การศึกษาไทยควร 'เรียน' แบบจีนไหม?

การศึกษาไทยควร 'เรียน' แบบจีนไหม?

การปฏิรูปการศึกษา ต้องพยายามแก้ที่สภาพและค่านิยมของสังคมด้วย ไม่ใช่แก้ที่ตัวระบบการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว

วันนี้ผมขอชวนคุยเรื่องการศึกษาจีนเพื่อสื่อสารถึงเพื่อนนักปฏิรูปชาวไทยที่อาจยังสับสนว่าปัญหาของการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน และเราควรให้เด็กไทย “เรียน” แบบจีนดีไหม?

การศึกษาจีนนี่ต้องมีของดีนะครับ เปิดประเทศเพียง 30 กว่าปี สามารถพัฒนาจากที่ยากจนข้นแค้นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ในการสอบวัดผลนานาชาติ PISA คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในเมืองเซี่ยงไฮ้ก็มาเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ถ้าท่านลองไปสุ่มถามชาวจีนว่าคิดอย่างไรกับการศึกษาจีน กลับจะพบแต่เสียงก่นด่าความเห็นทั่วไปก็คือ การศึกษาจีนเน้นการเรียนเพื่อสอบ ไม่ใช่การเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเด็ก กลายเป็นระบบที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้ความเครียด ความกดดัน การสูญเสียวัยเด็กทั้งหมดไปในห้องเรียน (ทั้งในและนอกเวลา) และห้องสอบ (ทั้งที่จริงและฝึกเตรียม)

ตอนนี้หนังสือชื่อ “ชำแหละโรคร้ายการศึกษาจีน” เขียนโดย ศาสตราจารย์เจิ้งเหย่ฟู แห่ง ม.ปักกิ่ง กำลังขึ้นแท่นติดอันดับหนังสือขายดีในประเทศจีน (แซงหน้าหนังสือสุนทรพจน์เรื่องการศึกษาของอดีตนายกฯ เวินเจียเป่า ไปแล้ว) ศ.เจิ้ง วิเคราะห์ว่านโยบายของรัฐบาลจีนที่เน้นให้ครูทั่วประเทศเปลี่ยนจาก “การสอนเพื่อเตรียมสอบ” มาเป็น “การสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพ” นั้น ฟังดูแสนดี แต่ไม่ได้แก้ที่รากเหง้าของปัญหาจริงๆ

การสอน (และเรียน) เพื่อสอบ เป็นอาการของโรค แต่สาเหตุที่แท้จริงของโรคนั้น อยู่ที่สภาพและค่านิยมของสังคมซึ่งส่งผลให้การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยของจีนนั้นดุเดือดเกินไปการสอบครั้งเดียวตัดสินชะตาชีวิตของเด็กทั้งชีวิต ส่งผลให้การเรียนประถมและมัธยม 12 ปี ต้องเน้นการท่องจำอย่างหนักหนาสาหัสเพื่อเตรียมตัวเข้าสนามสอบเพียงวันเดียว

ทั้งหมดนี้ก็เพราะสภาพสังคมจีนยังเป็นสังคมพีระมิดที่มีความไม่เท่าเทียมสูง มีแต่คนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จึงจะมีโอกาสขึ้นสู่ยอดพีระมิด คนที่เลือกเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะหรือคนที่สอบตกกลายเป็นคนที่อยู่ในส่วนฐานล่างสุดของพีระมิด มีจำนวนมาก และรายได้ต่ำ แตกต่างจากสังคมเยอรมัน ซึ่งคนที่เลือกเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะสุดท้ายก็สามารถหางานที่มีรายได้ดีได้ เพราะจบออกมามีทักษะสูง กลายเป็นชนชั้นกลางที่เป็นกลจักรขับเคลื่อนสังคมอุตสาหกรรมของเยอรมัน

ศ.เจิ้ง เสนอให้จีนเดินตามเยอรมัน โดยแบ่งเด็กตั้งแต่จบชั้นประถมเป็นสองพวก คือพวกที่เหมาะกับการเรียนสายสามัญ กับพวกที่เหมาะกับสายอาชีพหลักคิดพื้นฐานก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับการเรียนสายวิชาการ เด็กที่รู้ว่าตนเองไม่เหมาะกับการเรียนวิชาการในระดับสูง และสนใจสายอาชีพมากกว่า ก็สามารถพัฒนาศักยภาพและทักษะทางอาชีพของตนอย่างเต็มที่ตั้งแต่ช่วงมัธยม โรงเรียนอาชีวะของเยอรมันเริ่มตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นและมีคุณภาพสูงมาก เพราะรัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชน ให้นักเรียนอาชีวะมีโอกาสฝึกงานจริง โดยถือเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตร สุดท้ายเด็กที่จบจากโรงเรียนอาชีวะออกมามีรายได้ที่ดี สังคมยอมรับ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ทันที

ถ้าแบ่งเด็กเป็นสองพวกได้ตั้งแต่ต้น รัฐบาลก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ทำให้สามารถสร้างโรงเรียนสายสามัญให้มีคุณภาพสูง ตัวเด็กที่รู้ว่าตนไม่เหมาะกับการเรียนสายสามัญก็ไม่ต้องเสียเวลาชีวิตสามารถเริ่มพัฒนาทักษะอาชีพในภาคการผลิตตั้งแต่เด็กสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือนโยบายดังกล่าวสามารถลดการแข่งขันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยลงได้ทำให้เด็กที่เหลืออยู่ในระบบมีความกดดันน้อยลง ถ้าเป้าหมายคือต้องการพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์โรงเรียนควรให้อิสระกับเด็กมากขึ้นให้เขามีโอกาสเลือกวิชาเลือกกิจกรรมค้นหาความสนใจทางวิชาการของตัวเองไม่ต้องตกอยู่ในวงเวียนของการท่องจำ ทำแบบฝึกหัด และติวเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไม่ลืมหูลืมตาดังในปัจจุบัน

ข้อคิดสำคัญก็คือ การปฏิรูปการศึกษา ต้องพยายามแก้ที่สภาพและค่านิยมของสังคมด้วย ไม่ใช่แก้ที่ตัวระบบการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวสำหรับ ศ.เจิ้ง แล้ว นโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ครูเปลี่ยนจากการสอนเพื่อสอบ มาเป็นการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพนั้น ไม่อาจทำได้จริงภายใต้เงื่อนไขสังคมในปัจจุบัน เพราะหากเด็กจีนทุกคนยังต้องเข้าสู่สนามสอบเพื่อตัดสินชะตาชีวิตของตนโดยไม่มีทางเลือกอื่น โรงเรียนและครูก็ยังต้องเน้นเตรียมเด็กสำหรับการสอบดังกล่าวอยู่นั่นเอง การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องมองที่ปัจจัยรอบด้านด้วย เริ่มจากพยายามแก้ปัญหาสังคมพีระมิดที่มีความไม่เท่าเทียมสูง ส่งเสริมให้การศึกษาสายอาชีวะได้รับการยอมรับในสังคม ให้โรงเรียนอาชีวะมีคุณภาพ ให้ภาคเอกชนพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างสูงขึ้นสำหรับนักเรียนสายอาชีวะที่จบออกมา

มีนักวิจารณ์บางท่านเหมือนกันที่เห็นว่าการศึกษาจีนไม่ได้เลวร้ายขนาดที่ชาวจีน (และเด็กจีน) ทั่วไปก่นด่า ตัวอย่างเช่น ศ.หยางเจิ้นหนิง เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ซึ่งสอนหนังสือในอเมริกามาทั้งชีวิต ท่านเห็นว่าการศึกษาจีนนั้นช่วยสร้างพื้นฐานทางวิชาการที่แข็งแกร่งให้กับเด็กจีนทั่วไปได้ดี “ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กจีนส่วนใหญ่ถือว่าใช้ได้ขณะที่ผมบอกได้เลยว่าเด็กอเมริกันส่วนใหญ่ ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ห่วยแตกมาก” เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาแบบท่องจำชนิดต้องรู้ทุกเรื่อง อัดความรู้สารพัดใส่หัวเด็กนั้น ไม่เหมาะกับการสอนนักเรียนที่มีอัจฉริยภาพ (ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพและค่านิยมของสังคมจีน ที่มักเอาเด็กที่มีอัจฉริยภาพหรือคะแนนสูง มาเรียนเสริมเพิ่มอัดเนื้อหาจนล้นสมอง)

ศ.หยาง เห็นว่า เด็กที่มีอัจฉริยภาพ จะพัฒนาศักยภาพของตนได้ดีกว่าภายใต้ระบบการศึกษาของอเมริกา ที่ให้อิสระกับเด็ก และเน้นกระตุ้นฉันทะทางวิชาการ ในการค้นคว้า ตั้งคำถาม ลองผิดลองถูก แสวงหาคำตอบ มากกว่าที่จะให้เด็กเรียนหนังสือและท่องตำราทุกเล่มทุกเรื่อง นี่เป็นสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่สุดในโลกจึงยังเป็นชาวอเมริกัน แม้ว่าโดยเฉลี่ยคนอเมริกันโดยทั่วไปจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู้คนจีนไม่ได้ข้อเสนอของ ศ.หยาง คือต้องหาวิธีแบ่งเด็กที่มีอัจฉริยภาพออกมา และให้อิสระกับเขามากขึ้น ไม่ปล่อยให้ระบบการศึกษาแบบจีนฆ่าพรสวรรค์และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเหล่านี้จนเหี่ยวเฉา

ผมคิดว่าการศึกษาไทยไม่ควร “เรียน” แบบจีน แต่นักปฏิรูปการศึกษาชาวไทยควรเรียนรู้จากปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปของจีน แม้ความเห็นของ ศ.เจิ้ง กับ ศ.หยาง จะดูแตกต่างกัน แต่จริงๆ ทั้งสองท่านมีหลักคิดอย่างหนึ่งที่เหมือนกันมากนั่นก็คือ เด็กมีหลายประเภทมีเด็กที่เหมาะกับการเรียนสายอาชีวะ มีเด็กที่มีอัจฉริยภาพเป็นพิเศษ การศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกัน โจทย์ในการปฏิรูปการศึกษาของไทย จึงควรคิดหากลไกในการแบ่งเด็กประเภทต่างๆ และพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละพวกอย่างเหมาะสม โดยมองไปถึงสภาพและค่านิยมบางอย่างของสังคมที่อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กด้วย

พูดถึงสภาพและค่านิยมที่อาจเป็นอุปสรรค ต้องหมายเหตุไว้หน่อยว่าผมไม่ได้หมายถึง ค่านิยม 12 ประการ ของ คสช. ที่ประกาศไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศนะครับ อย่าคิดลึกไป