เสี้ยวประวัติศาสตร์ "ทหารบ้านนอก" ผู้จงรักภักดี

เสี้ยวประวัติศาสตร์ "ทหารบ้านนอก" ผู้จงรักภักดี

การสูญเสีย "นายทหารใหญ่" แห่งยุคสมัยสงครามเย็น ทำให้สื่อมวลชนพลิกประวัติ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด มานำเสนออีกครั้ง

สื่อส่วนใหญ่จะพูดถึงชีวประวัติ "พล..อาทิตย์" ช่วงเหตุการณ์เจรจาหย่าศึก ระหว่างนิสิตนักศึกษากับทหาร เมื่อปี 2500 อันเป็นที่มาของฉายา "วีรบุรุษมัฆวาน"

และเหตุการณ์ "คืนลอยกระทง" วันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 เมื่อ "พล..อาทิตย์" วิพากษ์การลดค่าเงินบาทของรัฐบาล พล..เปรม ติณสูลานนท์

แต่ฉากการต่อสู้แย่งชิงในมหากาพย์ "เกมอำนาจ" ภายในกลุ่มขุนศึก ในช่วงปี 2526-2529 ไม่สู้จะมีสื่อสำนักใดนำมาขยายให้เป็นความรู้แก่ประชาชนไทยมากนัก

นับแต่สิ้นสุดยุค "ผู้บัญชาการทหารบก" อย่าง พล..กฤษณ์ สีวะรา พล..บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล..เสริม ณ นคร มรดกกองทัพสมัย "จอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม" ก็มาถึงจังหวะโอกาสของ "ทหารบ้านนอก" พล..เปรม ติณสูลานนท์ ที่ขยับจากกองทัพภาคที่ 2 ขึ้นเป็นแม่ทัพบก เดือนตุลาคม 2521

พล..ประยุทธ จารุมณี เป็นแม่ทัพบก คั่นเวลา 1 ปี ก็ถึงคิวทหารบ้านนอกที่ชื่อ พล.อ.อาทิตย์

กำลังเอก ก้าวขึ้นคุมกองทัพบกเมื่อเดือนตุลาคม

ต้องยอมรับว่า "ทหารบ้านนอก" ไม่ได้อาศัยโชควาสนาจึงได้เป็น ผบ.ทบ. หากแต่ "เขา" คือนักรบ "ผู้จงรักภักดี" กรำศึกรบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในทุกสมรภูมิป่าเขา

สมัยที่ "พล.อ.เปรม" และ "พล.อ.อาทิตย์" รับราชการอยู่ในภาคอีสาน ได้ทดลองการใช้ทฤษฎี "การเมืองนำการทหาร" ต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ มาตั้งแต่ปี 2516 โดยเฉพาะยุทธวิธี "บ้านล้อมป่า" และจัดตั้งราษฎรอาสาปกป้องหมู่บ้าน

ปี 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสชมเชย พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก (ยศขณะนั้น) ในฐานะผู้บังคับการชุดควบคุมกรมผสมที่ 23 ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนร่มเกล้า ที่บ้านหนองแคน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร

โดยมีพระราชดำรัสว่า "การปฏิบัติงานครั้งนี้ จะเป็นแผนใหม่ในการปฏิบัติจิตวิทยา และจะเป็นตำราเล่มใหม่ในอนาคต ความซื่อสัตย์สุจริตที่ทำนี้ ฉันพอใจมาก"

การปฏิบัติงานที่ว่านี้หมายถึง การสร้างโรงเรียนในพื้นที่สีแดง ซึ่งอยู่ในเขต "อำนาจรัฐแดงภูพาน" ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เป็นผลสำเร็จ ถือว่าเป็นชัยชนะของ "การเมืองนำการทหาร" ในเบื้องต้น

ปี 2517 กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้งหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 1718 (พตท.1718) โดย พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการ ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่อุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย-หนองคาย ด้วยยุทธวิธีติดอาวุธ(ปืนลูกซอง) ให้มวลชน "ไทยอาสาป้องกันตนเอง" (ทสป.) ต่อสู้ป้องกันหมู่บ้านจากภัยคุกคามของทหารป่า

จากผลงานอันโดดเด่นของ ทสป. "พล.อ.เปรม" ในฐานะ ผบ.ทบ. จึงผลักดันให้ รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ยกระดับ ทสป. เป็นไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ครั้นเกิดยุทธการ "ยังเติร์กยึดเมือง" พล.อ.เปรม ร่วมกับ พล.อ.อาทิตย์ ต่อต้านการก่อรัฐประหารจนประสบชัยชนะ อันเป็นการเปิดทางให้ "ทหารบ้านนอก" จากภาคอีสาน คนที่ 2 ได้เป็นแม่ทัพบก

จะว่าไปแล้ว ใน พ.ศ.นั้น บารมีของ "บิ๊กซัน" เบ่งบานไม่แพ้ "ป๋าเปรม" และต่างก็เป็น "นายทหารผู้จงรักภักดี"

ปี 2526 - 2528 "นายทหารนอกคอก" จับมือ "สหายนอกแถว" พยายามลอบสังหาร "ป๋าเปรม-บิ๊กซัน" อยู่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

ตอนหลังเกิดรอยปริร้าวระหว่างป๋าเปรมกับบิ๊กซัน กลุ่มนายทหารนอกคอก จึงหาช่องดึงบิ๊กซันมาเป็นแน่วร่วมโค่นล้มป๋า แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากขุนศึกผู้จงรักภักดี มิยอมเล่นเกมอำนาจทางลัด

พล.อ.อาทิตย์ รอจนเกษียณอายุ จึงก้าวสู่สมรภูมิเลือกตั้ง และในฐานะหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ได้ประกาศจุดยืนบนเวทีหาเสียงว่า "นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง"

หลังการเลือกตั้งปี 2531 พล.อ.เปรม โบกมือลาการเมือง ส่วน พล.อ.อาทิตย์ เข้าสู่สภาฯ ในฐานะ ส.ส.จังหวัดเลย

นี่คือเสี้ยวประวัติศาสตร์การเมือง-การทหารของ "สองนายทหารบ้านนอก" ผู้จงรักภักดี