APEC 2014 เวทีนี้จีนจัด (ฉาก) ให้

APEC 2014 เวทีนี้จีนจัด (ฉาก) ให้

ช่วงระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.นี้ นายกฯ ตู่ของไทยจะบินไปกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อเข้าประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

หรือที่เรียกว่า APEC Summit ร่วมกับผู้นำระดับโลกคนอื่นๆ เช่น ประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยมีพี่ใหญ่อย่างจีนเป็นเจ้าภาพจัดงานในปีนี้ค่ะ

หลายท่านคงได้อ่านข่าวการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของจีนเพื่อให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรีของพญามังกรในการเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ มีทั้งการเคลียร์พื้นที่ให้สวยงาม เคลียร์การจราจรเพื่อลดหมอกควันในกรุงปักกิ่ง รวมทั้งเคลียร์คนจีนออกไปจากกรุงปักกิ่งเพื่อลดความแออัด เช่น การประกาศให้วันที่ 7-12 พฤศจิกายนเป็นวันหยุดยาว การสั่งหยุดโรงเรียน การขอให้บริษัทท่องเที่ยวจัดโปรโมชั่นให้ส่วนลดจูงใจคนจีนให้ออกไปเที่ยวนอกเมือง ตลอดจนการสั่งให้รถสลับกันออกมาวิ่งบนถนนตามเลขท้ายป้ายทะเบียนที่อนุญาตในแต่ละวัน เพื่อลดการใช้รถยนต์ ลดมลพิษในอากาศและลดปัญหารถติด รวมไปถึงการขอให้โรงงานหยุดพักการผลิต เพื่อลดฝุ่นควันจากโรงงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้กวดขันในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของชาวจีนบางด้าน เช่น การส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย การถ่มน้ำลาย การทิ้งขยะเรี่ยราด การไม่เข้าแถว การสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ การแอบทานอาหารบนรถเมล์ รถไฟใต้ดิน เป็นต้น ภายใต้โครงการรณรงค์ส่งเสริมมารยาทอันดีงามในหมู่ชาวเมืองปักกิ่ง เพื่อให้ดู (เสมือน) ว่า มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในระหว่างที่มีการประชุมผู้นำเอเปค

นอกจากเกร็ดข่าวข้างต้นที่แสดงให้เห็นว่า APEC 2014 เวทีนี้จีนจัด (ฉาก) ให้แล้ว วันนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่า กลุ่มเอเปคสำคัญอย่างไรและจีนต้องการใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเพื่อผลักดันอะไรบ้าง

กลุ่มเอเปคตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1989 และไทยเป็นสมาชิกแรกเริ่มด้วย ในขณะที่ จีนเพิ่งจะได้เข้าเป็นสมาชิกในปี 1991 ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ยังมีจีนฮ่องกงและจีนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกเอเปคในปีเดียวกันด้วย ตอนนี้ กลุ่มเอเปคจึงมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ (เราจะไม่เรียกสมาชิกเอเปคว่า “ประเทศ” เพราะฮ่องกงกับไต้หวัน ไม่ใช่ประเทศ)

ในขณะนี้ กลุ่มเอเปคมีขนาดเศรษฐกิจจีดีพีรวมกันสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 57 ของจีดีพีโลก และขนาดการค้ารวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 ของการค้าโลก รวมทั้งมีประชากรรวมกันมากถึงร้อยละ 40 ของประชากรโลก สำหรับจีนเอง คู่ค้าหลัก 10 อันดับของจีนก็เป็นสมาชิกกลุ่มเอเปคถึง 8 ประเทศ

ที่สำคัญ เอเปคเป็นเวทีเศรษฐกิจภูมิภาคแห่งแรกที่จีนเข้าเป็นสมาชิก และผู้นำจีนได้เข้าร่วมประชุม APEC Summit ด้วยตนเองทุกปีเพื่อใช้เป็นเวทีทางการทูตแสดงตนต่อนานาประเทศนับตั้งแต่มีการจัดประชุมผู้นำ APEC Summit ครั้งแรกในปี 1993 ในยุคที่จีนยังไม่ได้ผงาดขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกดังเช่นวันนี้ รวมทั้งจีนเคยเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC Summit อย่างยิ่งใหญ่มาแล้วในปี 2001 ที่นครเซี่ยงไฮ้

ในฐานะเจ้าภาพปีนี้ นอกจากความพยายามในการเคลียร์มลพิษเพื่อให้มีฟ้าสวยเมฆขาวในแถบทะเลสาบเยี่ยนชี (Yanqi) ในเขตฮวายโหรวของปักกิ่งซึ่งจะเป็นสถานที่จัดงาน APEC Summit แล้ว จีนยังได้พยายามอย่างหนักที่จะให้มีบรรยากาศการประชุมระดับผู้นำที่ราบรื่น เพื่อให้ผู้นำสูงสุดทุกคนที่มาเจอกันได้ยิ้มกว้างให้กันอย่างเต็มที่ ลดการเผชิญหน้ากัน รวมไปถึงผู้นำบางประเทศที่เป็นคู่กรณีประเด็นข้อพิพาทกับจีนในช่วงที่ผ่านมา เช่น ญี่ปุ่นและเวียดนาม จีนก็ได้พยายามเคลียร์เรื่องคาใจ (ชั่วคราว) โดยส่งทูตพิเศษไปเจรจาความกับคู่ขัดแย้งที่ร้อนแรงดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

นอกจากนี้ จีนต้องการให้มีผลการประชุมที่โดดเด่นและสอดรับกับภาพลักษณ์ของผู้นำจีนชุดนี้ คือ การปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจังของท่านสีจิ้นผิง ดังนั้น ในการประชุมเอเปคปีนี้ จีนเสนอให้มีการลงนาม ข้อตกลงปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างสมาชิกเอเปค

ไม่เพียงแค่นั้น ในการประชุมครั้งนี้ จีนยังได้คิดการใหญ่ในการปัดฝุ่นแนวคิดจัดทำ “เขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2006 แต่ไร้การผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า FTAAP จะเป็นอีกกรอบ FTA ที่จีนต้องการจะปลุกฟื้นคืนชีพ เพื่อปั้นเป็นผลงานของตนขึ้นมาทาบรัศมีกับกลุ่ม Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวหอก (แม้จีนจะเริ่มแสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม TPP แต่ก็ยังถูกเมิน)

จีนได้พยายามจูงใจสมาชิกเอเปคต่างๆ ให้เอาด้วยกับตนในการผลักดันให้ FTAAP เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นว่า ในภูมิภาคนี้มี FTA แยกย่อยกระจายมากถึง 56 ฉบับ ดังนั้น น่าจะมีการบูรณาการ FTA เหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียว

อย่างไรก็ดี ดิฉันคิดว่า ความพยายามของจีนเรื่องนี้ช่างยากจะเป็นจริง เพราะหลายประเทศในเอเปคไม่ได้ให้ความสนใจและยังคงตั้งคำถามถึงความทับซ้อนของ FTAAP กับกรอบอื่นๆ ไม่เฉพาะกรอบ TPP แต่ยังมีกรอบ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่จะมีสมาชิกมากถึง 16 ประเทศ หรือ ASEAN +6 ซึ่งมีจีนอยู่ในกลุ่มเช่นกัน แต่ฝ่ายจีนก็พยายามจะชี้ให้เห็นว่า FTAAP จะมาเสริมและช่วยเร่ง RCEP ไม่ใช่มาทดแทนหรือแข่งขันกัน

ที่ผ่านมา เอเปคมีภาพลักษณ์ของการเป็นเพียงเวทีภูมิภาคที่รอวันแท้ง ช่างไร้สีสันและไร้ผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมานานหลายปี ในฐานะเจ้าภาพปีนี้ จีนย่อมต้องการผลักดันให้มีผลงานชิ้นโบแดงเพื่อให้สมศักดิ์ศรีในยุคที่จีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกไปเรียบร้อยแล้ว จึงต้องติดตามผลการประชุมกันต่อไปว่า จะเป็นไปตามธีมของการประชุมปีนี้ คือ Shaping the Future through Asia-Pacific Partnership ได้จริงหรือไม่ หรือจะทำได้เพียงการจัดฉากที่สวยงามเพื่ออวดโชว์ความยิ่งใหญ่ของจีนต่อชาวโลกเพียงเท่านั้นเอง