ปรองดองในเงามืด

ปรองดองในเงามืด

แน่นอนว่าการปรองดอง เป็นคนละเรื่องกับการจัดการคนกระทำผิด

เพราะคนกระทำผิด โดยเฉพาะผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย สมควรต้องถูกจัดการ

ทว่ากระบวนการจัดการคนกระทำผิดนั่นต่างหาก ที่เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะบ่งชี้ว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

กล่าวสำหรับคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ผมเองเชื่อเต็มหัวใจว่าเป็นโครงการที่ใช้ไม่ได้ หลอกลวงประชาชน ผิดหลักการจำนำ เพราะตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาด กลายเป็นโครงการรับซื้อข้าวจากชาวนามาเก็บไว้ให้เสื่อมราคา หรือเก็บไว้เพื่อผ่องถ่ายให้พรรคพวกของตัวเองนำไปหาประโยชน์โดยมิชอบ

แต่การจัดการกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าผิดอย่าง คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิน่าคิด โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยงๆ อยู่แบบนี้ ไฟสุมขอนยังคุอยู่ตลอดเวลารอวันลุกโชน

ประเด็นถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้น ไม่ว่าจะอ้างหลักกฎหมายใดเพื่อให้ สนช.เดินหน้าถอดถอนต่อไปได้ทั้งๆ ที่จุดกำเนิดของ สนช.ไม่ได้มีความยึดโยงกับการกระทำผิดหรือกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ก็สามารถอ้างหรือแถกันไปได้ แล้วก็ทำสำเร็จกันไปแล้ว แต่ปัญหาคือมันสร้าง "ความยุติธรรมทางความรู้สึก" ให้เกิดขึ้นหรือไม่

โดยเฉพาะข้อโต้แย้งที่คุณยิ่งลักษณ์อธิบายว่า เธอไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว จะถอดถอนออกจากอะไร?

ถ้าประเด็นนี้ไม่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมจริงๆ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะหยิบขึ้นมาหารือกันเมื่อไม่นานมานี้หรือว่า ต้องแยกการถอดถอนออกเป็น 2 ระบบ คือ 1.ถอดถอนออกจากตำแหน่ง สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่จริงๆ กับ 2.ถอดถอนเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ดังที่คุณยิ่งลักษณ์กำลังโดนอยู่นี้

เงื่อนไขของการถอดถอนทั้งสองแบบจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องไปถกเถียงกันต่อ แต่แน่นอนว่าเมื่อยังไม่มีความชัดเจน แล้วไปตีความให้ถอดถอนจากตำแหน่งทั้งๆ ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไรแล้วได้ ย่อมเกิดปัญหา "ความไม่ยุติธรรมทางความรู้สึก" ตามมา

ยิ่งก่อนการนัดประชุมลงมติถอดถอนแค่ 2-3 วัน ป.ป.ช.เพิ่งจะชี้มูลความผิด คุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์และพวก ว่าร่วมกันระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ทั้งๆ ที่คดีนี้น่าจะเป็นคดีหลักที่ถูกชี้มูลก่อน เพื่อยืนยันว่ามีการทุจริตในโครงการจริงๆ แล้วจึงไปจัดการคุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่าละเลย เพิกเฉย ไม่ป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริต

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ป.ป.ช.ชี้มูลคุณยิ่งลักษณ์ก่อนเนิ่นนาน คดีอาญาไปถึงอัยการสูงสุดแล้ว ส่วนคดีถอดถอนก็กำลังจะลงมติอยู่รอมร่อ ถึงค่อยชี้มูลคดีหลัก

ถามว่าถ้าลองเอาหัวใจคุณยิ่งลักษณ์และบรรดากองเชียร์มาใส่ในหัวใจ ป.ป.ช.ดูบ้าง จะรู้สึกอย่างไร?

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเช้าวันลงมติถอดถอน อัยการสูงสุดก็ลงนามในคำสั่งฟ้องคุณยิ่งลักษณ์ในคดีอาญา และมีการแถลงข่าวกันใหญ่โต ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นยังมีข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีที่ ป.ป.ช.กับสำนักงานอัยการสูงสุดถกเถียงยืดเยื้อกันมานานหลายเดือน

นี่หรือคือ "ความยุติธรรม" ทั้งๆ ที่โดยรากศัพท์และความหมายที่แท้จริงของ "ยุติธรรม" นั้น คือ ธรรม (หมายถึงความถูกต้อง) ที่เป็นที่ยุติ ซึ่งกินความทั้งความเป็นธรรมทางกฎหมาย และความเป็นธรรมทางความรู้สึก (justice must be seen to be done) มิฉะนั้นความขัดแย้งก็จะไม่ "ยุติ"

หากคิดในมุมปรองดอง การจะถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์นั้นไม่มีใครว่า ถ้า สนช.เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเธอได้กระทำผิดจริง แต่องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าวได้ใช้ความรอบคอบเพียงพอหรือไม่กับท่าทีใดๆ ในห้วงเวลาอันเปราะบางนี้

ประเทศไทยกำลังวนกลับไปสู่รอยทางเดิมๆ แห่งความขัดแย้ง คือ ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เลือกตั้งโดยอ้างเสียงข้างมาก ต่อสู้กันทั้งใต้ดินบนดิน แล้วสุดท้ายก็จบลงด้วยความรุนแรง...

โดยที่ความปรองดองนั้น ซุกอยู่ในเงามืดที่แสงสว่างส่องเข้าไปไม่ถึง!