ทฤษฎีระเบิดการเมือง

ทฤษฎีระเบิดการเมือง

เหตุระเบิดบริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม กับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อค่ำวันที่ 1 ก.พ.

ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดตำรวจและฝ่ายความมั่นคงสันนิษฐานตรงกัน โดยให้น้ำหนักว่าน่าจะเกี่ยวโยงกับเหตุระเบิดเมื่อ 29 มี.ค.57 บนถนนราษฎร์อุทิศ ย่านมีนบุรี

ช่วงนั้นเป็นช่วงการชุมนุมของ กปปส. คนร้ายน่าจะกำลังเคลื่อนย้ายระเบิด "ไปป์บอมบ์" แบบเดียวกับที่ตูมตามหน้าสยามพารากอนไปส่ง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่เกิดอุบัติเหตุจนเกิดระเบิดขึ้นมาเสียก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บ้านเช่าของผู้ตายอยู่ห่างออกไปไม่มาก เมื่อเกิดระเบิด คนร้ายที่เหลือก็เผ่นหนีหมด ทิ้งระเบิดไปป์บอมบ์อีก 4-5 ลูกไว้ดูต่างหน้า

หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ระเบิดที่สยามพารากอนก็น่าจะเป็น "ระเบิดการเมือง"

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) อดีตนายทหารด้านการข่าวชื่อดัง วิเคราะห์ย้อนหลังไปไกลกว่าปี 57 โดยบอกว่า แนวคิดที่คนร้ายทำคล้ายกับระเบิดวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมื่อปี 49 หลังการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รูปแบบคล้ายคลึงกันหมด โดยเฉพาะการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง แต่คนทำเป็นคนละกลุ่ม

"กลุ่มที่ทำเมื่อปี 49 ถูกจับหมดแล้ว ไม่ใช่กลุ่มทหารที่ฝ่ายตำรวจไปจับมา แต่เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกจับดำเนินคดีโดยไม่เป็นข่าวโด่งดังมากนัก"

พล.ท.นันทเดช บอกอีกว่า กลุ่มที่ทำระเบิดแสวงเครื่องได้มีหลายกลุ่ม และกลุ่มที่ป่วนเมืองช่วงชุมนุมทางการเมืองปี 57 ก็ยังถูกจับกุมไม่หมด โดยมีบางพวกมีความชำนาญเรื่องระเบิดแสวงเครื่อง ไม่ใช่แค่เอ็ม 79 สำหรับจังหวะเวลาที่สร้างสถานการณ์ ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมือง คงต้องการทำเพื่อเอาใจนาย หลังมีเหตุการณ์ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล-สนับสนุนอำนาจเก่ากำลังเพลี่ยงพล้ำ

"การก่อเหตุลักษณะนี้ทำให้คนคิดว่ารัฐบาลทำเองหรือเปล่า และสังเกตได้ว่ามีการปล่อยข่าวทันทีว่ารัฐบาลทำเองหรือไม่ เพื่อกระชับอำนาจและกวาดล้างอีกฝ่าย จึงอยากทำความเข้าใจว่าไม่มีรัฐบาลที่ไหนสร้างสถานการณ์เพื่อดิสเครดิตตัวเอง ผลดีอาจจะมีแต่น้อยกว่าผลเสียมาก โดยเฉพาะการถูกมองว่าขนาดมีกฎอัยการศึกยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และนี่คือสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายผู้กระทำต้องการให้สังคมคิด"

"ผมคิดว่าถ้าตำรวจเอาจริงน่าจะจับกุมคนร้ายได้ หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นใคร กลุ่มไหน เพราะคนร้ายมาก่อเหตุถึงย่านธุรกิจการค้ากลางเมืองหลวง ซึ่งมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเยอะมาก หากไล่ดูภาพในกล้องไปทั้งหมด น่าจะพอได้เบาะแส" เขาชี้ช่อง

บทวิเคราะห์ของ พล.ท.นันทเดช สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาล ที่ระบุว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง ทำให้ดูเหมือนผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ดูรายละเอียดแล้วไม่เหมือนกัน

"ระเบิด 2 ลูกนี้เป็นระเบิดการเมือง มีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน เราทราบแผนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่าจะทำตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ แต่ช่วงนั้นได้สั่งเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทำให้ไม่สามารถกระทำได้ตามแผน กระทั่งล่าสุดการรักษาความปลอดภัยเริ่มหย่อนลง ประกอบกับทางห้างสรรพสินค้ามีอีเวนท์ จึงมีช่องว่างให้เข้าไปก่อเหตุ"

แหล่งข่าวระดับสูงรายนี้บอกอีกว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประเมินว่ารัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ จึงเลือกก่อเหตุร้ายตรงศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดผลกระทบ (อิมแพค) สูงๆ เมื่อเหตุเกิดแล้วก็จะถูกผสมโรงหลายเรื่อง ฝ่ายผู้ก่อการก็จะได้ประโยชน์

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีของหน่วยงานรัฐและผู้สนับสนุนช่างตรงกันข้ามกับทฤษฎีของ "คนเสื้อแดง" อย่างสิ้นเชิง เพราะคนเสื้อแดงและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ คสช.มองว่าเหตุระเบิดตูมตามเที่ยวนี้รัฐบาลอาจทำเองเพื่อคงกฎอัยการศึกไว้ และหลอกสหรัฐที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว ทำนองว่าเมืองไทยยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่จริง จึงยังเลิกกฎอัยการศึกไม่ได้

ขณะที่อีกทฤษฎีที่ฮาร์ดคอร์กว่านั้น คือ "ฝ่ายอำมาตย์" กำลังขัดแย้งกันเอง และเตะตัดขากันเพื่อประโยชน์ในเชิงอำนาจและการกำหนดทิศทางประเทศ

มุมมองต่างกันสุดขั้วยิ่งกว่าเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกันได้แบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดประเทศไทยถึงวุ่นวายไม่หยุด!