ่มเล่นเกมฉีกแนว โดยการหาศัตรูขั้วตรงข้ามในการให้ได้มาซึ่งความนิยม มากกว่าจะนำเสนอผลงานของตนเอง ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกข้างทางการเมืองของสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา แกนนำและกลุ่มทางการเมืองดูจะถนัดเล่นเกมที่เน้นไปในการโจมตีพรรคขั้วตรงข้าม เนื่องจากการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนั้นจะนำมาซึ่งผลการโหวตที่เทมาทางฝั่งตนมากกว่าการมานั่งแถลงไขนโยบายให้เมื่อยปาก

จากความสุดโต่งของกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ฉกฉวยใช้พื้นที่สื่อดังกล่าวได้นำมาซึ่ง การเลือกข้างของสื่อมวลชนเองที่เริ่มประกอบสร้างตามบริบทสังคมการเมืองที่ถูกปั่นให้ขมึงเกลียว แยกไปเป็นสองฝักสองฝ่าย ดังนั้น สื่อมวลชนหลายๆ สำนักจึงถูกแต้มสีและกลายเป็นฐานเสียงแฟนคลับของกลุ่มสุดโต่งบางกลุ่มอย่างยากที่จะกลับตัวกลับใจได้

จากงานวิจัยด้านรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสื่อเลือกข้างทางการเมืองนั้นได้ระบุพื้นที่การศึกษาที่สะท้อนตัวแสดงสำคัญๆ ไว้ 3 ส่วนที่มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ได้แก่ 1) กลุ่มแกนนำ ผู้นำ และพรรคการเมืองที่เลือกข้าง 2) กลุ่มสื่อมวลชนที่เลือกข้าง และ 3) กลุ่มสาธารณชนที่เลือกข้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบว่า การเลือกข้างมักเกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มที่หนึ่งอย่างสุดโต่งและชัดแจ้งก่อนนำมาสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในกลุ่มอื่นๆ ตามมาโดยลำดับ ทั้งนี้ สื่อมวลชนในฐานะตัวกลางที่ดำรงภารกิจในการเป็นปริมณฑลสาธารณะถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่งยวดทั้งในแง่ของการจูงใจ (persuasion) ผ่านการกำหนดวาระข่าวและวาระทางสังคม รวมถึงบทบาทของการเป็นประตูกั้นข้อมูลข่าวสาร (Gate keeper) ที่มีส่วนในการคัดกรองเนื้อหาของข้อมูลข่าวสาร (Selective exposure) ที่จะจัดขึ้นไปให้กับประชาชนได้ชม ได้ฟัง ได้อ่านกัน

อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าด้วยการเลือกข้างของกลุ่มการเมืองที่เป็นทั้งเจ้าของสื่อและมีอิทธิพลต่อทิศทางการทำงานของสื่อเช่นนี้จะมีผลอย่างไรต่อการรับรู้ของสาธารณชนหรือไม่อย่างไรนั้น เหตุการณ์ความสุดโต่งของอาการกระหายที่อยากจะชนะคะคานกันของผู้คนต่างสี ต่างพรรค ของคนในสังคมบ้านเราดูจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนได้

จากการศึกษาของ Pew Research Center ที่สหรัฐอเมริกาในประเด็นของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองกับพฤติกรรมของสื่อมวลชนได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีผลต่อการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ได้จัดกลุ่มตัวอย่างของคนอเมริกันตามตัวชี้วัดของอุดมการณ์ทางการเมืองออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1) กลุ่มเสรีนิยมสุดขั้ว 2) ค่อนข้างเสรีนิยม 3) กลุ่มกลางๆ ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม 4) กลุ่มค่อนข้างอนุรักษนิยม และ 5) กลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว ซึ่งบทสรุปของงานวิจัยได้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของกลุ่มสุดขั้วทั้งสองฝั่งในการเลือกที่จะรับและเสพสื่อ กล่าวคือ กลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้วมีแหล่งข่าวสำคัญหลักๆ อยู่เพียงแหล่งเดียวคือ Fox News ในขณะที่แหล่งข่าวของพวกเสรีนิยมสุดโต่งจะมาจากหลายแหล่ง แต่หลักๆ กระจายอยู่ตามสำนักข่าวอย่าง CNN, MSNBC, NPR รวมถึง New York Time โดยจากการสำรวจมีเพียง The Wall Street Journal เท่านั้นที่ได้ใจคนอ่านทั้ง 5 กลุ่มในฐานะแหล่งข่าวของพวกเขา ทั้งนี้จากการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลที่พบในแง่ของความเชื่อถือที่คนทั้งสองกลุ่มมีต่อแหล่งข่าว โดยพบว่า กลุ่มอนุรักษนิยมจะมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยเชื่อแหล่งข่าวอื่นใดสักเท่าไหร่ นอกจากแหล่งข่าวที่ตนเองเสพอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของสื่อสังคมออนไลน์พบว่า เฟซบุ๊คคือแหล่งข่าวทางการเมืองที่สำคัญของคนอเมริกัน โดยเนื้อหาของข่าวหรือประเด็นทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นการแชร์จากเพื่อนสู่เพื่อน โดยงานวิจัยระบุว่า กลุ่มสุดโต่งทางการเมืองทั้งสองฝั่งมีแนวโน้มพฤติกรรมที่เหมือนกันในการเป็นแกนนำในการตั้งกระทู้และคอมเมนท์ในโลกออนไลน์ ทั้งนี้สำหรับพฤติกรรมออนไลน์ของกลุ่มเสรีนิยมสุดโต่งมีแนวโน้มจะไม่เป็นเพื่อน หรือ “unfriend” คนที่เห็นต่างทางการเมือง ในขณะที่กลุ่มอนุรักษนิยมก็มีแนวโน้มที่จะเปิดรับฟัง รวมถึงกดไลค์กลุ่มที่มีแนวคิดเหมือนๆ กันในสังคมออนไลน์

เมื่อฟังจากบทสรุปของงานวิจัย ก็ทำให้เห็นว่า ในสังคมการเมืองทั้งที่เจริญแล้วและด้อยพัฒนา สื่อมวลชนอาจต่างมีสำนึก จิตวิญญาณ ทัศนคติ และความเชื่อตามแต่อุดมการณ์ของสำนักใดสำนักหนึ่งหรือสีใดสีหนึ่ง ดังนั้น การสะท้อนซึ่งความศิวิไลซ์ของสื่อหาใช่การสลายเสื้อสีในสื่อให้กลายเป็นสื่อที่ปลอดจากการเมืองไม่ หากแต่สื่อต้องนำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติแบบสุดขั้วที่อยากจะเอาชนะคะคานกันจนยกระดับไปสู่ความเกลียดชังขั้วตรงข้ามชนิดที่ไม่ให้อีกฝั่งมีที่ยืนกันไป

นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังชี้ให้เราเห็นถึงขันติที่ต่ำของฝ่ายสุดขั้วทั้งสองฝั่งในโลกออนไลน์ ที่ต่างฝ่ายต่างนำและประกอบสร้างสังคมตนเองในกลุ่มเฉพาะตามแต่ความเชื่อของตนที่จะคัดเลือกเข้ามาเป็นเพื่อน ด้วยอคติที่ยังสมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ของตนเอง ซึ่งหากเราจินตนาการถึงสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ต่างยืนอยู่ในฝั่งสุดโต่งดูแล้วละก็ จะพบว่า การยกระดับจากการแสดงออกซึ่ง “ทัศนคติจะกลับกลายเป็นอคติ” และนำพาเราเข้าสู่โหมดของความเกลียดชังซึ่งกันและกันได้