เจรจาไฟใต้...เป้าหมายรอง?

เจรจาไฟใต้...เป้าหมายรอง?

เรื่องภาคใต้ดูจะห่างหายไปจากความสนใจของผู้คน เพราะเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ดูจาก "สกู๊ปพิเศษ" ที่กรุงเทพธุรกิจ โฟกัส เสนอไว้ในหน้าเดียวกันนี้ ก็จะพบข้อมูลรายละเอียดและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้น และน่าจะดีที่สุดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

งานนี้ก็ต้องปรบมือให้กับ คสช. รัฐบาล กองทัพ สมช. และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้บรรยากาศโดยรวมของพื้นที่ดีขึ้น และเริ่มมีที่ว่างสำหรับงานพัฒนาซึ่งมี ศอ.บต.ยุค คุณภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นหัวหอก (แม้สาเหตุบางส่วนจะมาจากความเหนื่อยล้าของฝ่ายขบวนการเองที่ยังไม่เห็นวี่แววการแยกดินแดนสำเร็จเสียทีก็ตาม...ฮา)

แต่ประเด็นที่น่าแปลกใจก็คือ สถานการณ์ชายแดนใต้ที่ดีขึ้นนั้น ไม่ค่อยมีส่วนสัมพันธ์กับการเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจารอบใหม่ ที่เรียกว่า "การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" สักเท่าไร

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนมาเลเซีย และร่วมตกลงเรื่องนี้ด้วยตัวเองกับนายกฯนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 พร้อมเปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยอย่างเอิกเกริกด้วย

แต่ผ่านมาร่วม 2 เดือน ยังไม่มีอะไรคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

มีข่าวแว่วมาว่าภายในสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเรียกประชุม คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ The Steering Committee for Dialogue ซึ่งน่าจะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก และคงมีการอนุมัติ "อะไรๆ" ที่รอจังหวะเวลากันอยู่ เช่น กรรมการในคณะพูดคุยชุดที่มี พล.อ.อักษรา เป็นประธาน

เพราะการขับเคลื่อนงานแบบ 3 ระดับ แม้ดูเผินๆ จะขยับขับเคลื่อนไปพร้อมกัน แต่เมื่อคณะกรรมการระดับบนมีนายกฯเป็นประธาน การที่ระดับล่างจะขยับไปก่อนย่อมอยู่ในภาวะ "ออฟไซด์" หลายเรื่องจึงคาดว่าจะ "คิกออฟ" กันจากวงประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯครั้งนี้

ที่ผ่านมาก็มีรายการ "ออฟไซด์" กันอยู่บ้าง ดังเช่นที่มีข่าวและภาพการพบปะกันในประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่มาเลเซียออกมาเป็นระยะ ทั้งๆ ที่มาเลเซียได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยให้เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" กระบวนการพูดคุย

มีข่าวด้วยว่านอกจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดที่มีนายกฯเป็นประธานแล้ว ในระดับคณะพูดคุยตัวจริง ก็จะมีการพบปะกันอย่างลับๆ ระหว่างผู้มีบทบาทในเมืองไทย กับผู้มีบทบาทในมาเลเซียด้วย นัยว่าเพื่อทำความรู้จักคุ้นเคยกันให้สนิทแนบแน่น

จากความเคลื่อนไหวหลายระดับดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าโต๊ะพูดคุยน่าจะเปิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการได้หลังจากนี้

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันก่อนว่า แกนนำพูโลในพื้นที่แย้มพรายว่า มีการวางกรอบเวลาจะเปิดโต๊ะพูดคุยกันในเดือน มี.ค. ซึ่งดูๆ แล้วก็น่าจะสมเหตุสมผล

ปัญหาในขณะนี้ นอกจากความล่าช้า (ซึ่งรัฐบาลคงพยายามอธิบายว่า "ช้าแต่ชัวร์" ไม่ใช่ "เร็วแต่มั่ว" เมื่อรัฐบาลชุดก่อน) ยังอยู่ที่ว่าการพูดคุยเจรจาจะได้ "ตัวจริง" มาขึ้นโต๊ะสักกี่คน

เพราะจนถึงขณะนี้ "บีอาร์เอ็นสายกองกำลัง" ที่ว่ากันว่าควบคุมนักรบในพื้นที่อยู่มากที่สุด ยังคงนิ่ง และไม่สนใจการพูดคุยเท่าใดนัก

ข่าวกระเซ็นกระสายจากประเทศเพื่อนบ้าน (ไม่ใช่เขมร) แจ้งว่าบุคคลที่ถูกเชื้อเชิญได้ร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นกลุ่มเดิม (ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องอำนาจสั่งการ) เพียงแต่เปลี่ยนคน เช่น ไม่มี ฮัสซัน ตอยิบ แต่อาจมี อาวัง ยาบะ ซึ่งเป็นคนสนิทของฮัสซันแทน...อะไรประมาณนี้

ขณะที่ฝ่ายพูโลซึ่งแตกเป็น 3 กลุ่มก็ชิงความได้เปรียบกันวุ่นวาย กลุ่มพูโลใหม่ นำโดย กัสตูรี่ มาห์โกตา จัดประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" ที่ประเทศแถบยุโรป เมื่อราวๆ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวว่ามีการจัดประชุมจริง แต่วงประชุมไม่ "แกรนด์" ดังที่มาดหมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถูกเปิดเป็นข่าวในสื่อไทยก่อนด้วย

ส่วน ลุกมัน บินลิมา ตัวแทนพูโลสายเก่า (มี นูร์ อับดุลเราะห์มาน เป็นประธาน) ก็ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯประยุทธ์ พร้อมข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ซึ่งบางข้อดูเป็นไปได้ยาก ส่วนบางข้อรัฐก็ทำให้อยู่แล้ว จึงไม่รู้จะเรียกร้องมาทำไม

ข่าวว่า ลุกมัน บินลิมา และกลุ่มของเขาไม่ได้ไปร่วมประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" เช่นเดียวกับพูโลอีกกลุ่มที่นำโดย ซัมซูดิง คาน

แต่การส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯประยุทธ์ ของพูโลกลุ่มนายลุกมัน อ่านได้ว่าเป็นการชิงความได้เปรียบกันเองของบรรดากลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งไปๆ มาๆ ก็ยังไร้เอกภาพเช่นเดิม

ประเด็นก็คือ สถานการณ์แบบนี้ ฝ่ายความมั่นคงไทยก็อ่านออก จึงมีข่าวแว่วมาว่ากระบวนการเปิดโต๊ะพูดคุยนั้น แท้ที่จริงคือ "เป้าหมายรอง" ของการแก้ไขปัญหา แต่เป้าหมายหลักคือการจัดระเบียบพื้นที่ กดดันกองกำลังติดอาวุธมากกว่า

ลองไปดูอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ขยายเป็นกว่า 7 หมื่นนาย กับสถิติปิดล้อม ตรวจค้น ที่จับกุมเป้าหมายทั้งจับเป็นและวิสามัญฯได้ทุกรอบในช่วงหลังๆ ก็จะรู้ว่าทิศทางดับไฟใต้ที่แท้จริงของรัฐบาลชุดนี้คืออะไร!