เงินเฟ้อต่ำ.. งานเข้าแบงก์ชาติ!

เงินเฟ้อต่ำ.. งานเข้าแบงก์ชาติ!

ดูเหมือนว่า “สถานการณ์” จะไม่ค่อยเป็นใจให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ”

หันมาใช้ เงินเฟ้อทั่วไปเป็นกรอบในการดำเนิน นโยบายการเงิน แทน เงินเฟ้อพื้นฐาน มากนัก เพราะหลายปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไป แม้จะแกว่งตัวบ้าง แต่ก็ไม่ผันผวนรุนแรงเท่าสถานการณ์ในปัจจุบัน

ก่อนอื่นขอเท้าความนิดนึงว่า ..เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติมีความพยายามที่จะขอรัฐบาล (ชุดที่แล้ว) ใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน แทนเงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะมองว่าง่ายต่อการทำความเข้าใจกับสาธารณชนมากกว่า เพียงแต่รัฐบาลชุดนั้น ซึ่งมีคุณกิตติรัตน์ ณ ระนองนั่งเป็น รมว.คลัง อยู่ ไม่อนุมัติ ด้วยเกรงว่า จะเป็นการสร้างความสับสนแทน

มารัฐบาลชุดนี้ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นมา มีคุณสมหมาย ภาษีนั่งเป็น รมว.คลัง ซึ่งคุณสมหมาย ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็น “close friend” กับทางแบงก์ชาติ ทำให้ตลาดคาดการณ์กันว่า รัฐบาลชุดนี้ น่าจะอนุมัติให้แบงก์ชาติ เปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน โดยหันมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมายแทนได้

แต่ทว่า ตัวเลข เงินเฟ้อทั่วไป ของเดือนพ..2557 ที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งจะประกาศออกมาไม่นานนี้ มีอัตราการเติบโตที่ต่ำแค่ 1.26% เป็นการขยายตัวที่ลดลงต่อเนื่อง 6 เดือนติดกัน และยังเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ..ที่สำคัญเป็นตัวเลขซึ่งต่ำกว่ากรอบนโยบายการเงินใหม่ ที่ แบงก์ชาติ เสนอให้รัฐบาลพิจารณาด้วย

กรอบนโยบายการเงินใหม่ที่แบงก์ชาติเสนอไป เป็นการขอใช้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปโดยมีค่ากลางที่ 3% บวก ลบ ไม่เกิน 1.5% พูดให้ง่าย คือกรอบบนไม่เกิน 4.5% และกรอบล่างไม่ต่ำกว่า 1.5% โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิมที่ใช้เงินเฟ้อพื้นฐาน ค่าเฉลี่ยรายไตรมาส โดยมีกรอบอยู่ที่ 0.5-3%

ดังนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุด จึงต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่แบบหลุดลุ่ย แม้ว่าจะยังไม่ทันได้เริ่มใช้ก็ตาม!

แบงก์ชาติอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำกว่ากรอบล่างของนโยบายการเงินใหม่นั้น เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว โดยกรอบใหม่ที่แบงก์ชาติเสนอเป็นการใช้ค่าเฉลี่ยรายปี ซึ่งแบงก์ชาติมองว่าไตรมาสแรกปีหน้า เงินเฟ้อทั่วไปอาจทรงตัวในระดับต่ำ แต่หลังจากนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งปีจึงไม่น่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้

แต่ถึงแม้เงินเฟ้อจะหลุดจากกรอบเป้าหมายจริง ก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ โดยคุณจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยาโฆษกแบงก์ชาติ บอกว่า เงินเฟ้อที่ต่ำลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากอุปทานน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ในเชิงการทำนโยบายถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่ไม่ใช่ประเด็นที่จะไปกำหนดนโยบายการเงิน เพราะนโยบายการเงิน หน้าที่หลัก คือ การดูแลด้านอุปสงค์ ไม่สามารถดูแลด้านอุปทานได้

คำตอบนี้.. ทำให้เข้าใจได้ว่า ถ้าน้ำมันทำให้เงินเฟ้ออ่อนตัวลง ในขณะที่อุปสงค์หรืออำนาจซื้อของประชาชนไม่ได้อ่อนตาม ดอกเบี้ยนโยบายก็จะไม่แอ็คชั่นเพื่อตอบสนอง แล้วหันไปใช้วิธีอธิบายกับสาธารณชนให้เข้าใจถึงสาเหตุที่เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมายแทน เพื่อลดการคาดหวังว่าแบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง

เพียงแต่ผมก็อดห่วงไม่ได้ว่า.. สาธารณชนอาจย้อนถามกลับว่า แล้วทำไมแบงก์ชาติไม่ใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเหมือนเช่นเดิม.. เพราะไม่รวมราคาพลังงาน ทั้งยังไม่สร้างความสับสนให้สาธารณชนด้วย!