สะท้อนโลกธุรกิจ ผ่านกระจกรถแท๊กซี่

สะท้อนโลกธุรกิจ ผ่านกระจกรถแท๊กซี่

ประกอบธุรกิจใดๆ จะต้องศึกษาตลาด ความเป็นไปได้ ต้นทุน รายได้ ระยะเวลาคืนทุน อย่างไม่เข้าข้างตัวเอง

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน หากเราต้องการเดินทางโดยรถแท็กซี่ในมหานครกรุงเทพ การต่อรองราคาระหว่างผู้โดยสารกับคนขับรถเป็นเรื่องปกติที่เราต้องเจรจากันก่อนเดินทาง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ การเรียกค่าโดยสารตามสภาวะอารมณ์ของคนขับรถ เช่น เส้นทางรถติด ชั่วโมงเร่งด่วน หรือ บางวันผู้โดยสารน้อยอาจคิดแพงเป็นพิเศษ

ภายหลังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จึงได้กำหนดให้แท็กซี่จดทะเบียนทุกคันต้อง "ติดมิเตอร์" เพื่อให้ค่าโดยสารเป็น "มาตรฐาน" ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โดยตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีจำนวนรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมไปกับเมืองหลวงของประเทศไทยที่ขยายตัวขึ้น

จำนวนที่เพิ่มขึ้นของรถแท็กซี่ (Supply) ประกอบกับการคมนาคมสาธารณะทางเลือกอื่นๆ อาจจะมีมากกว่าจำนวนผู้โดยสาร (Demand) ทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน หรือ over supply เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นทำให้ผู้ให้บริการจำนวนมาก มีรายได้ลดลง ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ไม่รับผู้โดยสารไทยรับแต่ต่างชาติ (คิดราคาเหมา) ไม่เดินทางไปยังเส้นทางไกลๆ (ขากลับตีรถเปล่า) เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อยของแท็กซี่ แต่กลับสะท้อนภาพในแง่ลบของทั้งอุตสาหกรรมบริการบนท้องถนน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของคนขับแท็กซี่ เมื่อมีผู้ประกอบการเห็นถึงจุด "บกพร่อง" ดังกล่าวเป็น "โอกาสทางการตลาด" สอดแทรกการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ชื่อ Uber ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคในมหานครหลายประเทศ และได้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยผู้โดยสารสามารถเรียกรถผ่าน smart phone สามารถรู้ว่ารถที่เรียกจะมาถึงในกี่นาที เห็นหน้าตาและชื่อคนขับรถ รวมทั้งคะแนนการบริการที่ผู้โดยสารคนก่อนๆ เคยให้ไว้ เพิ่มความเชื่อมั่น และรับประกันการบริการได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือ มีราคาไม่ต่างจากแท็กซี่ทั่วไปเท่าไหร่นัก

หากเรากลับมามองโลกธุรกิจ หรือการตลาดในโลกแห่งความจริง สะท้อนผ่านกระจกรถแท็กซี่ เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันใน "สมรภูมิแดงเดือด" หรือ Red Ocean ที่มีผู้เล่นจำนวนมหาศาลลงไปในตลาดที่อาจจะสดใสในช่วงแรก แต่เมื่อทุกคนกระโจนเข้าไปทำให้ต้องแข่งขันกันอย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อแย่งกันจับปลาในมหาสมุทรที่มีอยู่จำกัด

นอกจากมุมมองในแง่ลบของสังคมแล้ว ไหนจะคู่แข่งอย่าง Uber ตุ๊กตุ๊ก วินมอเตอร์ไซค์ และสินค้าทดแทนอย่าง รถเมล์ฟรี รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย คนขับรถตัวเองมากขึ้นเพราะช่วงนี้น้ำมันลดราคา จนกระทบผู้ให้บริการจนแทบจะลืมตาอ้าปากไม่ได้ เราคงเคยเห็น "แท็กซี่ดีเด่น" มีคาราโอเกะ แจกลูกอมขนม ฟรีน้ำดื่ม หรือกระทั่งติดป้ายว่า “ไปทุกที่” ก็จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ปรับตัว หรือโดดเด่นในตลาด

ในขณะเดียวกันฝั่งมืดก็มีไม่น้อยตามตัวอย่างด้านบน กลุ่มนี้เองเป็นกลุ่มที่ใกล้จะเจ๊ง (หรือคิดว่าตัวเองอยู่จะไม่ได้) จึงจำเป็นต้องหารายได้ในทางอื่นๆ ที่ไม่ค่อยถูกกติกานัก จึงเป็นที่มาถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมปัจจุบัน

หากจะเปรียบเทียบตลาดที่เป็น Red Ocean ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ) นิยมทำกันอย่างมาก เช่น ร้านกาแฟ ร้านสปาเสริมสวย สนามฟุตบอลให้เช่า เป็น 3 สิ่งที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด หลายคนประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย หากแต่ผู้ประกอบการจำนวนมากก็ล้มเหลว ไม่ได้มีรายได้เข้ามาเหมือนที่คาดไว้ หลายคนยอมปิดกิจการทันที ในขณะที่จำนวนไม่น้อยสู่ต่อ แต่ยอมลดคุณภาพ ลดต้นทุน ลดคนงาน เพื่อบริหารเงินหมุนเวียน และในที่สุดเมื่อลูกค้ารู้ทัน ก็เลิกใช้บริการในที่สุด

และในช่วงการซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น เสื้อผ้านำเข้า เครื่องสำอางเกาหลี สินค้าหิ้วจากต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ได้เห็นกันอย่างมากมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถทำสินค้าหรือบริการให้โดดเด่น บริหารต้นทุน เงินหมุนเวียนให้ดี ก็จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยในทะเลสีเลือดนี้ได้ กลับกัน หากไปตามกระแสมากเกินไป ต้นทุนจมอยู่กับสินค้าค้างสต๊อก จะลดราคาก็กลัวขาดทุน กลับตัวก็ไม่ได้ กลับไปก็ไม่ถึง จึงเจ๊งในที่สุด เฉกเช่นเดียวกับรถเขียว/เหลือง ส้ม ชมพู นาม แท็กซี่ นั่นเอง

ในความเป็นจริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนล้วนตระหนักดีอยู่แล้ว เพียงแต่หวังว่าตนเองจะเป็นผู้โดดเด่นให้ได้ในตลาด ดังนั้นสิ่งจำเป็นที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนประกอบธุรกิจใดๆ จะต้องศึกษาตลาด ความเป็นไปได้ ต้นทุน รายได้ ระยะเวลาคืนทุน อย่างไม่เข้าข้างตัวเอง

จำเป็นไหมที่เราต้องกระโจนเข้าไปในตลาดที่ได้รับความนิยม ทำไมไม่หาตลาดที่สดใสเย็นสบาย หรือ Blue Ocean