กฎอัยการศึกไม่ตอบโจทย์

กฎอัยการศึกไม่ตอบโจทย์

เหตุลอบวางระเบิดบริเวณทางเชื่อม จากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับประตูห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และประเทศไทย นับว่าสั่นคลอนความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อ คสช.มากพอสมควร

และมันก็สะท้อนความจริงอันแจ่มชัดว่า ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่แก้ด้วยกฎหมายพิเศษอย่าง กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือแม้แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

บทเรียนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใช้กฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกมานานกว่า 10 ปี ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาเกือบทศวรรษ ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าทุกวันนี้ก็ยังมีระเบิด มีความรุนแรง และยิ่งปล่อยให้บาดแผลแห่งความรุนแรงเรื้อรัง ความขัดแย้งก็จะยิ่งฝังรากลึก ส่งผลให้การแก้ปัญหาทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เหมือนกับการเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้ที่ยังหยุดชะงักอยู่ ณ ปัจจุบัน

ที่พูดอย่างนี้เป็นการฝากไปถึงทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล คสช.เท่านั้น เพราะหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาก็นิยมใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษกันทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้งมาจากเรื่องการเมือง จนบานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรง

แน่นอนว่าบุคคลหรือกลุ่มคนที่เลือกใช้ความรุนแรงในการสร้างสถานการณ์เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง สมควรถูกประณาม และใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจัดการขั้นเด็ดขาด แต่การจะแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อให้ "แผ่นดินอันงดงามคืนกลับมา" ตามที่ร้องในเพลงนั้น คงต้องมีกระบวนการอะไรมากกว่าการเรียกเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร และการบังคับให้จับมือกันแน่ๆ

คำถามคือถึงวันนี้ ผ่านมา 8 เดือนแล้ว คสช.ได้ทำตามหลักการทฤษฎีที่ถูกต้องหรือยัง? ถ้ายัง...ความปรองดองที่แท้จริงก็ยากจะเกิด โดยเฉพาะฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็น "ฝ่ายดี" เข้ามายึดกุมอำนาจตามครรลองของการรัฐประหาร ขณะที่ฝ่ายซึ่งถูกมองว่าเป็น "ฝ่ายชั่ว" หรือ "ฝ่ายอธรรม" กลับมาตามครรลองของประชาธิปไตย

นี่คือความสับสนวุ่นวายของปัญหาในประเทศของเรา ซึ่งอย่าว่าแต่สหรัฐอเมริกาเลยที่ไม่เข้าใจ แม้แต่คนไทยด้วยกันเองก็ยังอาจไม่เข้าใจ

ฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องแยกแยะ และทำไปพร้อมๆ กันหลายมิติ เช่น มิติทางกฎหมายเพื่อจัดการกลุ่มนิยมความรุนแรงก็ดำเนินการไป ส่วนมิติทางความเป็นธรรม ลดความไม่ยุติธรรมทางความรู้สึก ก็ต้องให้น้ำหนักไม่แพ้กัน และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตประเทศอย่างแท้จริง ฯลฯ เหมือนกับที่ เนลสัน แมนเดลา แก้ไขปัญหาที่แอฟริกาใต้

จะเห็นได้ว่าการจัดการความขัดแย้งในบ้านเรานั้น หลายเรื่องเริ่มต้นเหมือนเป็นปล้องไม้ไผ่ แต่เหลาๆ ต่อไปชักกลายเป็นบ้องกัญชา เช่น การทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เน้นพูดคุย ถกเถียง อภิปรายกันมากกว่าหยิบจับทำอะไรให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ข้อเสนอบางข้อที่ดีๆ เสนอไปรัฐบาลก็ไม่เห็นยอมทำ อย่างนี้ก็เลยไม่รู้ว่าจะมีสภาปฏิรูปฯกันไปทำไม

เพราะรัฐบาลที่ตั้งสภาปฏิรูปฯขึ้นมาเองยังไม่เชื่อ แล้วจะไปหวังอะไรให้รัฐบาลจากฝ่ายการเมืองหลังการเลือกตั้งปฏิบัติตาม

สิ่งที่น่ากลัวและท้าทายสุดๆ ในปี 58 นี้คือ รัฐบาล คสช.จะทำผลงานอะไรให้เป็นที่ประจักษ์บ้าง เพราะหากหวังใช้รัฐธรรมนูญใหม่เป็นผลงาน ทำท่าจะเหนื่อย และยังไม่รู้ว่าหากมีเปิดให้ลง "ประชามติ" จะสอบผ่านหรือเปล่า เนื่องจากทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญไปสกัดตัดทางองค์กรต่างๆ จนสร้างศัตรูขึ้นมาไม่น้อย

คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องระวังว่าตนเองจะเป็นแค่ "รัฐบาลคั่นเวลา" ที่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ แล้วเมืองไทยก็จะย้อนกลับสู่วงจรเดิม!