ปาร์ตี้คิวอี!

ปาร์ตี้คิวอี!

ปาร์ตี้วงหนึ่งเพิ่งจะจบไป เหล้าพั้นช์ภายในงานยังไม่หมดดี ไม่ทันไรปาร์ตี้วงใหม่ก็เริ่มขึ้น พร้อมกับเหล้าพั้นช์

ที่ขนกันมาอีกเพียบ และยังมีท่าทีว่าจะมีปาร์ตี้ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายวง ดูแล้วอนาคตโลกการเงินคงเมามายกันอย่างเต็มที่..

ปลายเดือนต..ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งประกาศยุติการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ทำมายาวนานร่วม 6 ปี อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และโลกการเงินรวมกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 112 ล้านล้านบาท สูงกว่าจีดีพีหรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยกว่า 10 เท่า

หลังเฟดประกาศยุติมาตรการคิวอีได้ไม่กี่วัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็สร้างความประหลาดใจให้กับโลกการเงินด้วยการประกาศใช้มาตรการในลักษณะเดียวกัน โดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มอีกราว 20 ล้านล้านเยน หรือราว 7.26 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิมที่อัดฉีดเงินเข้ามากว่า 60-70 ล้านล้านเยน ทำให้ตลาดเงิน ตลาดหุ้น ทั่วโลกพุ่งทะยานขานรับข่าวนี้กันถ้วนหน้า

อีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ถัดมา ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็เอาบ้าง แม้รอบนี้จะยังไม่มีมาตรการใดๆ เพิ่มเติม แต่ได้ส่งสัญญาณอย่างแข็งกร้าวพร้อมที่จะดำเนินมาตรการใหม่ๆ เพิ่ม หากพบสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะอยู่ระดับต่ำไปอีกนาน

เล่ามาแบบนี้คงพอเห็นภาพกันบ้างแล้วว่า อนาคตโลกการเงินจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นบีโอเจประกาศมาตรการ หรืออีซีบีประกาศว่าจะใช้มาตรการเพิ่มเติม ทำเอาตลาดเงิน ตลาดหุ้น ทั่วโลกปรับขึ้นยกใหญ่ โดยไม่สนใจว่าพื้นฐานหุ้นเหล่านั้นเป็นอย่างไร

ตอนนี้เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า นอกจากบีโอเจและอีซีบีที่ผ่อนคลาย หรือเตรียมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมแล้ว ยังมีธนาคารกลางประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอีกหลายแห่ง ที่ส่อว่า จะดำเนินนโยบายในทำนองเดียวกันนี้บ้าง เพื่อรักษาค่าเงินของตัวเองให้แข่งขันได้บนเวทีการค้าโลก จนนำไปสู่สงครามค่าเงินในรอบใหม่

ประเด็นที่น่าติดตามจากนี้ คือ หลังสิ้นคำประกาศของทั้งบีโอเจและอีซีบีทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะดอลลาร์เทียบกับเยนที่แข็งค่าแล้วราวๆ 15% หลังบีโอเจประกาศอัดฉีดเงิน คำถาม คือ สหรัฐฯ จะทนกับการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว

เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯ ประกาศตัวเลขดุลการค้าเดือนก.. ปรากฏว่าออกมาขาดดุลราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการขาดดุลสูงสุดในรอบ 4 เดือน ผลจากการส่งออกที่หดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ตัวเลขดุลการค้านี้อาจยังไม่บอกอะไรมาก เพราะเป็นเพียงเดือนแรกที่กลับมาย่ำแย่ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ทยอยฟื้นตัว แต่ที่น่าสนใจ คือ ตัวเลขของเดือนพ.. ซึ่งเป็นเดือนที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นชัดเจน จะออกมาเป็นอย่างไร จะเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐหรือไม่ แล้วถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐได้รับผลกระทบจาก ดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นจริง สหรัฐจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

ปาร์ตี้วงเดิมที่เลิกราไปแล้ว มีโอกาสกลับมาตั้งวงใหม่หรือไม่ เรื่องนี้สมควรยิ่งกับการติดตาม!