โอกาสของการล้มกระดาน

โอกาสของการล้มกระดาน

น่าแปลกมั๊ยที่แม้ผู้ใหญ่ในรัฐบาล ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จะพากันออกมานั่งยัน นอนยัน ว่าการทำงานของรัฐบาลและคสช.ยังคงเดินตามโรดแมพเดิม ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ไม่มีการตั้งพรรคทหาร และไม่ได้สนใจเล่นการเมือง

แต่ไปคุยวงไหน ไม่มีใครเลยที่บอกว่าต้นปีหน้าเมืองไทยจะมีการเลือกตั้ง!

แม้กระทั่งในแวดวงโหราศาสตร์ นักพยากรณ์ดวงดาวล้วนฟันธงตรงกัน เลือกตั้งเร็วนองเลือด เลือกตั้งเร็วมารจะกลับมา เลือกตั้งใหม่ไม่ใช่แค่ปีหน้า แต่ต้องรอถึงปี 2560 ฯลฯ

แม้ว่าคนในแวดวงความมั่นคงจะยืนยันเหมือนกับนายกฯ และพล.อ.ประวิตร ว่า ในการประชุมทุกวง ไม่เคยได้ยินทั้งสองท่านพูดเรื่องการสืบทอดอำนาจ พูดแต่เรื่องจะจัดระบบชาติ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะในเวทีอาเซียน และเวทีโลก

แต่นั่นก็อาจเป็นอีหรอบเดียวกับช่วงที่ทำให้เชื่อว่าจะไม่ปฏิวัติก็เป็นได้ แต่สุดท้ายก็จัดการยึดอำนาจออกมา ทำเอางงกันทั้งประเทศ!

ผมว่าสาเหตุที่คนไม่เชื่อ มีปัจจัยหลักๆ ดังนี้

1.การปฏิรูปประเทศไม่มีทางแล้วเสร็จภายใน 1 ปี (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอายุของรัฐบาลชุดนี้)

2.การยกร่างรัฐธรรมนูญเริ่มส่อเค้าว่าจะสร้างปัญหาตามมา เพราะมีบทบัญญัติกับแนวทางประหลาดๆ ที่ผู้คนในสังคมได้ยินได้ฟังแล้วมึนๆ เช่น การเลือกตั้งระบบเยอรมัน เป็นต้น

3.เค้าลางความขัดแย้งระหว่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสปช.เสนออะไรมา กมธ.ยกร่างฯดูจะไม่รับเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องการเมือง

4.ร่องรอยความเบื่อหน่ายและน้ำอดน้ำทนที่น้อยลงของ พล.อ.ประยุทธ์ กับการทำงานของ สปช. สนช. และกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งนายกฯเริ่มออกมาบ่นถี่ขึ้น

5.ข้าราชการเริ่ม "เกียร์ว่าง" เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียรัฐบาลก็อยู่ได้อีกไม่นาน และเมื่อไรที่อยู่ไม่ได้ ก็จะไม่กลับมาอีก (เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าถูกล้มจะไม่มีโอกาสกลับมา)

ข้อ 3 กับ 4 มีเงื่อนปมทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระยะเวลาตามโรดแมพของ คสช.ที่กำหนดไว้เดิม นั่นก็คือ หาก สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในดราฟท์สุดท้าย ทั้ง สปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพ้นไป จากนั้น คสช.ก็จะตั้งชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินกระบวนการยกร่างกติกาประเทศใหม่อีกรอบ (ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557)

ยิ่งสปช.กับกมธ.ยกร่างฯใส่คอนเวิร์ส และมีความสัมพันธ์ห่างเหินกันมากเท่าใด โอกาสที่ สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งท่าทีของประธาน กมธ.ยกร่างฯ หลายๆ ครั้งก็กระแทกกระทั้น สปช.อย่างไม่ค่อยจะไว้หน้า และนับวันกรอบการร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนของระบบการเมือง ระบบการเลือกตั้ง เหมือนท่านประธานเตรียมการบ้านมาหมดแล้ว ในที่ประชุมหากมีใครค้านหรือเสนออะไร ก็จะถูกตัดบท บางรายถูกเลคเชอร์ และสุดท้ายก็สรุปให้ใช้ตามแนวทางที่ตนเองเตรียมมา

ขณะที่สมาชิก สปช.แม้จะไม่ได้เป็นอิสระ 100% แต่หาก กมธ.ยกร่างฯ เสนออะไรที่เปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไปมากๆ จนบรรดาขุนทหารที่ทำรัฐประหารมามองไม่เห็นอนาคตประเทศว่าจะเดินไปในทิศทางที่ตนเองลงทุนลงแรงไว้ได้อย่างไร โอกาสของการส่งซิกให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็มีเหมือนกัน

เสียงบ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องระบบการเลือกตั้งเยอรมัน เป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้!

ขณะเดียวกันข้อเสนอหลากหลายของ สปช. ก็มิอาจเห็นผลได้เร็ว เพราะคสช.และรัฐบาลไม่ได้รับลูก ไม่ว่าจะเป็นการคิดค่ามือถือเป็นวินาที หรือแม้กระทั่งล่าสุด คือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

ล่าสุดจึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์ว่า คสช.ตั้ง สปช.ขึ้นมาทำไมหากไม่ทำตามข้อเสนอ สปช. และรัฐบาลคสช.ทำอะไรแตกต่างจากรัฐบาลเลือกตั้งในอดีตบ้าง ในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติตามที่ภาคประชาชนศึกษาและเสนอแนะเอาไว้

(ถ้ารัฐบาลคสช.ตัดสินใจไม่ต่างจากรัฐบาลในอดีต ก็จะเกิดคำถามว่าท่านไปยึดอำนาจจากเขามาทำไม เพราะสุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน อำนาจล้นฟ้ามีก็ไม่ใช้ ถ้าจะอ้างเคารพกฎหมาย เคารพกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ต้องรัฐประหารเข้ามา)

ส่วนข้อ 5 เรื่องข้าราชการเกียร์ว่าง ล่าสุดได้เริ่มขยับแก้ไขแล้วด้วยการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช.

บางทีฝุ่นควันที่เริ่มตลบอบอวลอยู่นี้ อาจเป็นมายาคติที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "ล้มกระดาน" ก็เป็นได้