ยุติความล่าช้าในการขายทอดตลาด?

ยุติความล่าช้าในการขายทอดตลาด?

ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “ฟ้องคดีชนะก็ได้เพียงกระดาษ (คำพิพากษา) แผ่นเดียว”

ทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า กระบวนการบังคับคดีของเรายังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลานาน ซึ่งบางครั้งจะทำให้บรรดาเจ้าหนี้มีอาการถอดใจได้ เนื่องจากต้องพิจารณาหลายปัจจัยในการที่จะดำเนินคดีกับลูกหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนวณระยะเวลาขั้นตอนในการบังคับคดี (หากเจ้าหนี้ชนะคดีแล้ว) ท้ายที่สุดเจ้าหนี้ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า เมื่อไรตนจะได้รับเงินจากการขายทอดตลาดเพื่อนำมาชำระหนี้หลังจากมีการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้

เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ผู้เขียนขออธิบายขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประเด็นการบังคับคดี กล่าวคือ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี (สังกัดกรมบังคับคดี) ได้มีการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว (เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อาจยึดเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายประเภท แต่ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อาจถูกยึดเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาด คือ ที่ดินและ/หรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน) ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องยื่นคำขอต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาด และตามมาตรา 308 ป. วิแพ่ง ได้ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจขายทรัพย์สินที่ยึดได้เมื่อพ้นระยะเวลาอย่างน้อย 5 วัน นับแต่วันยึด การขายนั้นให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงและตามข้อกำหนดของศาลซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์นั้น (หากมี)

โดยเมื่อประมาณกลางปี 2554 ได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. 2554 (กฎกระทรวงปี 2554) ซึ่งถือว่าเป็นกฎกระทรวงฉบับแรกที่ออกตามมาตรา 308 เพื่อให้การขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งในกฎกระทรวงปี 2554 ได้กำหนดกระบวนการต่างๆ ซึ่งรวมถึงลักษณะการประกาศขายทอดตลาด การกำหนดราคาเริ่มต้น และการประกาศขายทอดตลาด การเสนอราคา ตลอดจนขั้นตอนในวัน/เวลาที่ทำการขายทอดตลาดจริง เป็นต้น

หลังจากได้มีการใช้บังคับตามกฎกระทรวงปี 2554 ได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่ามีปัญหาและอุปสรรคต่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อาทิเช่น การกำหนดหลักเกณฑ์การวางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาไม่เหมาะสม ประกอบกับไม่มีมาตรการสำหรับผู้เสนอราคาสูงสุดที่ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ จึงทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการขายทอดตลาด ดังนั้นต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาของกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 (กฎกระทรวงปี 2557) ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นที่มีการแก้ไขจากกฎกระทรวงปี 2554 ในประเด็นที่สำคัญซึ่งระบุไว้ในข้อ 16 โดยสรุปดังนี้

1. เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องกำหนดให้ผู้เข้าเสนอราคาวางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคา โดยพิจารณาจากราคาประเมินทรัพย์ซึ่งจะต้องนำไปกำหนดเป็นราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาด ตามประกาศคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้นและราคาที่สมควรขายในการขายทอดตลาด (คณะกรรมการดังกล่าวตั้งขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555) ทั้งนี้ตามกฎกระทรวงปี 2554 เพียงแต่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องกำหนดให้ผู้เข้าเสนอราคาวางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาตามราคาเริ่มต้น

2. มีการเพิ่มจำนวนเงินหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาในเงื่อนไขที่เหมาะสมมากขึ้น กล่าวคือ

2.1 ทรัพย์ราคาไม่เกิน 5 แสนบาท ให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีหรือหัวหน้าสำนักงานบังคับคดีส่วนย่อยใช้ดุลพินิจกำหนดให้วางหลักประกันตามที่สมควร แต่ควรมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของราคาประเมิน

2.2 ทรัพย์ราคาเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 5 หมื่นบาท

2.3 ทรัพย์ราคาเกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 2.5 แสนบาท

2.4 ทรัพย์ราคาเกิน 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 5 แสนบาท

2.5 ทรัพย์ราคาเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามกฎกระทรวงปี 2554 ได้กำหนดกรณีที่มีราคาเริ่มต้นไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้วางหลักประกันร้อยละ 5

2.6 ทรัพย์ราคาเกิน 20 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 2.5 ล้านบาท

2.7 ทรัพย์ราคาเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามกฎกระทรวงปี 2554 ได้กำหนดกรณีที่มีราคาเริ่มต้นไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้วางหลักประกันร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท

2.8 ทรัพย์ราคาเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้วางหลักประกัน 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามกฎกระทรวงปี 2554 ได้กำหนดกรณีที่มีราคาเริ่มต้นเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ให้วางหลักประกันร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท

2.9 ทรัพย์ราคาเกิน 200 ล้านบาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเสนออธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณากำหนด

จากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการวางหลักประกันอาจจะพิจารณาได้ว่า เป็นการพิจารณาผู้เข้าเสนอราคาที่มีความประสงค์ในการที่จะซื้อทรัพย์สินจริงเนื่องจากการกำหนดหลักประกันที่มากขึ้นตามขั้นของราคาทรัพย์ที่จะมีการขายทอดตลาด ซึ่งผลดีอาจพิจารณาได้ว่าทำให้ได้ผู้ที่ต้องการซื้อทรัพย์สินจริงและมีเงินวางมัดจำในจำนวนที่เหมาะสมกับราคาทรัพย์สิน เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้วเมื่อผู้เสนอราคาสูงสุดก็ให้ถือว่าหลักประกันนั้นเป็นมัดจำและเป็นการชำระราคาบางส่วนของผู้เสนอซื้อราคาสูงสุด ซึ่งข้อที่อาจพึงระวังคือ อาจจะเป็นการตัดจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อทรัพย์ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะขาดสภาพคล่องในการหาหลักประกัน แต่อาจจะต้องการใช้ทรัพย์สินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดในการขอสินเชื่อจากธนาคาร อาทิเช่น

หากทรัพย์สินราคา 110 ล้านบาท ตามกฎกระทรวงปี 2554 ก็ต้องวางประกันในจำนวนสูงสุดคือ ไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันตามกฎกระทรวงปี 2557 จะต้องวางประกันถึง 10 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นการแก้ปัญหาการที่ผู้เสนอราคาสูงสุดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องจัดให้มีการขายทอดตลาดครั้งใหม่ต่อไป คราวหน้าผู้เขียนจะนำเสนอสาระสำคัญของกฎกระทรวงปี 2557 ในส่วนที่มีการแก้ไขเพื่อขจัดอุปสรรคจากการที่ผู้เสนอราคาสูงสุดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ ว่าจะมีผลยุติความล่าช้าในการบังคับคดีจากการขายทอดตลาดได้จริงหรือไม่ อย่างไร

พบกันใหม่ในคราวหน้าค่ะ