'Begin again'กับ 'สงครามดิจิทัล'

'Begin again'กับ 'สงครามดิจิทัล'

ภาพยนตร์รักเรื่อง Begin again โดยผู้กำกับ John Camey ที่เล่าเรื่องราวของพระนางต่างวัย

ผู้ซึ่งมีความรักร่วมกันในเสียงดนตรีความงามของการเล่าเรื่องไม่จำกัดเพียงแค่มิตรภาพ สถานที่ และความทรงจำที่มีต่อเสียงเพลงเท่านั้น หากยังสะท้อนความสัมพันธ์ของความเก่าใหม่ของต่างเจนเนอเรชั่น รวมถึงการพบปะกันทางวิธีคิดของฮิปสเตอร์วัยใสกับคนรุ่นเก่าอย่างกลุ่มยัปปี้และเจนเอ็กซ์ ทั้งนี้ด้วยความลงตัวของเรื่องราว บทสนทนา มุมภาพ และดนตรี ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังรักอีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จทำรายได้กว่า 60 ล้าน จากเงินลงทุนเพียงแค่ 8 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

แต่หากมองให้ลึกๆ หนังเรื่องนี้มีส่วนที่บอกเล่าเรื่องราวของโลกดิจิทัลกับการเปลี่ยนผ่านทั้งวิถีชีวิตผู้คน งานศิลปะ และอุตสาหกรรมคอนเทนต์ กล่าวคือการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่นอกจากจะสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงเนื้อหาและได้มันมาอย่างฟรีๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตแล้วในทางกลับกันมันก็ได้สั่นคลอนกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกลุ่มดั้งเดิม ซึ่งเคยผูกขาดอำนาจตลาดแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ในแพลตฟอร์มสื่อเก่าอย่างวิทยุและโทรทัศน์ จากการท้าทายของผู้เล่นรายใหม่ๆ ในโลกดิจิทัล ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมเพลง

หากใครยังจำกรณีของ Napster เว็บไซต์แชร์เพลงที่ประสบความสำเร็จแห่งแรกๆ ของโลก ซึ่งก่อตั้งโดย Sean Parker และ Shawn Fanning เด็กเกรียนผู้สร้างปรากฏการณ์ของการแบ่งปันดนตรีและปลุกกระแสการดาวน์โหลดฟรีให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเพลง จนได้ชื่อว่าเป็น “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ที่สามารถสั่นคลอนอุตสาหกรรมเพลงในยุคนั้น จนค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อดรนทนไม่ได้ ต้องกดดันสมาคมค่ายเพลงอเมริกา หรือ the Recording Industry Association of America - RIAA ให้ลุกขึ้นมาทำการฟ้องร้องต่อการละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อปี 1999 จนส่งผลให้เว็บไซต์แห่งนี้ต้องปิดตัวไปในปี 2001

อย่างไรก็ตาม แม้จะหยุดเด็กเกรียนได้หนึ่งคน แต่ในโลกออนไลน์ยังคงมีเด็กเกรียนอีกจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะลองของกับยักษ์ใหญ่ผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมรายเดิมๆ อย่างยากที่จะหยุดยั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะ Napster ได้สถาปนาวัฒนธรรมการแชร์เพลงแบบ Peer-to-peer ไว้อย่างมั่นคงในโลกออนไลน์ รอที่จะให้เด็กเกรียนคนอื่น ๆ มาสืบสานภารกิจต่อไป

แต่แน่นอนว่าวิกฤติกับโอกาสย่อมเป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่มาคู่กัน แม้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่กลุ่มเดิมๆ ผู้ควบคุมศิลปินจะมียอดขายที่ลดลง แต่ยอดการทำเงินของร้านขายเพลงดิจิทัลอย่าง iTunes Store ของค่ายแอปเปิล ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการผลิตเพลงกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากสถิติที่ระบุใน IFPI องค์กรซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้ระบุว่า ในรอบสิบปีนับตั้งแต่มีปรากฏการณ์ Napster เป็นต้นมา รายรับจากการขายเพลงในสหรัฐอเมริกาลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง คือจาก 14.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 1999 เหลือเพียง 6.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2009 โดยเฉพาะยอดขายที่ลดลงของแผ่นซีดี เทปคาสเซ็ท รวมถึงแผ่นไวนิล ที่ผู้บริโภคต้องออกไปซื้อหาตามร้านรวง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นถึงการปิดตัวของร้านขายซีดี ซึ่งมีมาเป็นระลอก โดยจากปี 1991 ที่กระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกากว่า 9,500 แห่ง ลดลงเหลือเพียง 2,000 แห่งในปี 2006 ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการประกาศล้มละลายของ Tower record ในปี 2004 และการปิดตัวของร้าน Virgin Record ที่ไทม์สแควร์เมื่อปี 2009 อีกด้วยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะดาวน์โหลดออนไลน์มากกว่าซื้อซีดีตามร้าน

จากสถิติในปี 2013 ระบุให้เห็นว่า รายรับของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกมีสัดส่วนของการทำเงินหลักๆ ที่แม้กว่า 51% อยู่ที่การขายซีดีตามร้านรวงอยู่ก็ตาม แต่การขายเพลงผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดได้ผ่านร้านออนไลน์ โดยเฉพาะจาก iTune มียอดทำเงินสูงกว่า 39% ในขณะที่อีก 7% มาจากรายได้จากการแสดงและออกคอนเสิร์ต และ 2% มาจากรายได้อื่นๆ เช่น ลิขสิทธิ์ของการใช้เพลงไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการใช้ประกอบโฆษณาทีวีหรืองานอีเวนท์ เป็นต้น

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อปี 2013 บิลบอร์ดได้รายงานถึงยอดรายได้จากการดาวน์โหลดเพลงผ่าน iTune store ที่ลดลงจากปีก่อน ๆ ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดร้านมา อันเป็นผลเนื่องมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มหันไปฟังเพลงด้วยระบบการบอกรับสมาชิกที่มากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “Music streaming” ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ที่ขับเคี่ยวกันอยู่สองราย คือ Spotify และ Deezer โดยขณะนี้ Youtube กับ Beats Music ก็จะเป็นอีกรายหนึ่งที่กำลังจะกระโจนเข้ามาร่วมแชร์ตลาดสตรีมมิ่งกับเค้าด้วย โดยการแข่งขันครั้งนี้ดูจะขับเคี่ยวกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการด้านแพลตฟอร์มสื่อ

เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน อุตสาหกรรมเปลี่ยน รูปแบบการหาเงินก็เปลี่ยนตาม โดยสงครามดิจิทัลยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดซึ่งแม้จะดูเหมือนมีผู้เล่นมากขึ้น คำถามคือ ศิลปินผู้ผลิตคอนเทนต์ได้หรือเสียในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ จากภาพยนตร์เรื่อง Begin again พยายามจะชี้ให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของพฤติกรรมในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อตัดทอนคนกลางที่ตักตวงค่าหัวคิวจากศิลปิน โดยจบเรื่องในแบบแฮปปี้เอนดิ้งให้คนรุ่นเก่าๆ ต้องปรับตัวกับโอกาสของโลกดิจิทัลที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งพร้อมจะให้พื้นที่กับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของคนตัวเล็กตัวน้อยเสมอ โดยทิ้งท้ายบอกเราว่าทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ