เมื่อธุรกิจจับมือกับชุมชน รถไฟไอน้ำก็รอดตาย

เมื่อธุรกิจจับมือกับชุมชน รถไฟไอน้ำก็รอดตาย

แนวคิดด้านการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ได้รับความสนใจและถูกนำไปทดลองใช้มากที่สุดแนวคิดหนึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

คือ การส่งเสริมให้ธุรกิจและชุมชนจับมือกันทำงาน (Company-Community Partnership) กรณีศึกษารุ่นแรกๆ เกี่ยวกับพลังของการจับมือกันนี้คือ การช่วยเหลือรถไฟไอน้ำที่ชื่อว่า ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน (Flying Scotsman)

ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน เป็นหัวรถจักรไอน้ำสัญชาติอังกฤษที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคันหนึ่งของโลก หัวรถจักรไอน้ำคันนี้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2466 โดยบริษัท London and North Eastern Railway (LNER) เพื่อรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงลอนดอนและกรุงเอดินบะระ เป็นหัวรถจักรไอน้ำคันแรกที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อถูกปลดประจำการในปี พ.ศ. 2506 ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนถูกขายต่อให้กับนายอลัน เพ็กลาร์ เขานำหัวรถจักรคันนี้ออกมาให้บริการในเส้นทางที่ไม่ไกลนัก หลังจากดำเนินธุรกิจได้ไม่นาน อลันก็ประสบความยากลำบาก เพราะเริ่มมีการนำรถไฟดีเซลมาใช้มากขึ้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับหัวรถจักรไอน้ำที่เคยมีอยู่แทบทุกสถานีรถไฟเริ่มหาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะจุดเติมน้ำนั้น แทบจะหายไปจนหมดเกลี้ยง เมื่อไม่มีจุดเติมน้ำ ก็ไม่สามารถวิ่งไปไกลๆ ได้ การวิ่งในระยะสั้น ทำให้จุดเด่นเรื่องความเร็วไม่ใช่จุดขายที่ดีอีกต่อไป

นายอลันได้รับคำเชิญให้นำเจ้าฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนไปโชว์ตัวที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะได้รับความสนใจจากคนอเมริกัน แต่อลันก็ยังไม่แคล้วประสบปัญหา เพราะบรรยากาศทางการเมืองในอังกฤษในช่วงนั้นไม่เป็นใจ ส่งผลให้ผู้สนับสนุนทางการเงินรายสำคัญหลายรายพร้อมใจกันถอนตัว ปัญหาทางการเงินที่รุมเร้าเข้ามา ทำให้อลันต้องตัดใจทิ้งรถไฟไว้ที่ฐานทัพแห่งหนึ่งของกองทัพบกสหรัฐ

ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนต้องจอดแกร่วอยู่ที่อเมริกาอยู่หลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2516 เซอร์วิลเลียม แมคอัลไพน์ ยอมควักเงินซื้อหัวรถจักรคันงามแล้วนำมันกลับมายังประเทศอังกฤษ เพื่อให้บริการขนส่ง จัดทัวร์ท่องเที่ยวในเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการแสดงตัวตามงานนิทรรศการ ทำรายได้ให้กับเจ้าของได้พอตัวเลยทีเดียว

ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดคือการไปโชว์ตัวที่ประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2531 ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนสามารถสร้างสถิติโลกในการวิ่งทางไกลของหัวรถจักรไอน้ำ โดยการทำระยะทางในการวิ่งรวดเดียวโดยไม่หยุดพักได้ถึง 680 กิโลเมตร

ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนทำหน้าที่ของมันได้ถึงปี พ.ศ. 2538 ก็ต้องหยุดวิ่ง เนื่องจากเกิดปัญหารอยแตกในเตาเผา หากจะซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิมต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ไม่คุ้มค่าที่จะซ่อมแซม มันจึงถูกจอดเก็บไว้เฉยๆ ไว้เกือบหนึ่งปีก่อนจะถูกขายให้กับ ดร.โทนี มาร์ชิงตัน

เจ้าของรายใหม่ล่าสุดคนนี้ได้ทำการซ่อมแซมฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน จนอยู่ในสภาพดีสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เคราะห์กรรมของเจ้าหัวรถจักรไอน้ำคันนี้ยังไม่จบลงง่ายๆ เนื่องเกิดความล่าช้าในการสร้างศูนย์รับนักท่องเที่ยวที่กรุงเอดินบะระ ซึ่งเดิมถูกกำหนดไว้ให้เป็นที่จอดฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชม เลยทำให้เขาต้องตัดใจนำหัวรถจักรไอน้ำคันงามออกมาประมูลในปี พ.ศ. 2547

การประกาศขายคราวนี้กลายเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีแนวโน้มว่าฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนจะถูกขายให้กับพิพิธภัณฑ์ในอเมริกาหรือไม่ก็ญี่ปุ่น หากเป็นเช่นนั้นจริง ฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนก็จะเป็นแค่ของตั้งโชว์ ไม่ต่างอะไรกับหัวรถจักรที่ตายไปแล้ว

สำหรับคนอังกฤษ หัวรถจักรไอน้ำคันนี้เปรียบได้กับสมบัติประจำชาติชิ้นหนึ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ของอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนอังกฤษคุ้นเคยกับชื่อและหน้าตาของรถไฟไอน้ำคันนี้เป็นอย่างดี ความสูญเสียเช่นนี้ ย่อมกระทบกับความรู้สึกของคนอังกฤษอย่างแน่นอน

พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติของอังกฤษเริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อระดมทุนเพื่อใช้ในการประมูลเจ้าฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพูดถึงกระบวนการทางการเมืองเพื่อกดดันให้รัฐบาลระงับการส่งออกรถไฟคันนี้หากไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอ

การระดมทุนครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เงินทองไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ แต่กระนั้น เงินที่ได้มาก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะมีคนให้ราคาสูงไว้ถึง 3.6 ล้านปอนด์

ตอนที่ความหวังเริ่มริบหรี่ลงไปนี้เอง เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีสัญชาติอังกฤษเจ้าของเวอร์จิ้นกรุ๊ปได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เขาให้สัญญาว่า เงินทุกปอนด์ที่มีคนบริจาค เวอร์จิ้นกรุ๊ปจะให้สมทบเข้าไปอีกหนึ่งปอนด์เช่นกัน

แม้ว่าจะได้ความช่วยเหลือทางการเงินจากเวอร์จิ้นกรุ๊ป จำนวนเงินทั้งหมดก็ยังต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติสามารถระดมทุนได้ทั้งหมดประมาณ 365,000 ปอนด์ และได้จากเวอร์จิ้นกรุ๊ปในจำนวนเท่ากัน รวมแล้วยอดเงินที่มีก็แค่ 730,000 ปอนด์

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของเซอร์ริชาร์ดมีผลด้านการประชาสัมพันธ์มากเสียยิ่งกว่าผลด้านการเงินที่เขาตั้งใจช่วย เพราะชื่อของเขาและแบรนด์ของเวอร์จิ้นทำให้สื่อหันมาสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น จนแทบจะกลายเป็นวาระแห่งชาติอย่างไม่เป็นทางการไปเลยก็ว่าได้

กระแสที่ถูกสร้างขึ้นช่วยให้การกดดันการเมืองเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือทำได้ง่ายขึ้น สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมช่วยเหลือโดยการให้เงินสมทบอีกจำนวน 1.8 ล้านปอนด์ เมื่อรวมกับเงินที่มีอยู่และที่ได้เพิ่มมาจากทางอื่น ก็มีเงินสำหรับการซื้อฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน ภารกิจช่วยชีวิตฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนไม่ให้กลายเป็นแค่ของตั้งโชว์ในต่างแดนจึงสำเร็จไปได้อย่างงดงาม

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นนักธุรกิจกล้าเข้ามาจับมือกับชุมชนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม การผนึกพลังทางธุรกิจกับมิตรภาพและความผูกพันของชุมชนคนรักรถไฟที่มีต่อเจ้าฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมนได้ทำให้สิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้กลายเป็นจริงขึ้นมา ยินดีด้วยนะฟลายอิ้ง สก็อตซ์แมน นับแต่นี้ไปเจ้าไม่ต้องเร่ร่อนไปไหนอีกแล้ว