จาก 9/11-ชาลี เอบโด : วิวาทะระหว่างนักรัฐศาสตร์กับนักมานุษยวิทยา

จาก 9/11-ชาลี เอบโด : วิวาทะระหว่างนักรัฐศาสตร์กับนักมานุษยวิทยา

สงครามความขัดแย้งในอนาคตคือการปะทะกันระหว่างอารยธรรมที่ต่างพยายามจะครอบงำการเมืองโลก

จริงหรือไม่ว่านับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 จนถึง “ชาลี เอบโด” คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ทางอัตลักษณ์ทางอารยธรรม-วัฒนธรรมตามที่นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แซมมวล ฮันติงตัน ได้วิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ใน The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order (1992, 1993, 1996)?

คนที่เคยอ่านงานของฮันติงตันอาจจะเริ่มเชื่อมากขึ้นว่า พยากรณ์ของเขาถูกต้อง เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ดูจะยืนยันตามนั้น แต่ก็มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับมุมมองของฮันติงตัน หนึ่งในนั้นคือ คลิฟฟอร์ด เกียทซ์ นักมานุษยวิทยาชั้นนำคนหนึ่งของโลก เมื่อพูดถึงนักมานุษยวิทยา จุดเด่นของพวกเขาก็คือ การลงภาคสนามศึกษาวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ อย่างละเอียดเจาะลึก ดังนั้น มุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับความเป็นไปของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ จึงดูจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่านักรัฐศาสตร์!

เกียทซ์ได้บรรยายถึงสภาพการณ์ทางวัฒนธรรมของโลกปัจจุบันใน The World in Pieces : Culture and Politics at the End of the Century โดยนำเสนอครั้งแรก ค.ศ. 1995 เขาได้วิพากษ์วิธีคิดทางสังคมศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งรวมถึงมุมมองในแบบของฮันติงตัน เขาเห็นว่า รัฐศาสตร์กระแสหลักพยายามที่จะนำเสนอมโนทัศน์ในแบบ “อภิมหาบูรณาการและเบ็ดเสร็จ” ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าในยุคสงครามเย็น และใช้ถ้อยคำที่เป็นคำใหญ่คำโตอย่างเช่นคำว่า “อารยธรรม” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกกระแสหลักได้แทนที่ชุดคำอธิบายที่เป็นอภิมหาบูรณาการเบ็ดเสร็จที่กำลังจะล้าสมัยไปด้วยชุดคำอธิบายประเภทเดียวกันที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงยิ่งกว่าเข้าไปอีก! เกียทซ์ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบัน มันได้ทวีความประจักษ์ชัดเจนถึงสภาวการณ์ที่ “เรื่อง” หรือ “คำอธิบาย” ชุดเก่ากำลังจะอ่อนล้าหมดพลังไป นั่นคือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างสังคมที่ไม่มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือสังคมที่มีชุดความเชื่อทางศีลธรรมจริยธรรมที่ขัดแย้งกัน และมีโลกทัศน์ที่ยากที่เข้าใจและประนีประนอมกันได้ โดยเกียทซ์ได้ยกฮันติงตันขึ้นมาในฐานะที่เป็นตัวอย่างของนักคิดในแนวคิดทฤษฎีกระแสหลักดั้งเดิมที่ทวีความเข้มข้นรุนแรงในปฏิบัติการของตนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา นั่นคือ พยายามที่จะนำเสนอการแบ่งแยกอันยิ่งใหญ่ในมนุษยชาติ อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอันรุนแรงร้าวลึกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เกียทซ์เน้นว่า ฮันติงตัน ได้กล่าวอ้างว่าความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นใหม่มีรากปัญหาหลักจากปัจจัยทาง “วัฒนธรรม ไม่ใช่ปัญหาทางอุดมการณ์การเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมา สงครามความขัดแย้งในอนาคตคือการปะทะกันระหว่างอารยธรรมที่ต่างพยายามจะครอบงำการเมืองโลก จะเกิดปัญหาในเรื่องของเส้นแบ่งเขตทางอารยธรรมที่รุนแรงชัดเจนกว่าที่ผ่านมา เช่น ระหว่างอารยธรรมแบบคริสต์ศาสนาและอิสลาม ขงจื้อและฮินดู แบบอเมริกันและแบบชวา แบบยุโรปและแบบอัฟริกัน และถ้าจะเกิดสงครามโลกครั้งต่อไป ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมเหล่านี้จะเป็นแนวรบของสงครามดังกล่าว ซึ่งตามความคิดของเกียทซ์ เห็นว่า ฮันติงตันดูจะมั่นใจอย่างยิ่งว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้ว ตามความเข้าใจของเกียทซ์ ศาสนา เชื้อชาติ หรือลักษณะทางท้องถิ่นและภาษาได้เข้าสู่การผสมผสานกันอย่างมาก แต่ฮันติงตันกลับยังคงเชื่อว่า สงครามในยุคโลกาภิวัตน์ ‘จะเป็นสงครามระหว่างอารยธรรม’”

พูดง่ายๆ คือ ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ 9/11 ความคิดของผู้คนในแวดวงวิชาการดูจะเทไปทางกระแสแนวคิดในแบบของเกียทซ์เสียมากกว่า โดยไม่เชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งความรุนแรงของโลกในปัจจุบันจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางอารยธรรม-วัฒนธรรม เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมและศาสนาได้มีการผสมผสานปนเปกันมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

แต่หลังเหตุการณ์ 9/11 ค.ศ. 2001 งานของฮันติงตันก็กลับมาขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอีกครั้ง และก็น่าจะกลับมาขายดีและมีการกล่าวขวัญถึงอีกหลังเหตุการณ์ “ชาลี เอบโด”! นั่นคือ ในที่สุด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามที่ฮันติงตันทำนายไว้แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังกังขาอยู่ ดังนั้น ใครก็ตามที่เพิ่งมาอ่าน “The World in Pieces” ของเกียทซ์หลังเหตุการณ์ 9/11 อาจจะรู้สึกได้ทันทีว่าเขาตีความและคาดการณ์ผิด โดยเฉพาะการนำเสนอโลกในสภาวะของการรื้อถอนและการยืนยันว่าในโลกปัจจุบัน มันยากที่จะชี้ลงไปได้ว่า “พวกเขาและเรามีความแตกต่างกันจริงๆ อย่างไร?”

ขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นไปได้อย่างที่เกียทซ์ว่าไว้ นั่นคือ ผู้คนในโลกอาจจะอยู่ในสภาวะที่หลากหลาย ไม่ได้จับตัวกันตกผลึกเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว ซึ่งเกียทซ์เรียกสภาวะดังกล่าวนี้ว่า “กำลังอยู่ในสภาวะแห่งการรื้อถอน” แต่ทว่าสภาวะที่เป็นอยู่ดังกล่าวนี้ได้กลับถูกตีความไปในทางตรงกันข้ามตามแนวคิดกระแสหลักอย่างของฮันติงตัน ที่สร้างภาพให้เข้าใจว่าโลกกำลังอยู่ในสภาวะของความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างแก่นแท้ตัวตนอันบริสุทธิ์แท้จริงที่มีบูรณาการและความเป็นเอกภาพของอารยธรรม-วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ขณะที่ใน “The World in Pieces” เกียทซ์ดูจะพึงพอใจกับความผสมกลมกลืนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาของผู้คนทั่วไป แต่ฮันติงตันกลับมีความกังวลในสภาวะดังกล่าว และมองว่าเป็นสภาวะผุกร่อนของความเป็นพลเมืองและเอกลักษณ์แห่งชาติของอเมริกาอย่างที่เขาได้ตั้งชื่อย่อยของหนังสือ “WHO ARE WE ?” (2004) ของเขาว่า “การท้าทายต่อเอกลักษณ์แห่งชาติอเมริกัน” (The Challenges to America’s National Identity)

ผลงานความคิดและหนังสือของนักวิชาการชาวอเมริกันทั้งสองนี้ชวนให้เราคิดและสงสัยถึงสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ 9/11 และผลพวงที่ติดตามมา เกียทซ์เห็นว่า แนวของฮันติงตันเป็นแนวที่พยายามใช้ศัพท์แสงวาดภาพให้ดูเป็นเรื่องราวยิ่งใหญ่น่าตื่นเต้นผ่านการใช้ถ้อยคำสำนวนที่ก่อให้เกิดภาพอลังการแห่งการปะทะกันเป็นเค้าแห่งสงครามโลกที่หวือหวาเกินกว่าที่คนอย่างเกียทซ์จะมองเห็นหรือคล้อยตามนั้นได้ ซึ่งเกียทซ์ก็เห็นว่า แนวกระแสหลักนี้ก็สร้างภาพให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนักหรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน รวมถึงข้อสรุปคำแนะนำที่เป็นคำใหญ่คำโตต่างๆ จากนักคิดนักวิชาการแนวเดียวกันกับฮันติงตัน ที่เกียทซ์เห็นว่า เป็นข้อสรุปหรือเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยจะน่าฟังเท่าไรนัก

เกียทซ์ชี้ว่า การกล่าวอ้างหรือการใช้ชุดความรู้แบบนี้มิได้มีอะไรอื่นนอกไปจากวาระซ่อนเร้นในการพิทักษ์รักษาสืบสานอำนาจที่ซ่อนอยู่ภายใต้กระแสกล่าวอ้างแบบนี้ที่แอบซ่อนการอ้างความเหนือกว่าของเผ่าพันธุ์หรือสายพันธุ์ (genes) ของกลุ่มคนบางคนในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งในที่สุดแล้ว มันก็ลงเอยด้วยการสื่อว่า มีสายพันธุ์ของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ “ดีกว่า เหนือกว่า มีเหตุผลกว่า มีอารยธรรมที่พัฒนาก้าวหน้ากว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่นในที่อื่นๆ นั่นเอง”

เกียทซ์เห็นว่า นักวิชาการจะต้องไม่ติดอยู่กับกรอบคิดเรื่องความเป็นเอกภาพของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมหนึ่งๆ ที่สามารถถูกนำมาเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกับอัตลักษณ์ของอารยธรรม/วัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ความเชื่อว่ามีเอกภาพแห่งวัฒนธรรมตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา หรือเอเชียกับแองโกล-แซกสัน ฯลฯ เกียทซ์เห็นว่า เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องราวในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ในฐานะที่มันประกอบขึ้นด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่มีความหลากหลายและมีความแข็งขืนต่อการถูกนำไปบูรณาการให้มีความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวอย่างที่ปรากฏในงานของฮันติงตัน

น่าเสียดายที่เกียทซ์ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ ค.ศ. 2006 อยากรู้เหมือนกันว่า เขาจะอธิบายอย่างไรต่อเหตุการณ์ล่าสุดในปารีส ที่หลังจากการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยในรัฐสภา ส.ส. ฝรั่งเศสต่างพร้อมใจกันเปล่งเสียงร้องเพลงชาติออกมา ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918!?

(ปรับปรุงจากหนังสือ Clifford Geertz : ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทซ์, openbooks, ๒๕๕๑)