ความยุ่งยาก... คสช.กับแบรนด์ที่ยังไม่แกร่ง!

ความยุ่งยาก... คสช.กับแบรนด์ที่ยังไม่แกร่ง!

"ผ่านมากว่า 6 เดือน รัฐประหาร ที่ง่าย และราบรื่น ถึงวันนี้ "ความง่าย"เมื่อ 22 พ.ค.2557 ...

ดูจะสร้าง"ความยุ่งยาก"....แต่ยังดีที่เห็นความตั้งใจจริง เสียสละของหลายคนที่เข้ามาบริหารประเทศ

เมื่อเทียบกับอดีตการรัฐประหารแต่ละครั้งๆ ไม่ได้ง่ายมากนัก (19 ก.ย.2549 อาจจะใกล้เคียง) เรามักเห็น รถถังออกมาเคลื่อนเต็มเมือง และเป็นอีกครั้ง ที่คนส่วนใหญ่หนุน เหตุเพราะเห็นความรุนแรงอยู่เบื้องหน้า การเข้ามาของกองทัพ ที่มักเป็นทางเลือกอย่างง่ายของ คนไทยในหลายครา"

ที่บอกว่า เห็น"ความยุ่งยาก ผ่านมาถึงวันนี้ เศรษฐกิจไม่ได้เอื้ออำนวย กับผู้บริหารประเทศชุดใหม่มากนัก จริงอยู่สหรัฐทิศทางดีขึ้น สะท้อนผ่านการยกเลิกอัดเงินเข้าระบบ และคาดว่าจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า แต่เมื่อหันไปดูอีกสองทวีปอย่างยุโรปและเอเชียกลับส่อถดถอยลง ป่วยไข้ เรื้อรัง เศรษฐกิจไทย ซึ่งพึ่งพาต่างประเทศ ในสัดส่วน 70% จึงย่อม"ไอและจาม"ไปด้วย จึงไม่แปลกที่หลังเข้าบริหารประเทศ สิ่งแรกที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบคือการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ใส่เงินในมือคนที่ยากจนที่สุดในประเทศ ชาวนา ชาวสวนยาง เพราะมั่นใจว่าเมื่อได้เงินแล้ว ใช้จ่ายแน่ เงินหมุนหลายรอบ จึงย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ทำได้แค่ประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่า 1.5%

แต่ก็ใช่ว่าปีหน้า ความหวังจะเห็นโตเกิน 4% จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะต้องอย่าลืมว่า แม้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เอาเข้าจริงประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งออก เหตุเพราะโครงสร้างส่งออกไทยไม่ได้ปรับตัว ตามความต้องการใหม่ของโลก เพราะถึงวันนี้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชิดหน้าชูตาส่งออกไทย ถึงวันนี้ตลาดมิได้ต้องการอีกแล้ว ขณะที่รถยนต์ซึ่งเป็นฐานสำคัญตลอดมา หลายบริษัทญี่ปุ่นเริ่มขยับย้ายฐาน ไปผลิตประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

แนวทางเพิ่มรายได้ในประเทศ ให้ขึ้นมาอยู่ระดับ 50:50 ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง นั้นคือต้องรอให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้าเต็มที่เสียก่อน

นอกจากความยุ่งยาก ด้านเศรษฐกิจแล้ว ด้านการเมือง ที่ดูเหมือน"นิ่ง"...ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ คู่ความขัดแย้งต่างๆ มิได้"สงบ"เพราะยอมรับ แต่ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้าใจและอ่านความคิดแต่ละกลุ่มได้ดี สะท้อนผ่านคำพูดออกมาเบรกในหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์"สูงสุด"....สู่เส้นทางปฏิรูป"

คำถามและโจทย์ของ คสช.คือ จะวางกรอบปฏิรูปอย่างไร ที่คู่ความขัดแย้ง กลุ่มต่างๆ เห็นว่าเป็นธรรมและแฟร์กับตัวเอง..หรือไม่ คสช.ยึดที่ฐานผลประโยชน์ประชาชน เป็นที่ตั้ง และอธิบายให้คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันว่า สิ่ง

ที่ คสช.หรือรัฐบาลดำเนินการนั้น ยึดส่วนรวมเป็นหลัก มิได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของใครบางคนใน"ขั้วอำนาจ"

เพราะต้องอย่างลืมว่า "แบรนด์คสช." ยังไม่แกร่งพอจะจะเรียกได้ว่ามี"สาวก"ที่จงรักภักดีจำนวนมาก จำเป็นต้องค่อยๆ สร้างฐาน ซึ่งต้องใช้เวลาและแนวนโยบายที่ได้ใจคนส่วนใหญ่

จึงจำเป็นที่ต้องประคับประคองระหว่างทาง อย่างให้เกิดปัญหา!

เพราะต้องตระหนักเสมอว่า รสนิยม ความต้องการ ความชื่นชอบของผู้บริโภคนั้น เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติเทคโนโลยีสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลของประชาชนทำได้ง่าย... "รัฐ" ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างอดีต ตัวแปรเหล่านี้ โอกาสที่ผู้บริโภค จะเปลี่ยนใจทำได้ง่ายยิ่ง