"ดอกเบี้ย" กับ "ฟันด์โฟลว์" ..แบงก์ชาติคิดอย่างไร?

"ดอกเบี้ย" กับ "ฟันด์โฟลว์"  ..แบงก์ชาติคิดอย่างไร?

ไม่ว่าใครมานั่งในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าเห็น "เงินบาทแข็ง" ตัวเลือกแรก

ที่มักขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ "แบงก์ชาติ" เลือกใช้คือ "ลดดอกเบี้ย" เพราะเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วย "ลดแรงจูงใจ" การไหลเข้าของ "เงินทุนเคลื่อนย้าย" ได้

แม้แต่ รมว.คลัง คนปัจจุบัน "คุณสมหมาย ภาษี" ซึ่งดูจะเข้าใจการทำงานของแบงก์ชาติเป็นอย่างดี ทั้งยังเคยเอ่ยปากให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน เป็นเหมือน "เพื่อนสนิท" (Close Friend) ..แต่ คุณสมหมาย เองก็ยังเปรยๆ ให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป

ลองมาดูค่าเงินบาทช่วง 1 ปีที่ผ่านมาบ้างว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐ จะเห็นว่ามี "เสถียรภาพ" ค่อนข้างมาก เพราะเงินบาทแทบจะไม่ไหวติงเลย คือ อยู่ราวๆ 32-33 บาทต่อดอลลาร์

ฟังอย่างนี้แล้วอาจสงสัยว่า แล้วทำไมจึงกล่าวหาว่า "บาทแข็ง" ....นั่นเป็นเพราะถ้าดูเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งขันของไทย โดยดูจากดัชนีค่าเงิน NEER จะเห็นว่าดัชนีตัวนี้วิ่งสูงชันเป็นภูเขาเลย

หมายความว่า ค่าเงินของประเทศอื่นที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งขันของเรา "อ่อนค่า" เมื่อเทียบกับ "เงินดอลลาร์" ขณะที่ค่าเงินบาทไทย "ทรงตัว" เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จึงทำให้เงินบาทไทยแข็งค่าโดยปริยายเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้จึงมีกระแสเรียกร้องให้ "แบงก์ชาติ" เข้ามาดูแลค่าเงินบาท (ให้อ่อนค่า) และทุกครั้งที่มีกระแสเรียกร้องเช่นนี้ "ดอกเบี้ย" มักตกเป็น "จำเลย"

ถามว่า "แบงก์ชาติ คิดเห็นอย่างไร?" ..สอบถามไปก็มักจะได้คำตอบว่า "ดอกเบี้ย" เป็นเพียง "น้ำจิ้ม" เพราะ "เมนคอร์ส" ที่ดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย คือ "พื้นฐานเศรษฐกิจ"

แบงก์ชาติเคยศึกษา "ความสัมพันธ์" ของเงินทุนเคลื่อนย้ายใน "เชิงสถิติ" ไว้เช่นกัน ซึ่งพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากที่สุด คือ "ความเชื่อมั่น" ของนักลงทุนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น Risk on (กล้าเสี่ยง) หรือ Risk off (กลัวความเสี่ยง) ซึ่งตรงนี้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายถึง 18%

รองลงมา คือ มุมมองที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้นๆ ถ้ามองว่าค่าเงินมีโอกาสแข็งค่า ก็จะยิ่งเข้าไปลงทุน กล่าวคือ เป็นการเก็งกำไรนั่นเอง ตรงนี้มีอัตราส่วนราว 15%

ถัดมา คือ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ มีสัดส่วนอยู่ที่ 11% และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มีสัดส่วนต่อการตัดสินใจลงทุนอยู่ที่ 10%

สำหรับ "ดอกเบี้ย" พบว่า มีความสัมพันธ์ต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุนค่อนข้างน้อย สัดส่วนเพียงแค่ 3% เช่นเดียวกับ "ภาวะเงินเฟ้อ" ที่มีสัดส่วนต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายเพียงแค่ 3%

ถ้าเอาข้อมูลนี้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตลาดเงินโลกช่วงที่ผ่านมา จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น กรณี "รัสเซีย" ที่ขยับดอกเบี้ยขึ้นเกือบเท่าตัวในปลายปีที่ผ่านมาเป็น 17% จากเดิม 10.5% แต่ค่าเงิน "รูเบิล" ยังคงอ่อนค่าลงพรวดพราดราว 50%

...หรือกรณีของ "สวิตเซอร์แลนด์" ที่ประกาศนโยบายเลิกตรึงค่าเงิน "ฟรังก์" กับ "ยูโร" พร้อมทั้งลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ -0.75% จากเดิมที่ -0.25% เพื่อลดแรงจูงใจการไหลเข้าของเงินทุน แต่ปรากฏว่าค่าเงิน "สวิสฟรังก์" ยังคงแข็งค่าขึ้นราว 30%

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 2% ถ้านับดอกเบี้ยของประเทศตลาดเกิดใหม่แล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะ "ติดชาร์ต" ในระดับ "ต่ำสุด" ทว่าค่าเงินไม่เห็นอ่อนค่าลงเท่าไรนัก

แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ "เงินบาท" ไม่อ่อนลงซักที.. ข้อสงสัยนี้ ถ้าติดตามตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ซึ่ง "แบงก์ชาติ" เพิ่งประกาศไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ในเดือนธ.ค.2557 ประเทศไทยมียอด "เกินดุล" บัญชีเดินสะพัด "สูงสุด" เป็นประวัติการณ์.. ฟังเช่นนี้คงพอเห็นคำตอบอยู่บ้าง!