นายกฯ ควรกำหนดวาระข่าว ไม่ใช่ฉุนเฉียวใส่นักข่าว

นายกฯ ควรกำหนดวาระข่าว ไม่ใช่ฉุนเฉียวใส่นักข่าว

ตอนนี้ข่าวและคลิปข่าวท่านนายกฯประยุทธ์ฉุนเฉียว ตอบโต้ ต่อปากต่อคำกับนักข่าว กลายเป็นประเด็นสีสันรายวัน

ที่น่าสนใจเสียยิ่งกว่าปัญหาเศรษฐกิจ ราคายางพารา หรือเรื่องดีๆ อื่นๆ ที่รัฐบาลกำลังทำเสียอีก

และระยะหลังๆ การตอบโต้เริ่มดุเดือดรุนแรงขึ้น หลุดคำผรุสวาทมากขึ้น ทำท่าจะทุ่มหรือเขย่าโพเดียมบ่อยครั้งขึ้น

การปล่อยอารมณ์ฉุนเฉียวเที่ยวล่าสุด หากได้ดูคลิปเต็มๆ ก็พอเข้าใจท่านนายกฯว่าเหตุใดท่านถึงมีอารมณ์ความรู้สึกแบบนั้น เพราะนักข่าวเน้นถามประเด็นการเมืองมากกว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำในแง่นโยบาย

จริงอยู่นักข่าวอาจไม่มีสิทธิถามทุกคำถาม เพราะมีหลักจรรยาบรรณที่ดีกำกับอยู่ มีความเป็นมืออาชีพกำกับอยู่ แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ห้ามไม่ได้ที่เวลาแถลงข่าว แถลงผลประชุม นักข่าวก็จะถามอะไรก็ได้ และดูเหมือนท่านนายกฯก็รู้ตัวด้วยว่าอาจจะมีนักข่าวบางคนพยายามยั่วโมโห เพื่อให้ความโมโหของผู้นำประเทศกลายเป็นข่าว

หลักการก็คือ ท่านนายกฯไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถามของนักข่าวก็ได้

แทนที่จะด่านักข่าวว่าเรื่องมีสาระ (ในความเห็นของท่าน) หรือสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ ประชุมกันหลายชั่วโมง ทำไมไม่ถามกันบ้าง มาถามแต่เรื่องอื่นอยู่ได้ แทนที่จะบังคับให้คนอื่นถามอย่างที่ท่านชอบ ซึ่งบังคับยาก ท่านสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตอบหรือสื่อสารเฉพาะสิ่งที่ท่านเห็นว่าชอบ ว่าถูก ว่าดี โดยไม่เห็นจำเป็นต้องไปตอบคำถามการเมือง คำถามเสี้ยม หรือคำถามยุแยง (ในความเห็นของท่าน) เพื่อให้เกิดปัญหาการเมืองบานปลายมากขึ้นไปอีก

นี่คือหลักคิดเชิงพุทธที่สำคัญ คือ กำหนดจิตตัวเองเพื่อแก้ปัญหาจากข้างในตัวเรา ไม่ใช่ไปเที่ยวบังคับให้คนอื่นต้องแก้ไขให้เราในสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหา หนำซ้ำปัญหานั้นก็มาจากตัวเราเสียด้วยส่วนหนึ่ง

ตอนนี้ท่านกำลังปล่อยให้สื่อหรือนักข่าวที่ท่านอาจจะเชื่อว่าไม่หวังดี กำหนดวาระข่าวแทนท่านอยู่ โดยใช้ความใจร้อนของท่านเองนั่นแหละเป็นเครื่องมือ

กลายเป็นว่าเรื่องผลงานไม่ถูกรายงานสู่สาธารณะ มีแต่เรื่องนายกฯฉุนเฉียว ด่าทอ ประชดประชัน

ท่านบอก "เห็นใจผมบ้าง" ท่านบอก "เห็นใจผมเถอะ" จริงๆ กองเชียร์ คสช.ก็พร้อมเห็นใจ แต่ท่านต้องทำให้กองเชียร์มีช่องทางได้แสดงความเห็นใจหน่อย

จะว่าไปผมเข้าใจท่านนายกฯนะ ซึ่งท่านก็คงคิดเหมือนคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่มองสื่อมวลชนค่อนข้างเป็นมุมลบ หลายคนเคยพูดเข้าหูทำนองว่า สื่อไทยสนใจแต่ข่าวร้ายๆ เข้าทำนอง "ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน"

ข้าราชการ พ่อค้าวาณิชจำนวนไม่น้อยบ่นว่าชีวิตนี้ถ้าเป็นไปได้อย่าไปยุ่งกับ 2 อาชีพ คือ ตำรวจ กับ สื่อ

ภาพพจน์สื่อบ้านเราไม่ค่อยดีเท่าไร ยิ่งหลังๆ การเมืองขัดแย้ง สื่อแบ่งเป็นสี เป็นค่าย ยิ่งทำให้ประชาชนหมดศรัทธา

แต่เมื่อสภาพความเป็นจริงมันเป็นเช่นนี้ คำถามก็คือทำไมนายกฯต้องลงมาคลุกฝุ่น หรือทำให้ตัวเองภาพพจน์เสียตามไปด้วย

หยุดแล้วตั้งสติก่อนให้สัมภาษณ์ดีไหม?

เท่าที่เคยคุยกับทีมงานท่านนายกฯ ทราบว่าได้มีการเสนอให้ท่านพูดน้อยๆ ถึงกับตั้งทีมโฆษกมาหลายคน ทั้งทีมโฆษกรัฐบาล ทีมโฆษก คสช. ทีมโฆษกกองทัพบก ทีมโฆษก กอ.รมน. ฯลฯแต่ปรากฏว่านายกฯยังพูดเยอะเหมือนเดิม

คนใกล้ชิดท่านผู้นำเล่าว่า ท่านนายกฯบอกว่าท่านต้องพูดชี้แจงทุกเรื่องเองเพื่อให้สังคมเข้าใจ เพราะสังคมยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลเข้ามาทำอะไร และกำลังจะทำอะไร

ไม่ผิดหรอกหากท่านคิดจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม แต่เมื่อท่านพูดแล้วผลออกมาอย่างไร น่าจะนำมาประเมินอย่างเป็นกิจจะลักษณะบ้าง แล้วเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารบ้าง

"รายการคืนความสุขให้คนในชาติ" เหลือคนฟังอยู่เท่าไรในแต่ละสัปดาห์ ก็เป็นอีกหนึ่งการสื่อสารที่ควรทบทวน

เรื่องยุทธศาสตร์การสร้างภาพลักษณ์นั้น น่าจะลองสรุปบทเรียนความสำเร็จของพรรคเพื่อไทย ดูอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวอย่าง ตั้งแต่เธอย่างบาทสู่ถนนสายการเมือง หาเสียง 40 กว่าวันจนได้เป็นนายกฯ และนั่งเก้าอี้ผู้นำ 2 ปีเศษ แทบไม่เคยตอบโต้เรื่องการเมืองเลย ภาพลักษณ์ของคุณยิ่งลักษณ์กลายเป็นนายกฯหญิงผู้ขยันทำงาน ไม่จมปลักกับปัญหาการเมือง

คุณสมัคร สุนทรเวช ปฏิเสธขึ้นเวทีดีเบทปะทะคารมระหว่างหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จนตนเองชนะ ได้คะแนนเกินล้าน

หวังว่าตัวอย่างจากอดีตผู้นำ 2 ท่าน คงพอทำให้ท่านนายกฯประยุทธ์ได้พิจารณาบ้าง!