มันก็แค่ละครฉากหนึ่ง

มันก็แค่ละครฉากหนึ่ง

ดูลีลารัฐบาล คสช.เลี้ยงตัวบนสถานการณ์ถอดถอน คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องถึงการประท้วงท่าที

ของ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่มาพูดจาแทรกแซงกิจการภายในของไทยถึงในประเทศไทยแล้ว...

ต้องบอกว่าการยึดอำนาจของคณะนายทหารเที่ยวนี้ไม่ธรรมดา นอกจากจะเตรียมการมาดีในระดับ "เหยียบหิมะไร้รอย" แล้ว ยังมี "ทีมบู๊-ทีมบุ๋น" คอยกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวในแต่ละจังหวะก้าวทางการเมืองได้อย่างน่าปรบมือให้

เมื่อเห็นช่องทางชิงความได้เปรียบทางการเมือง หาคะแนนนิยมจากชาวบ้านได้ ก็ตัดสินใจทำทันที ไม่มีลังเล

ไม่แปลกที่หมอดูจะพากันประสานเสียงว่า "บิ๊กตู่" ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสครองอำนาจต่อเนื่องอีกหลายปี

แต่ในห้วงอารมณ์ของอาการดีใจ ได้ใจ สะใจของบรรดากองเชียร์ ก็ควรเผื่อใจไว้บ้างเหมือนกัน เพราะทั้งหมดนี้อาจเป็นแค่ "ละครฉากหนึ่ง" ที่หน้าฉากก็เล่นไปตามบท แต่หลังฉากเขาเขียนบทจบกันเอาไว้หมดแล้ว

เริ่มจากคดีถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ มีคนช่างสังเกตตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเปิดโอกาสให้อดีตนายกฯ "แวะพัก" ปลีกตัวออกจากความวุ่นวายทางการเมืองแบบไม่ต้องอนาทรร้อนใจใดๆ อีกหรือไม่ ในขณะที่คดีอาญานั้นไซร้ "วงใน" ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านสำนวนคดีเผยว่า คดีอาญาบางคดี บางประเภท ยิ่งรีบฟ้อง ยิ่งหลุด ยิ่งฟ้องเร็ว ศาลยิ่งยกฟ้องเร็ว

ว่ากันว่าบางคนในปีกทนายแผ่นดิน ในคณะทำงานพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์น่ะ คนที่ออกตัวว่าต้องฟ้องๆ อาจเพราะอยากให้รีบๆ ฟ้องทั้งๆ ที่ยังมี "ข้อไม่สมบูรณ์" อยู่ก็ได้

ถ้าสถานการณ์เดินตามท้องเรื่องแบบนี้ โอกาสที่จะ "โดนถอดถอน แต่หลุดอาญา" มันก็มีมิใช่หรือ?

แล้วตอนจบก็นิรโทษคดีการเมืองกันไป อย่างที่มีบางคน เช่น รองประธาน สนช. พีระศักดิ์ พอจิต ชี้ช่องเอาไว้ คล้ายๆ จุดเริ่มต้นการปรองดอง ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ส่วนเรื่อง นายแดเนียล รัสเซล ก็อย่าไปคิดอะไรให้มากจนปวดหัว บางคนมองโยงไปถึงการฝึกร่วม "คอบร้า โกลด์" โน่นเลย กลัวว่าสหรัฐจะตอบโต้ด้วยการยกเลิกการฝึก ขณะที่ฝ่ายโปร คสช.ก็บอกว่า พี่ไทยเล่นบทกร้าวแบบนี้ได้ เพราะถือไพ่เหนือกว่า สหรัฐต้องง้อให้จัด "คอบร้า โกลด์" แน่นอน

สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ การฝึกร่วม "คอบร้า โกลด์" นั้น แท้ที่จริงเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐเต็มๆ ส่วนไทยได้แค่ผลประโยชน์ทางอ้อม เรียกว่าเป็นสถานที่ฝึก ได้งบ ได้ยุทโธปกรณ์นิดหน่อย แต่เรื่องแสนยานุภาพ การสร้างอิทธิพลในภูมิภาค สหรัฐได้ไปเต็มๆ ฉะนั้นอย่าไปหลงประเด็นว่าสหรัฐต้องมาง้อไทย หรือพี่ไทยถือไพ่เหนือกว่า...มันคนละเรื่อง

ฉะนั้นการที่ นายแดเนียล รัสเซล เข้ามาไทย แล้วมาพูดหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพก็เรื่องหนึ่ง ขณะที่เรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐบ้านเขา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง "การแสดงออก" กับ "ผลประโยชน์" บางทีมันก็ดูสวนทางกัน แต่เชื่อเถอะในโลกเลอะๆ ใบนี้นั้น ผลประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกประเทศ

ปิดท้ายด้วยเรื่องกฎอัยการศึก คนในแวดวงการทหารเขารู้กันดีว่า กฎหมายพิเศษฉบับนี้ลงได้มีประกาศใช้แล้ว "เลิกยาก" ก็เหมือนกฎหมายพิเศษที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปากก็บอกปาวๆ ว่าคุมสถานการณ์ได้ แต่ถามว่าเลิกกฎหมายพิเศษบ้างไหม...ก็ไม่เห็นมี

ที่ผ่านมานักกฎหมายประดามี เขาแนะวิธีใช้กฎหมายพิเศษที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ ประกาศใช้ในพื้นที่และเวลาที่จำกัด เกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงแล้วค่อยใช้ เมื่อแก้ไขสถานการณ์จนดีขึ้นได้ก็รีบเลิก ไม่ใช่ประกาศครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด หรือทั้งประเทศ เพราะการประกาศแบบนั้นมันสะท้อนว่าผู้ประกาศคุมสถานการณ์ไม่ได้จริงต่างหาก

เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เสนอว่าห้ามประกาศกฎอัยการศึกเพื่อทำรัฐประหาร เรื่องนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญน่าพิจารณานำไปเขียนเป็นกติกาประเทศบ้างน่าจะดี!