"รธน.-ปฏิรูป" ที่ดูจะสูญเปล่า

"รธน.-ปฏิรูป" ที่ดูจะสูญเปล่า

"เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" จากกรณีนิตยสารชาร์ลี แอบโด ยืนหยัดตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียน

ศาสดาของศาสนาอิสลามต่อไป ทั้งๆ ที่ถูกมือปืนยิงถล่มจนเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ นับเป็นประเด็นที่น่าศึกษา

ทั้งนี้ ไม่ได้กำลังจะบอกว่าการล้อเลียนศาสดาของศาสนาอื่นเป็นเรื่องที่ถูกต้องควรกระทำ เพราะในความเห็นของผมก็ชัดเจนว่าเสรีภาพทุกอย่างต้องมีขอบเขต อย่างน้อยก็ต้องมี "เส้นแบ่ง" ไม่ให้ไปกระทบกับเสรีภาพของบุคคลอื่น

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าควรค่าแก่การศึกษาก็คือ "ความเชื่อในเสรีภาพ" ของคนตะวันตก มันซึมลึกเข้าไปในสายเลือดจริงๆ

และเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น ก็คือ "ต้นธาร" หรือ "ตาน้ำ" ของสายธารประชาธิปไตย

การจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้ จึงต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังทำอยู่

จนถึงขณะนี้เริ่มมีเสียงวิจารณ์การทำงานของ 2 องค์กรที่กุมชะตาอนาคตของประเทศมากขึ้นทุกที ทั้งคอลัมนิสต์ นักวิชาการ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง หรือแม้แต่ผู้คนในองค์กรต่างๆ

ศ.ศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน พูดเอาไว้ในงานสัมมนาที่เกาะช้างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "ถ้าไม่ปฏิรูปประชาชนทั้งหมดก็ไปไม่รอด วัฒนธรรมการเมืองไม่ได้ส่งเสริมให้คนมีประชาธิปไตย รัฐบาลควรปฏิรูป 2 สิ่ง คือ คุณธรรมจริยธรรม และการศึกษา"

"การเป็นประชาธิปไตยต้องมาจากเบื้องลึกจิตวิญญาณของคน ผมได้นั่งอ่านรายงานการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่ากรรมาธิการกำลังเอาของเก่ามาวิเคราะห์แล้วแก้เป็นจุดๆ เหมือนปะผุรถ แต่จริงๆ แล้วควรต้องออกแบบใหม่ตั้งแต่รากฐาน"

ถือเป็นมุมมองที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับความเห็นของอีกหลายๆ ท่านที่ได้สดับตรับฟังมา อย่างเช่น คุณอัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจชื่อดัง ที่ประกาศจุดยืนเสมอมาว่าไม่เอาคุณทักษิณ ชินวัตร แต่เขาก็มองการปฏิรูปและการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่ามีความเสี่ยงที่จะ "สูญเปล่า" เพราะไม่ได้เริ่มแก้ที่จิตสำนึกของคน

ข้อเสนอหลายๆ เรื่องของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมว่าฟังแล้วแปลกๆ ว่าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างไร เช่น เปลี่ยนคำเรียก "ประชาชน" ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า "พลเมือง" เหมือนกับที่บางคนเชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อจะทำให้ชีวิตดีขึ้นโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

มันจะเป็นไปได้จริงๆ หรือ?

เช่นเดียวกับออกแบบ "สมัชชาคุณธรรม" ขึ้นมาตรวจสอบคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูง โดยที่ผู้คนในประเทศนี้ก็ยังหาช่องทางทุจริตเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความสะดวกกันรายวัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินให้ตำรวจแทนการเสียค่าปรับจราจรบนท้องถนน หรือการวิ่งเต้นเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนต่อในสถานศึกษาที่ตนเองหมายปอง ซึ่งบางครั้งก็ใช้วิธีพึ่งพานักการเมืองที่ถูกชี้นิ้วด่าว่าโกงนั่นแหละ

หลักการหลายเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำสวยงาม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมาแล้วตั้งแต่ปี 2475 และสวยงามยิ่งขึ้นตามกาลเวลาเพราะคนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเขียนรัฐธรรมนูญล้วนเก่งขึ้น มีความรู้ความสามารถในแง่ของ "สหวิทยาการ" มากขึ้น

ถามว่าถ้อยคำสวยๆ นั้นถูกแปรไปสู่การปฏิบัติจริงได้แค่ไหน อย่างไร และที่ผ่านมามีใครเดือดร้อนบ้าง...

ถ้าไม่ใช่กลุ่มคนระดับบนที่สูญเสียอำนาจ หรือแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัวแล้ว ก็ปลุกระดมประชาชนให้มาบาดเจ็บล้มตายแทนตน!