ถึงเวลาค้าปลีกอินเดียหนีเมืองใหญ่ไปยึดเมืองรอง

ถึงเวลาค้าปลีกอินเดียหนีเมืองใหญ่ไปยึดเมืองรอง

พูดถึงเรื่องค้าปลีกของอินเดียแล้วต้องบอกว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ

เพราะนอกจากจะเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ด้วยขนาดตลาดค้าปลีกรวมที่คาดว่าจะมีมูลค่าพุ่งไปถึง 32.8 ล้านล้านรูปีในปี 2557 แล้ว (ประมาณ 16-17 ล้านล้านบาท) ธุรกิจค้าปลีกของอินเดียก็มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมากขึ้นของร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่จากที่เคยอยู่ในสัดส่วน 5% ปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ 8% ในขณะที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมลดสัดส่วนลงจาก 95% มาอยู่ใน 92% นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของนโยบายการเปิดเสรีค้าปลีกที่อนุญาตให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติเข้าไปลงทุนได้มากขึ้น ทั้งแบบแบรนด์เดี่ยวและแบบหลากหลายแบรนด์ ล่าสุดมีข่าวว่า IKEA ยักษ์ใหญ่เฟอร์นิเจอร์จากสวีเดนก็มีแผนที่จะเปิดธุรกิจค้าปลีกแบบแบรนด์เดี่ยวในอินเดีย โดยคาดว่าจะเริ่มที่เมืองไฮเดอราบาดก่อน

ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติยังเข้าตลาดอินเดียไม่สำเร็จ ธุรกิจค้าปลีกเจ้าถิ่นของอินเดียเองก็มีการปรับตัวกันอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน โดยปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกของอินเดียเริ่มปรับยุทธศาสตร์การตลาดกันใหม่ด้วยการเล็งที่จะขยายตลาดเข้าไปในเมืองรองของอินเดียมากขึ้น เพราะการแข่งขันในเมืองใหญ่ของอินเดียเองเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนค่าเช่าก็แพงขึ้น ในขณะที่จำนวนนักช้อปในเมืองใหญ่ก็เริ่มลดลง โดยบางส่วนเริ่มหันไปช้อปออนไลน์มากขึ้น ทำให้ร้านค้าปลีกที่อยู่ตามศูนย์การค้าในเมืองใหญ่อย่างมุมไบ เดลีและปริมณฑล เจนไน บังคาลอร์ และกอลกัตตา ถึง 1 ใน 3 ได้ทยอยกันย้ายออกไปเปิดร้านในเมืองรองของอินเดียกันแล้ว

เมืองรองของอินเดียคือเมืองอะไรกันแน่ อันนี้เป็นผลมาจากการแบ่งกลุ่มเมืองของรัฐบาลอินเดียซึ่งปัจจุบันได้แบ่งอย่างกว้างๆ ออกเป็น 3 กลุ่มคือ เมืองหลัก (Tier-I Cities) ซึ่งก็คือเมืองใหญ่ของอินเดีย ปัจจุบันมีอยู่ 6 เมืองคือ เดลี มุมไบ บังคาลอร์ ไฮเดอราบาด เจนไน และกอลกัตตา กลุ่มที่สองก็คือ เมืองรองที่มีขนาดเล็กถัดลงไปจากเมืองใหญ่เรียกว่า Tier-II Cities ซึ่งมีอยู่ 35 เมือง เช่น ปูเน่ สุราต อักรา อินดอร์ ชัยปุระ กานปุระ นากปุระ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่สามก็คือ เมืองรองที่เหลือที่มีขนาดเล็กกว่าสองกลุ่มแรกเรียกว่า Tier-III Cities และเมืองรองสองกลุ่มหลังนี่แหละครับที่ธุรกิจค้าปลีกของอินเดียมองเห็นโอกาสและเริ่มขยับขยายเข้าไปเปิดร้านค้าปลีกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดนี้กันแล้ว

อย่างที่เรียนในตอนต้นแล้วว่าตลาดในเมืองหลักของอินเดียเริ่มอิ่มตัวเนื่องจากแต่เดิมธุรกิจค้าปลีกต่างก็มุ่งมาที่ตลาดนี้กันทั้งหมดเพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปแล้วเพราะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับค่าเช่าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในเมืองหลักหรือเมืองใหญ่ๆ ก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้ธุรกิจค้าปลีกหลายรายเริ่มหันไปหาตลาดในเมืองรองกันมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงเมืองในกลุ่มTier-II และ Tier III ที่ได้กลายมาเป็นความหวังใหม่ของธุรกิจค้าปลีกของอินเดีย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าประชากรหรือผู้บริโภคในเมืองรองดังกล่าวได้เปลี่ยนไปจากอดีตแล้วอย่างสิ้นเชิงด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น ประชากรสตรีทำงานนอกบ้านมากขึ้น ได้รับอิทธิพลตะวันตกจากสื่อต่างๆ มากขึ้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้นักช้อปในตลาดเมืองรองมีรสนิยมในการบริโภคสินค้าที่เปลี่ยนไปโดยมีความต้องการสินค้าที่หรูหราฟุ่มเฟือยมากขึ้นและที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ ยอดจำหน่ายรถยนต์หรูหราราคาแพงในเมืองรองกลับสูงกว่าในเมืองหลักและนักช้อปในเมืองเล็กซึ่งมีค่าครองชีพต่ำกว่ากลับยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่านักช้อปในเมืองหลักเสียอีก ทั้งนี้ จากการสำรวจของสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งอินเดียหรือ Assocham พบว่าตลาดค้าปลีกในเมืองรองของอินเดียเติบโตอยู่ในอัตราสูงโดยในปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 3.5 แสนล้านรูปีหรือประมาณ 1.75 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตมีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 4.88 ล้านล้านรูปีหรือประมาณ 2.44 ล้านล้านบาทในปี 2569 เลยทีเดียว

จากการศึกษาของหลายสถาบันต่างยืนยันตรงกันว่าคนชั้นกลางของอินเดียที่มีกำลังซื้อสูงทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 350-400 ล้านคน และประมาณ 100 ล้านคนเป็นคนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองรองในกลุ่มเมือง Tier II และ Tier III ซึ่งคนกลุ่มนี้เองที่มีความต้องการจะจับจ่ายใช้สอยเกี่ยวกับอาหาร การช้อปปิ้ง และความบันเทิงเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ที่อาศัยอยู่ในเมืองรองต้องลงทุนเดินทางเข้าเมืองใหญ่เพื่อจับจ่ายใช้สอยสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยเหมือนกับคนในเมืองใหญ่ทุกประการ แต่ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกกำลังจะเป็นฝ่ายเดินย้อนกลับเข้าไปหาคนกลุ่มนี้ในเมืองรองแทนเพราะมองเห็นศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยของคนกลุ่มนี้

ประเด็นเกี่ยวกับค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกสำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจากศักยภาพของกลุ่มผู้บริโภคในเมืองรองที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของอินเดียเริ่มทยอยกันออกไปขยายกิจการในเมืองรองมากขึ้น โดยอัตราค่าเช่าพื้นที่ในเมืองรองจะถูกกว่าในเมืองหลักประมาณ 30% ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกเฉลี่ยสำหรับพื้นที่ชั้นล่างของอาคารในเมืองรองจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 รูปีต่อตารางฟุต ในขณะที่พื้นที่ลักษณะเดียวกันในเมืองหลักหรือเมืองใหญ่ของอินเดียจะอยู่ที่ประมาณ 100-120 รูปีต่อตารางฟุต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ในเมืองรองจะถูกกว่า แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ รายได้จากการขายต่อตารางฟุต (Retail Sales Density) ในเมืองรองยังคงต่ำกว่าในเมืองหลักอยู่ ซึ่งจากการศึกษาของ Assocham พบว่ารายได้จากการขายต่อตารางฟุตของธุรกิจค้าปลีกในเมืองรองในกลุ่ม Tier II จะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 รูปีต่อตารางฟุต ในขณะที่ในเมืองหลักจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 รูปีต่อตารางฟุต และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ นักช้อปในเมืองรองที่มีกำลังซื้อสูงยังคงอยู่กันกระจัดกระจายในเมืองเล็กๆ ประมาณ 8,000 เมืองและใน 6.3 แสนหมู่บ้านทั่วประเทศอินเดีย อันนี้เป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกที่จะหันมาเล่นในตลาดเมืองรองแทนเมืองหลักว่าทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในการเข้าตลาดนี้ได้ เพราะแม้ว่าต้นทุนในการประกอบธุรกิจในเมืองรองจะต่ำกว่าในเมืองหลัก แต่ยอดขายและกำไรในเมืองรองก็ต่ำกว่าด้วย

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจะต้องสามารถกำหนดพื้นที่ให้ได้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตนอยู่ที่ไหนเพื่อที่จะได้วางเครือข่ายกระจายสินค้าได้ถูกต้องและตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น จะต้องปรับตัวสินค้า บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งราคาให้เหมาะสมกับตลาดเมืองรองอีกด้วย เพราะถึงอย่างไร นักช้อปในเมืองรองก็ยังคงมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับสินค้าไม่เท่ากับนักช้อปในเมืองใหญ่อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม มาถึงนาทีนี้ธุรกิจค้าปลีกในอินเดียต่างก็มุ่งหน้าไปยึดหัวหาดเมืองรองกันหมดแล้วอย่าง Domono’s Pizza ถือเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเจ้าแรกที่บุกเข้าไปขยายสาขาในเมืองเล็ก แถมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยสาขาที่มียอดขายสูงที่สุดเป็นอันดับที่สองในประเทศอินเดียก็อยู่ในเมืองรองในกลุ่ม Tier II ที่เมืองกานปุระ ในรัฐอุตตรประเทศ หรืออย่าง Pizza Hut ก็ไม่น้อยหน้า โดยขณะนี้ได้ขยายสาขาเข้าไปในเมืองรองในกลุ่ม Tier II เป็นจำนวนหลายเมืองแล้วและคาดว่ายอดขายของสาขาในเมืองรองจะขยายตัวถึง 20% นอกจากนั้น ก็ยังมีกลุ่มบริษัท Reliance ที่หันมาเปิดธุรกิจค้าปลีกและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยมุ่งขยายสาขาเข้าไปในเมืองรองจำนวนมากด้วยเหตุผลด้านค่าเช่าพื้นที่ที่ถูกกว่าในเมืองหลัก ขณะนี้ก็กำลังเล็งที่จะขยายเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ตเข้าไปในเมืองอาห์เมดาบาดในรัฐคุชราต หลังจากประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในเมืองไฮเดอราบาดในรัฐอานธรประเทศมาแล้ว

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกในอินเดียจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของตลาดที่กำลังเติบโตแบบที่หาไม่ได้ง่ายนักในตลาดอื่นในปัจจุบัน พูดง่ายๆ ก็คือ นาทีนี้ถ้าจะหา “Growth” ก็ต้องมาที่อินเดียนี่แหละครับ