คิดก่อนยกเครื่องเรื่องเลือกตั้ง

คิดก่อนยกเครื่องเรื่องเลือกตั้ง

หลังจากเสียงส่วนใหญ่ของ "คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ" ให้ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง"

(กกต.) ทำหน้าที่เฉพาะควบคุมการเลือกตั้ง ส่วนกระบวนการจัดการเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจ วินิจฉัยให้จัดการเลือกตั้งใหม่ หรือการให้ใบเหลืองได้ หากเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่สุจริต ส่วนการเพิกถอนสิทธิหรือให้ใบแดงเป็นอำนาจของศาล

เรื่องนี้มีเสียงตอบรับบางส่วน แต่ในมุมมองของ "นักการเมือง" และ "อดีตนักจัดการเลือกตั้ง" เห็นว่าหากเรื่องนี้เป็นมติและบรรจุลงในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าการเลือกตั้งในอนาคตจะมีปัญหาและเกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน!

ที่สำคัญยังมองหาสาเหตุใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ไปรับผิดชอบแทน กกต. เพราะหากย้อนอดีตการทำงานของ " 5 กกต." ที่ผ่านมายังไม่พบการ "ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด" จนทำให้ต้องแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานอื่นมารับหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน

หากสุดท้ายต้องแก้ไขให้ "กระทรวงมหาดไทย" กับ "กระทรวงศึกษาธิการ" เข้ามาจัดการเลือกตั้งจริงในอนาคต "กระทรวงมหาดไทย" และ "กระทรวงศึกษาธิการ" มีรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคการเมือง เข้ามากำกับดูแลการเลือกตั้งจะเกิดคำถามในเรื่อง "ความน่าเชื่อถือและการยอมรับ" ในการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ขณะที่การจัดการเลือกตั้งโดย "5 กกต." น่าจะได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะไม่มีภาพของการสังกัดพรรคการเมือง หรือการมีส่วนได้-เสีย หลังการเลือกตั้ง

หากย้อนดูการทำหน้าที่ของ กกต.ที่ผ่านมาตั้งแต่ประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 "กกต." รุ่นแรก มีเสียงตอบรับการทำหน้าที่จนเป็นที่มาของฉายา "5 เสือ กกต." นักการเมืองในขณะนั้นหวั่นเกรงการทำหน้าที่ของ กกต.ชุดแรกอย่างมาก และผลการเลือกตั้งออกมาต่างให้การยอมรับ

ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการ "รัฐประหาร" รัฐบาล"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จนในที่สุดได้มีการจัดการเลือกตั้งส.ส. ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กกต.จึงมีบทบาทในฐานะ เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด แม้ว่าขณะนั้นจะมีเสียงเรียกร้องจากต่างประเทศ จะขอเข้ามาเป็นคนกลางและจัดการเลือกตั้งให้ เพราะไม่มั่นใจว่า การเลือกตั้งจะได้รับการยอมรับและมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ในที่สุดกกต.ก็ยังคงเป็นผู้จัดการเลือกตั้งต่อไป และหลังการเลือกตั้งทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่ง "สมัคร สุนทรเวช" ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี

จนกระทั่งเกิดการชุมนุมทางการเมือง ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาและจัดให้เลือกตั้งใหม่ กกต.ก็ยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอีกครั้ง และ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จากพรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายใด แม้กระทั่งต่างชาติก็ยังยอมรับ

แสดงให้เห็นว่า การทำหน้าที่ของ "กกต." ในการจัดการเลือกตั้งไม่มีปัญหา แต่ต่อมาเมื่อมีการชุมนุมประท้วง และจัดการเลือกตั้งใหม่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีผู้ชุมนุมปิดหน่วยรับสมัครเลือกตั้ง และปิดหน่วยลงคะแนน จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นดำเนินต่อไปไม่ได้

หากจะนำปัญหาการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 มาเป็นสาเหตุใหญ่ในการแก้ไขกฎหมาย การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ใหม่ให้ตรึกตรองดูว่าผลที่ออกมาคุ้มค่าหรือไม่?