อะไรก็ดูปรองดองไปหมด?

อะไรก็ดูปรองดองไปหมด?

มติที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. เลื่อนวาระการพิจารณาถอดถอน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ออกไปเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ตามคำร้องขอของทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้เวลา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลก่อนจะไปชี้แจงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การเลื่อนวาระพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ของ "วิป สนช." ไม่ได้เกินความคาดหมายของหลายฝ่าย หลังจากมีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ การเลื่อนวาระพิจารณาจะด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงหรือเพื่อลดกระแสเคลื่อนใต้น้ำ แต่ก็ทำให้บรรยากาศทางการเมืองลดความตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะจากฝ่ายสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์

และการเลื่อนวาระพิจารณาถอดถอนในครั้งนี้มีเสียงจาก "สมาชิก สนช." หลายคนต่างสนับสนุน โดยอ้างว่าไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายจะได้นำสำนวนไปศึกษาให้ถ้วนถี่อีกครั้ง

แต่หากจับสังเกตได้จากมติของ สนช.เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการพิจารณาสำนวนถอดถอน "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ "นิคม ไวยรัชพานิช" อดีตประธานวุฒิสภา จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของวุฒิสภา โดยมิชอบ จากมติ 87:75 เสียง ถือว่าค่อนข้างเฉียดฉิว

พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของสมาชิก สนช.โดยเฉพาะ สมาชิก สนช. 43 คน ที่ไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุม เนื่องติดภารกิจไปทอดกฐิน และยังไม่รวมสมาชิกในห้องประชุมที่ไม่เสียบบัตรลงคะแนน

ดังนั้นการเลื่อนวาระพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการรับจำนำข้าว นอกจากไม่เกินความคาดหมายแล้ว ต่างเชื่อว่าน่าจะทอดเวลาพิจารณาคดีความทางการเมืองออกไป เพื่อหวังลดแรงกระเพื่อมทางการเมืองไปด้วย เพราะส่งผลดีต่อการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล และการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ

การส่งสัญญาณลดแรงกระเพื่อมทางการเมืองนอกจากการเลื่อนวาระพิจารณาถอดถอน "น.ส.ยิ่งลักษณ์" จากกรณีโครงการรับจำนำของ สนช.แล้วคดีความทางอาญาที่ "อัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) กำลังร่วมกันพิจารณาสำนวนเพื่อส่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่ไม่ระงับยับยั้ง ความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการประชุมพิจารณาสำนวนร่วมกันผ่านมา 3 รอบ แล้วก็ตาม

โดยฝ่ายอัยการสูงสุดยังเห็นว่ามีหลายประเด็นไม่สมบูรณ์ แม้ว่าทาง ป.ป.ช.จะส่งสำนวนไปให้แล้วถึง 4 พันหน้า แต่ทางอัยการสูงสุดเห็นว่าสมควรสอบพยานเพิ่มเติม โดยพยานที่อัยการสูงสุดอยากให้สอบเพิ่มเติมตรงกับชุดที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เคยร้องขอให้สอบเพิ่มเติมมาก่อนหน้านี้

และระหว่างรอการหารือร่วมครั้งที่ 4 ก็มีเสียงจาก "วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์" รองอัยการสูงสุด ออกมาว่า ป.ป.ช.ยังไม่มีอำนาจฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เอง เนื่องจากต้องรอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งทางคดีก่อน

สุดท้ายไม่ว่าคดีทางการเมืองหรือทางอาญาของโครงการรับจำนำข้าวจะมีบทสรุปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ผลของโครงการนี้ทำให้ทุกคนในประเทศต้องร่วมกันใช้หนี้ที่เกิดจากการบริหารโครงการผิดพลาด อย่างน้อยเป็นเวลามากกว่า 30 ปี เหมือนดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "สมหมาย ภาษี" เคยกล่าวเอาไว้