เมื่อรัฐมนตรีคลังทุ่มงบท้าทายความเสี่ยง

เมื่อรัฐมนตรีคลังทุ่มงบท้าทายความเสี่ยง

รัฐมนตรีคลัง สมหมาย ภาษี บอกกับนักข่าวว่า เขามีความตั้งใจที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2559

ที่ต้องเริ่มพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือนมกราคม 2558 ในลักษณะที่ขาดดุลต่อเนื่องและจะมากกว่าปีงบประมาณ 2558 โดยอาจขาดดุลถึง 3 แสนล้านบาท จาก 2.5 แสนล้านบาทในปีงบ 2558 และ ยืนยันระดับหนี้สาธารณะรองรับความเสี่ยงได้

ส่วนวงเงินงบประมาณนั้น ก็จะสูงกว่าปีงบ 2558 อีกกว่า 12-13% หรืออยู่ที่ 2.88 ล้านล้านบาท แน่นอนว่า จะมาจากการกู้เงินจำนวน 3 แสนล้านบาท อีกส่วนหนึ่ง เขาคาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่รัฐบาลกำลังปรับ ทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เมื่อจัดเก็บจะได้มากกว่าภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ 6-7 เท่า จากปัจจุบันจัดเก็บได้ราวปีละ 2 หมื่นล้านบาท และ ที่สำคัญ จะมาจากการทยอยปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ระยะแรกจะปรับในจำนวน 1% โดยคาดหวังรายได้เพิ่ม 4-7 หมื่นล้านบาทต่อปี

รัฐมนตรีคลังให้เหตุผลของการทำงบประมาณดังกล่าวว่า เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการทางสังคมได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ตั้งเป้าหมายว่า จะทำแบบสมดุลในปี 2560 ก็จะยืดระยะเวลาออกไป คำถาม คือ สมมติฐานด้านรายได้ที่จะมากขึ้นนั้น จะเป็นดังที่รัฐมนตรีคลังคาดไว้หรือไม่ และจะเกิดอะไรขึ้น หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามคาด

หากรัฐบาลยืนยันจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ นอกจากรายได้จะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว การจัดเก็บอาจน้อยลงด้วยซ้ำ เพราะเมื่อราคาสินค้าจะแพงขึ้นตามการขึ้นภาษีดังกล่าว การจับจ่ายใช้สอยจะน้อยลง เมื่อการใช้จ่ายน้อย ภาคการผลิตก็จะไม่ผลิตเพิ่ม ขณะที่ ค่าแรงที่อาจปรับตามค่าครองชีพที่สูง ก็ยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิต สุดท้ายก็จะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีอื่นๆ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมองจีดีพีปีหน้า คาดจะโตเฉลี่ย 4% ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรโตได้ราว 4.5% หากเฉลี่ยรวมกับปีนี้ที่โตเฉลี่ย 1% กว่าๆ ก็จะสะท้อนการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแบบเปราะบาง จะส่งออกได้น้อยลง ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนตามนโยบายการเงินของประเทศ ที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ใช้แบบสวนทางกัน จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เมื่อบวกกับการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจน การคาดการณ์รายได้ก็อยู่บนความเสี่ยงเหล่านี้

ส่วนความคาดหวังที่จะจัดเก็บรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ยังเป็นเพียงประเด็นคาดหมาย เพราะกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้และกว่าที่จะบังคับใช้จริงก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมการ เพราะต้องรอการประเมินราคาที่รายแปลงให้ครบ 32 ล้านแปลง จากปัจจุบันทำได้แค่ 8 ล้านแปลงทั่วประเทศเท่านั้น อย่างน้อยต้องใช้เวลาราว 1-2 ปี กว่าจะประเมินได้ทั้งหมด ทั้งยังไม่ทราบอัตราจัดเก็บที่แน่ชัดว่า จะอยู่ในระดับใดในระยะแรก รวมถึง ผลกระทบที่จะเกิดต่อธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐมนตรีคลังออกมาบอกถึงความตั้งใจดังกล่าว นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ก็พร้อมเผชิญกับความเสี่ยงที่ท้าทายข้างต้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและภาระการคลังที่จะเพิ่มขึ้นหากจัดเก็บพลาดเป้า โดยทุ่มงบประมาณที่ดูจะเป็นความหวังเดียวเข้าไปอัดฉีด เพื่อดึงให้เศรษฐกิจฟื้นตัว