ปรับทัศนคติเรื่องการเซนเซอร์

ปรับทัศนคติเรื่องการเซนเซอร์

เผลอแป๊บเดียว สังคมไทยก็อยู่ภายใต้ ระบอบ “คืนความสุข” ของคสช. มาเกือบๆ 9 เดือนแล้ว ดีกรีความสุขของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป

ทว่าสำหรับหลายคนที่เชื่อในเสรีภาพโดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เชื่อว่าไม่น่าจะมีความสุขเท่าใดนัก


ในเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก (ไม่ว่าจะเป็นการบัญชาโดยตรงจากคสช.หรืออาการวิตกจริตไปเองของเจ้าหน้าที่ที่คุมสถานการณ์) ของนิสิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขบวนพาเหรดล้อการเมืองระหว่างงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 ก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ควรจะได้รับการ “ปรับทัศนคติ” มากที่สุด ก็คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปิดกั้นโดยตรง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ท่านปรับตัวให้มีความรู้เท่าทันกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่


ในยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ ที่การสื่อสารเครือข่ายออนไลน์มีความสำคัญในระดับต้นๆ การเซนเซอร์เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก และถึงแม้จะทำได้ ผู้เซนเซอร์ก็ต้องยอมรับถึงผลหรือแรงกระเพื่อมใดๆ ที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะประชาคมชาวเน็ตมีค่านิยมเรื่องเสรีภาพเป็นต้นทุนหลัก


ทั้งนี้ ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า การเซนเซอร์ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การปิดกั้นหรือกลั่นกรองเนื้อหาใดๆ ที่สื่อสารสู่สาธารณะ แต่ยังหมายรวมไปถึง การตรวจตราและเฝ้าระวังเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ของระบอบหนึ่งๆ และการคุกคามให้ผู้ผลิตเนื้อหาเกิดความหวาดกลัวขนาดที่จะต้องเซนเซอร์ตัวเองด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ แค่เพียงแค่เริ่มต้นมอนิเตอร์เนื้อหาหรือส่งสัญญาณว่า อย่าพูด อย่าแสดงออกในลักษณะ…นะ ก็ถือว่าการเซนเซอร์ได้เริ่มขึ้นแล้ว


กรณีของการเซนเซอร์ขบวนล้อการเมืองงานบอลประเพณีฯ มีรายงานข่าวในสื่อถึงการส่งสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังการล้อเลียน มาตั้งแต่วันก่อนหน้าการจัดงานจริง ซึ่งก็คงส่งผลให้นิสิตนักศึกษาที่จัดทำเนื้อหาตรงนี้เกิดอาการเกร็งโดยไม่ต้องสงสัย และแล้วในวันงานจริง ก็เกิดการเซนเซอร์แบบโฉ่งฉ่างที่สุดที่จะเป็นได้เพราะมีเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ถึงภาพการปิดประตูไม่ให้ขบวนถือป้ายผ้าของนักศึกษาธรรมศาสตร์เข้าสู่สนามและมีการแชร์กันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ไปอย่างกว้างขวางถึงการดึงป้ายผ้าออกไปโดยเจ้าหน้าที่


เรียกว่า ถ้าคสช. อยากได้การประชาสัมพันธ์ต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญญาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ งานนี้ได้ผลชะงัดนัก เพียงแต่เป็นผลในทางที่ไม่น่าจะเป็นคุณกับคสช.เท่านั้นเอง เพราะตอกย้ำภาพลักษณ์เดิมๆ ที่คนทั่วไปรับรู้เกี่ยวกับทหารไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนะที่ชอบควบคุม ความคับแคบทางความคิด และการนิยมการสั่งการมากกว่าการสร้างความเข้าใจผ่านการปะทะสังสรรค์สนทนา


ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกดิจิทัลที่เนื้อหาสามารถคัดลอก ทำซ้ำ เผยแพร่และแบ่งปันต่อกันไปได้ไม่รู้จบ ข้อเท็จจริงกับภาพลักษณ์เหล่านั้นก็จะผสมปนเปเป็นเนื้อเดียวกันและแพร่กระจายไปในโลกออนไลน์ซึ่งไม่ได้ตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริง โดยไม่รู้ข้อจำกัดของเวลา และสถานที่ และไม่มีพรมแดนแห่งประเทศใดๆ มาขวางกั้นได้ เรียกว่ายึดป้ายผ้าไม่กี่ผืน สะเทือนครืนถึงนานาอารยประเทศเลยทีเดียว


ในแง่หนึ่ง การเปิดรับเสียงสะท้อนจากนิสิตนักศึกษาซึ่งจะเป็นคนรุ่นที่จะได้รับผลโดยตรงจากกระบวนการปฏิรูปที่คสช.กำลังกุมทิศทางอยู่ในปัจจุบัน น่าจะเป็นคุณูปการต่อนักปฏิรูปบ้างไม่มากก็น้อยเพราะนี่คือตัวจริง เสียงจริง บางส่วนจากอนาคตของประเทศ


จากที่ผู้เขียนได้รับรู้ทั้งข้อความลิงก์ และรูปภาพส่งต่อมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นหลักๆ ของการล้อเลียนเสียดสีที่แต่งอยู่ในรูปร้อยกรองเพื่อนำเสนอผ่านป้ายผ้ามีอยู่ใน 4 - 5 เรื่อง เช่น เรื่องของการไม่ใช้หลักนิติธรรม การเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่มในสังคม ค่านิยม 12 ประการ ธรรมาภิบาล การโฆษณาชวนเชื่อ และการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่มีการพูดกันทั่วไปในสังคมอยู่แล้ว จึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่จะต้องรู้สึกอ่อนไหวและให้น้ำหนักเป็นพิเศษแต่อย่างใด


ในอีกแง่หนึ่ง แม้หลายคนจะมองว่า ขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมืองของนิสิตนักศึกษา หรือการแปรอักษรก็ตามเป็นเรื่องของเด็กๆ เป็นเพียงกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการเข้าชั้นเรียนและสอบให้ได้ปริญญา แต่ผู้เขียนกลับมองว่า นี่เป็นพื้นที่การแสดงออกที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในประชาคมนิสิตนักศึกษาซึ่งถูกครอบงำด้วยกระแสทุนและวัตถุนิยมปัจจุบัน นี่เป็นพื้นที่สำคัญที่นิสิตนักศึกษาสามารถสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของเขาต่อสังคมถึงความเป็นไปของบ้านเมืองได้บ้าง และหากเยาวชนที่เป็นปัญญาชนไม่ใส่ใจบ้านเมืองกับประชาธิปไตย ก็คงไม่ถือว่ามีค่านิยมหลักในข้อ “เข้าใจการเรียนรู้ประชาธิปไตย” ได้ครบถ้วนเป็นแน่แท้


จริงอยู่ เรากำลังมีชีวิตอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยเคยมีต้นทุนสูงในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์สืบเนื่องมาหลายทศวรรษ หากท่านผู้มีอำนาจจะปรับทัศนคติในเรื่องการเซนเซอร์การแสดงออกทางการเมืองและสังคมเสียบ้าง ท่านก็คงคืนความสุขให้คนไทยหลายคนได้มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน