V for Volatility

V for Volatility

กลับมาพบกันอีกครั้งครับ หัวเรื่องของบทความนี้ผมขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษนะครับ เพื่อความกระชับ

แน่นอนว่าเรื่องของตัว V เป็นที่พูดถึงกันค่อนข้างเยอะในหมู่นักเศรษฐศาสตร์บ้านเราในช่วงหลังการเปลี่ยนรัฐบาลกลางปีที่แล้ว

(ตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงแล้วครับ) แต่ตัว V ที่ผมจะพูดถึงในที่นี้ไม่ใช่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบตัว V (V-shaped recovery) แต่เป็นเรื่องของความผันผวน (Volatility) ในตลาดเงินและตลาดทุนครับ ผ่านไปเพียงแค่ 3 สัปดาห์หลังจากปีใหม่ แต่ในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นค่อนข้างมาก แน่นอนว่าความผันผวนที่ตามมาย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย และผมเชื่อว่าความผันผวนนี้น่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในปีนี้ทั้งปี ในครั้งนี้ผมจึงอยากคุยกันเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจโลกที่น่าจับตาในปีนี้ ที่น่าจะมีผลกระทบต่อภาวะและความผันผวนทางด้านการลงทุนครับ

ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่องแต่น่าจะเริ่มแกว่งตัวในระยะต่อไป

แน่นอนครับว่าการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันโลก (มากกว่า 50% โดยราคาน้ำมัน WTI ลดลงจาก USD106/barrel ในช่วงกลางปี 2014 ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ USD48/barrel) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นในตลาดโลกค่อนข้างมาก โดยประเทศที่ผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้นชัดเจนได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และแคนาดา (โดยมาจาก shale oil และ shale gas เป็นหลัก) นอกจากนั้น กลุ่มประเทศ OPEC ก็ไม่ยอมลดกำลังการผลิตลงด้วย ทำให้อุปทานน้ำมันมีกว่าอุปสงค์ และด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ทำให้โอกาสที่อุปสงค์จะเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มตามไปด้วยจึงมีค่อนข้างน้อย ดังนั้นการลดปริมาณการผลิต (ซึ่งอาจมาจากฝั่ง shale oil และ gas หรือ กลุ่มประเทศ OPEC) น่าจะเป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม Deutsche Bank ยังมองว่าแม้โอกาสที่ราคาน้ำมันจะลดลงจากระดับปัจจุบันมีไม่มากนัก แต่การที่ราคาจะเพิ่มขึ้นก็คงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกภาษาชาวบ้านว่าน่าจะแกว่งตัว (ได้ทั้งขึ้นและลง) นั่นเอง

เงินเฟ้อลดลงทั่วโลก

จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากทำให้เราเห็นภาวะเงินเฟ้อลดลง (disinflation) ในแทบทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย (มียกเว้นบางประเทศ เช่น รัสเซีย ตุรกี และ กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ที่เงินเฟ้อยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่) โดยบางกลุ่มประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (deflation) เช่น อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ล่าสุดออกมาติดลบ โดยในปีนี้น่าจะเป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกต่ำสุดในรอบ 40 ปี (ไม่นับช่วงปี วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกติดลบเนื่องจากการหดตัวอย่างรุนแรงของอุปสงค์) ในระยะถัดไป ด้วยฐานที่ต่ำมากๆ ในปีนี้ หากราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง บวกกับค่าเงินดอลลาร์ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากๆ อาจจะเริ่มเห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อก็เป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่น่าจะมีความผันผวนสูงในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่านโยบายของธนาคารกลางในแต่ละประเทศก็น่าจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

นโยบายของธนาคารกลางในแต่ละประเทศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกัน

จริงๆ แล้วเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศใหญ่ (ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน) ที่จะมีความแตกต่างกันมากขึ้นในปีนี้นั้น เราได้คุยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ช่วงหลังไม่ใช่แค่ สี่ประเทศที่กล่าวถึง แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น 1) ธนาคารกลางสวิสประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินขั้นต่ำระหว่างเงินฟรังก์สวิสและเงินยูโร รวมถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายจนถึงระดับติดลบ 2) ธนาคารกลางเดนมาร์กประกาศลดดอกเบี้ย 3) รวมถึงธนาคารกลางอินเดียก็ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งทำให้หลายคนมองว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางของหลายๆประเทศอาจเริ่มทำสงครามค่าเงิน

แน่นอนครับว่าเมื่อประเทศใหญ่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ประเทศขนาดเล็กกว่าก็ต้องมีการปรับนโยบายตาม โดยผมมองว่าประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนนโยบายมากที่สุดน่าจะเป็นประเทศที่ผูกค่าเงินตัวเองไว้กับค่าเงินของประเทศหลักๆ (เช่น ในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์และเดนมาร์ก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน) โดยถ้าไม่ใช้วิธีการประกาศเลิกตรึงค่าเงิน (ในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์) ก็อาจใช้การลดดอกเบี้ย (ในกรณีของเดนมาร์ก)

ส่วนในกรณีของประเทศในกลุ่ม Emerging ที่ไม่ได้ผูกค่าเงินไว้กับใคร ซึ่งประเทศเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในกรณีนี้ (ไม่ใช่ไม่เคยทำนะครับ ประเทศในเอเชียก็เคยผูกค่าเงินไว้กับเงินสกุลหลักและมีบทเรียนมาแล้ว บ้านเราก็ด้วย) การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินน่าจะมีสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อที่ลดลงมาเร็วและแรงตามราคาน้ำมัน โดยเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) สูงขึ้น ซึ่งในบางประเทศที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างสูง ก็อาจจะเลือกลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นในกรณีของอินเดียที่อัตราเงินเฟ้อของอินเดียที่ลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งนับว่าต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 8% ธนาคารกลางอินเดียค่อนข้างมาก ล่าสุดได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% (จาก 8% เหลือ 7.75%) โดยการประชุมลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการประชุมนัดพิเศษที่ไม่ได้อยู่ในตารางการประชุมที่ประกาศไว้

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินนั้น นำมาซึ่งความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน ยิ่งถ้าเป็นการเปลี่ยนนโยบายแบบที่ตลาดไม่ได้คาดมาก่อน ผลกระทบและความผันผวนในตลาดก็จะมีมากขึ้น (เมื่อเทียบกับในกรณีที่ตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้แล้ว) แต่สิ่งที่ธนาคารกลาง (และนักลงทุน) ต้องคิดต่อก็คือการ surprise ตลาดบ่อยครั้ง อาจนำมาซึ่งการสูญเสียความน่าเชื่อถือ (credibility) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้ว อาจใช้เวลานานในการเรียกกลับมา โดยประเด็นนี้คงต้องจับตามองในกรณีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดเริ่มมีนักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่า Fed อาจเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป รวมถึงธนาคารกลางยุโรปที่ตลาดคาดว่าจะมีการประกาศนโยบาย Public QE ในประชุมวันที่ 22 ม.ค.ที่จะถึงนี้