"รัฐวิสาหกิจ เล็กดี รสโต"

"รัฐวิสาหกิจ เล็กดี รสโต"

ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นหนุ่มสาวได้ยิน “เล็กดี รสโต” แล้วจะนึกถึงอะไร

คนรุ่นผมมักนึกถึงลูกอมมินท์เม็ดเล็กๆ ห่อด้วยกระดาษสีเงินปนขาว แม้ว่าลูกอมชนิดนี้จะไม่ใช่ลูกอมทอปฮิตติดตลาด แต่สรรพคุณ “รสโต” ช่วยทำหน้าที่แก้ง่วงได้อย่างยั่งยืนมากว่าสามสิบปี

ผมคิดว่า “เล็กดี รสโต” จะเป็นทางออกของภาครัฐวิสาหกิจไทย ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจโดยรวมมีขนาดใหญ่ขึ้นมากเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ขนาดที่ใหญ่ขึ้นของรัฐวิสาหกิจไม่ได้มาพร้อมกับความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น หรือความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น แต่ขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้ทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งเทอะทะ ปรับตัวยาก ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค คู่แข่ง และสภาวะตลาด และกลายเป็นบ่อเงินบ่อทองให้ผู้มีอำนาจรัฐเข้าไปหาผลประโยชน์ จนผู้บริหารและพนักงานของรัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถและรักองค์กรไม่สามารถทำงานได้ เกิดปัญหาสมองไหล ฉุดให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งถดถอยไปมากกว่าเดิม

คนไทยส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่าในปีที่แล้ว รัฐวิสาหกิจมีรายได้รวมกันสูงถึงร้อยละ 44 ของรายได้ประชาชาติ (เทียบกับเพียงร้อยละ 35 ในปี 2553) สินทรัพย์ที่รัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหารมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 12 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับรายได้ประชาชาติในแต่ละปี งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีคิดเป็นประมาณสองเท่าของงบประมาณของรัฐบาล งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีสูงกว่าสองแสนล้านบาท และถ้ามองไปในอนาคตแล้ว รัฐบาลจะยังคงใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์อีกมาก ส่งผลให้ภาครัฐวิสาหกิจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจไทย

เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์และงบประมาณที่ใหญ่มาก และค่อนข้างกระจุกตัวอยู่กับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง ทำให้รัฐวิสาหกิจตกเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจรัฐและพวกพ้อง นักการเมืองนิยมส่งคนใกล้ชิด (ที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ หรือมีความเข้าใจในธุรกิจของรัฐวิสาหกิจ) เข้าไปเป็นกรรมการ การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงถูกแทรกแซงด้วยระบบเส้นสายมากกว่าความรู้ความสามารถ ในระยะหลังเกิดวัฒนธรรมชงโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยนายหน้าของผู้มีอำนาจรัฐและพวกพ้อง หลายโครงการทำไม่เสร็จเพราะติดข้อครหาเรื่องคอรัปชั่นหรือการประมูลจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ผู้ที่มีความสามารถจริงมาดำเนินการ หลายโครงการต้องสะดุดลงเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หลายรัฐวิสาหกิจมีสินค้าคงคลังเกินพอดีเพราะถูกขอให้จัดซื้ออุปกรณ์และอะไหล่มาใส่โกดังเพิ่มขึ้นทั้งที่ไม่มีความจำเป็น หลายรัฐวิสาหกิจถูกขยายบทบาทจนเกินพันธกิจของตัวเอง ให้ไปทำเรื่องที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่ตนเองมีความชำนาญ การที่รัฐวิสาหกิจถูกมองว่าเป็นบ่อเงินบ่อทองที่ไม่มีเจ้าของ มือใครยาวขุดได้ขุดเอา ได้ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจจำนวนมากเทอะทะและถดถอย ความสามารถในการดำเนินงานและประสิทธิภาพตกต่ำลงเรื่อยๆ

แม้ว่าในขณะนี้ภาครัฐวิสาหกิจไทยโดยรวมยังมีความสามารถในการส่งกำไรเป็นรายได้ให้รัฐปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ภาครัฐวิสาหกิจโดยรวมยังไม่ได้สร้างภาระการคลังเหมือนกับรัฐวิสาหกิจในอีกหลายประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินกำไรที่นำส่งรัฐมีขนาดน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่รัฐบาลได้ใส่เงินเข้าไป รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีความสามารถในการทำกำไรและผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าคู่แข่งภาคเอกชนมาก จะมีเพียงรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้จากสัมปทาน หรือเป็นผู้ผูกขาด ?(และสามารถกำหนดราคาได้ตามอำเภอใจ) เท่านั้นมีความสามารถในการทำกำไรดี นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หลายแห่งที่เคยมีกำไรกลายเป็นขาดทุน ถ้าไม่ปฏิรูปภาครัฐวิสาหกิจกันอย่างจริงจังแล้ว เงินนำส่งคลังของรัฐวิสาหกิจคงจะลดลงเรื่อยๆ และสักวันหนึ่งภาครัฐวิสาหกิจโดยรวมอาจจะกลายเป็นภาระทางการคลังเหมือนกับในอีกหลายประเทศก็ได้

นอกจากเรื่องความสามารถในการทำกำไร และเงินนำส่งคลังแล้ว คุณภาพของบริการที่ประชาขนได้รับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญยิ่ง รัฐวิสาหกิจถูกตั้งขึ้นมาเพื่อบริการประชาชน แต่มีรัฐวิสาหกิจเพียงน้อยแห่งมากที่จัดได้ว่าเป็นขวัญใจของประชาชน ประชาชนมักไม่นิยมใช้บริการรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ และประสิทธิภาพถดถอย เพราะคุณภาพการให้บริการลดลงเรื่อยๆ

ที่สำคัญยิ่งอีกเรื่องหนึ่งคือรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ สนามบิน ทางพิเศษ ท่าเรือ หรือการขนส่งระบบราง ถ้ารัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านี้ขาดประสิทธิภาพ ย่อมหมายถึงต้นทุนที่แพงขึ้นสำหรับธุรกิจและผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการ รวมทั้งขาดโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นได้เต็มที่ หรือสร้างฐานสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม

โจทย์ใหญ่คือจะปฏิรูปภาครัฐวิสาหกิจอย่างไร จึงจะทำให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นตัวถ่วงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และไม่เป็นบ่อเงินบ่อทองของผู้มีอำนาจรัฐและพวกพ้องแบบมือใครยาวขุดได้ขุดเอา การปฏิรูปภาครัฐวิสาหกิจไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องทำหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าทิศทางที่สำคัญคือต้องลดความเทอะทะของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน ต้องจำกัดขนาดให้ภาครัฐวิสาหกิจให้มีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องลดไขมันปรับไปเป็นองค์กรแบบ “เล็กดี รสโต” ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว การจะทำให้รัฐวิสาหกิจปรับองค์กรไปเป็นแบบ “เล็กดี รสโต” ได้นั้น มีหลักคิดที่ดำเนินการได้อยู่หลายประการ

ประการแรก ต้องทบทวนว่ารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งยังจำเป็นต้องคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่ ในวันนี้หลายธุรกิจมีผู้ประกอบการเอกชนที่มีความสามารถสูงเข้ามาให้บริการ และประชาชนดูจะพึงพอใจคุณภาพการบริการและราคาของผู้ประกอบการเอกชนมากกว่ารัฐวิสาหกิจ ถ้าพิจารณากันด้วยใจเปิดกว้างแล้ว ภาครัฐอาจจะไม่จำเป็นต้องรักษารัฐวิสาหกิจในธุรกิจเหล่านั้นให้เป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป เราต้องไม่ลืมความจริงว่ายากที่รัฐวิสาหกิจจะแข่งขันได้เท่าเทียมกับภาคเอกชน เพราะการทำงานของรัฐวิสาหกิจติดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน ไม่คล่องตัว ไม่สามารถกำหนดผลตอบแทนพนักงานให้จูงใจได้เหมือนภาคเอกชน รวมทั้งต้องเผชิญกับรายการคุณขอมาจากผู้มีอำนาจรัฐและพวกพ้องตลอดเวลา

ประการที่สอง ต้องแยกหน้าที่กำกับดูแล (regulator) ออกจากรัฐวิสาหกิจ โอนอำนาจหน้าที่กำกับดูแลทั้งหมดไปให้หน่วยงานอื่นทำหน้าที่แทน รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ให้บริการ (operator) ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลคู่แข่งที่เป็นภาคเอกชน ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม ในบางครั้งกำหนดกฎเกณฑ์ที่ทำให้ตนเองได้เปรียบ และอาศัยเงินทุนต้นทุนต่ำที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาสร้างความสามารถในการแข่งขันเทียม ในทางตรงกันข้าม บางรัฐวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส พบว่าผู้บริหารและพนักงานใช้อำนาจกำกับดูแลที่ตนมีเอื้อประโยชน์ให้คู่แข่งภาคเอกชนโดยหวังผลประโยชน์ส่วนตัว จนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของตัวรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแบ่งหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน รัฐวิสาหกิจพึงทำหน้าที่เฉพาะเป็นผู้ให้บริการ และให้บริการเฉพาะที่ตนมีความชำนาญ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงเท่านั้น ไม่ควรขยายธุรกิจใหม่ๆ ไปเรื่อยตามใจผู้มีอำนาจรัฐ

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันต่ำ และยังไม่มีผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามาให้บริการประชาชนอย่างเพียงพอ โจทย์ที่ต้องคิดให้หนักคือควรให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดประสิทธิภาพเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการต่อไปหรือไม่ หรือรัฐบาลควรจัดระบบเงินอุดหนุนเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาดำเนินงานแทน ระบบเงินอุดหนุน (เช่น ผ่านการประมูล) จะทำให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคเอกชน รัฐบาลทราบภาระที่ต้องอุดหนุนชัดเจนในแต่ละปี และควบคุมคุณภาพการให้บริการได้ง่ายกว่า ต่างจากการที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งจะสร้างภาระการคลังปลายเปิดในระยะยาว

ประการที่สาม ต้องส่งเสริมให้กลไกตลาดทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ ในธุรกิจที่ต้องได้รับใบอนุญาต รัฐบาลต้องเปิดเสรีใบอนุญาตเพื่อให้คู่แข่งภาคเอกชนเกิดขึ้นโดยง่าย ต้องแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ (โดยเฉพาะพวกที่ผูกขาด) และต้องยกเลิกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐวิสาหกิจได้เปรียบจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ กลไกตลาดเท่านั้นจะเป็นเครื่องมือกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้ “เล็กดี รสโต” ได้อย่างยั่งยืน

ประการที่สี่ ต้องยกระดับระบบบรรษัทภิบาล (corporate governance) และระบบตรวจสอบรัฐวิสาหกิจให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการลงทุนมูลค่าสูงในโครงการใหม่ๆ ต้องวางระบบป้องกันผู้มีอำนาจรัฐไม่ให้เข้ามาหาผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจได้โดยง่ายเหมือนเช่นที่ผ่านมา กลไกหนึ่งที่สำคัญคือจะต้องสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง คล้ายกับ Temasek ของสิงคโปร์ หรือ Khazanah ของมาเลเซีย รวมทั้งจัดให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและเปิดเผยอย่างตรงประเด็น เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐวิสาหกิจ

ประการสุดท้าย ต้องยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของพนักงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แข่งขันได้กับคู่แข่งเอกชน ต้องปฏิรูประบบผลตอบแทน การประเมินผล และการฝึกอบรมพนักงานอย่างจริงจัง เมื่อภาครัฐวิสาหกิจต้องมีขนาดเล็กลง หนีไม่พ้นที่จะมีพนักงานส่วนหนึ่งที่ขาดทักษะการทำงานสมัยใหม่ และไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เท่าทันต่อสภาวะการแข่งขันได้ รัฐบาลต้องรับภาระดูแลพนักงานเหล่านี้อย่างเป็นธรรม เพราะปัญหาความเทอะทะ และถดถอยของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในวันนี้ไม่ได้มีต้นตอหลักมาจากพนักงาน แต่เป็นเพราะสารพัดปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน

การดำเนินการให้ภาครัฐวิสาหกิจโดยรวมมีขนาดเล็กลงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ ทิศทางที่ชัดเจนต้องเริ่มจากระดับนโยบายสูงสุดของรัฐบาล จะต้องได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการที่เป็นผู้กำกับดูแล (และอาจจะเคยได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐผ่านรัฐวิสาหกิจ) และที่สำคัญต้องสื่อสารและสร้างการยอมรับให้แก่ผู้บริหารและพนักงานของรัฐวิสาหกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง


ภาครัฐวิสาหกิจไทยในวันนี้ยังอยู่ในสถานะที่จัดการได้ แต่ถ้าเราปล่อยให้ภาครัฐวิสาหกิจขยายขนาดเทอะทะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงเรื่อยๆ จะยิ่งจัดการยากและจะกลายเป็นปัญหาอันใหญ่หลวงของประเทศในระยะยาว นอกจากจะทำให้รัฐวิสาหกิจ “เล็กดี รสโต” แล้ว ผมนึกไม่ออกว่ามีวิธีอื่นใดบ้างที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจตอบโจทย์ประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน