เศรษฐกิจพอเพียงของไทยความยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติพันธุกรรม

เศรษฐกิจพอเพียงของไทยความยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติพันธุกรรม

การปฏิวัติพันธุกรรมเร่งให้ตลาดของเศรษฐกิจพอเพียงเติบโตขึ้นในทันทีทันใด (Exploding market)

อย่างเหนือความคาดหมายของคนไทย

วิทยาการในการปฏิวัติพันธุกรรมมุ่งเอาชนะธรรมชาติด้วยการตัดแต่งพันธุกรรมพืชและสัตว์ (GMO) ทำให้พืชสามารถต้านทานโรค แมลงและสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยเฉพาะพืชพลังงานที่ใช้ผลิตน้ำมัน ทำให้สัตว์เติบโตไวเพื่อใช้ในการแพทย์เชิงชีวภาพกระทั่งสามารถออกแบบตัวอ่อนของมนุษย์ (Designer baby) โดยคัดเลือกพันธุกรรมที่ดีเพื่อสร้างคนให้ออกมาเก่งและดีกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

เบื้องหลังสิ่งที่โลกสมมติว่าเลิศ (อัคคัญญะ) นี้คือการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอสู่ป่าต้นน้ำ และจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศอย่างน่าน การครองป่าต้นน้ำของไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สร้างเทือกเขาหัวโล้นและอุบัติการณ์ใหม่ๆ อย่างพิบัติภัยไฟป่า มลภาวะหมอกควันข้ามพรมแดนหรือวิกฤตการณ์ดินภูเขาจากเทือกเขาชุ่มน้ำถล่ม โศกนาฏกรรมของส่วนรวม (Tragedy of the Commons) ทวีความรุนแรงเมื่อคนแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ไยดีกับการล่มสลายของนิเวศป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งรวมพันธุกรรม แหล่งอาหารและแหล่งน้ำของโลก ป่าต้นน้ำที่ลุ่มน้ำน่านเป็นหัวใจของระบบน้ำในประเทศคอยส่งน้ำหล่อเลี้ยงแม่น้ำเจ้าพระยาเกือบครึ่งสาย

เมื่อกิเลสเป็นเหตุให้ก่อกรรม (กมฺมกิเลส) เข้าครอบงำ สัตว์ทั้งหลายจึงเศร้าหมองเพราะกรรมนั้น ป่าชุมชนต้นน้ำเกี๋ยนในพื้นที่ 300 ไร่ถูกนายทุนรุกรานจนตาน้ำถูกทำลาย น้ำในหมู่บ้านพลอยแห้งเหือด การใช้ชีววิถีเพื่อคืนชีวิตให้ป่าผืนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การปลูกป่าทดแทนต้องทำร่วมกับการบวชป่าและการบวชกล้วยไม้ที่ช่วยอนุรักษ์ทั้งไม้ต้นและกล้วยไม้ป่าหายาก กล้วยไม้กินอาหารจากเปลือกนอกที่ตายแล้วของไม้ต้นแม่ ถ้าต้นแม่ไม่สมบูรณ์กล้วยไม้ก็จะตาย ชาวบ้านจึงใช้กล้วยไม้วัดความสมบูรณ์ของไม้ต้น และใช้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้แมลงและผีเสื้อที่ช่วยขยายป่าต่อไปชีววิถียังรวมถึงการจัดยามเฝ้าป่าใช้ป่าสร้างป่า (Conservation through use) เพื่อให้ไม้ใหญ่รักษาไม้เล็กและไม้เล็กรักษาไม้ใหญ่ โดยกำหนดสิทธิในการตัดไม้ก่อนตัดต้องแจ้งผู้นำชุมชนและไปชี้ต้นที่จะตัด ให้ตัดแค่พอใช้แม้แต่ไม้ไผ่หรือหน่อไม้เพื่อรักษาเห็ดไผ่แหล่งอาหารของชุมชน เห็ดทำให้ป่าถึงความบริสุทธิ์ (วิสุทฺธิยา)

การเก็บขยะในป่าและการปลูกเห็ดป่าโดยนำดอกเห็ดแก่มาปั่นผสมน้ำรดโคนต้นกล้าก่อนนำไปปลูกในป่าหรือปลูกต้นกล้าใกล้ต้นแม่ที่มีเห็ดขึ้นแล้วขุดไปปลูกที่อื่นๆ เพื่อให้เชื้อเห็ดกระจายไปทั่วป่าทำให้มีเห็ดป่าเกิดขึ้นมากมายไว้คอยดูดซับสารพิษตกค้างในดิน (Bioremediation) เช่น น้ำมันและย่าฆ่าแมลงที่ไหลมาตามน้ำหลากจากไร่ข้าวโพดของชนเผ่าบนยอดเขาสูง

มลพิษทำให้การฟื้นฟูป่าระยะแรกต้องปลูกเห็ดป่าควบคู่ไปกับการเพาะเลี้ยงเห็ดในชุมชน เศรษฐกิจพอเพียงช่วยสร้างอาหารเลี้ยงคน แล้วความมั่นคงทางอาหารจะช่วยฟื้นป่าต่อไปธาตุอาหารตกค้างในก้อนเชื้อเห็ดที่หมดสภาพนำมาทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ปลูกป่า

การปฏิวัติพันธุกรรมจึงมิใช่แค่การตัดแต่งพันธุกรรมที่ทำให้คนหลงในลักษณะแห่งสังขารและการค้า แต่เป็นการเรียนรู้กฎธรรมชาติและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องจนเข้าถึงสัจธรรมความรู้ที่เป็นสัจธรรมนี้เองที่ช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น เศรษฐกิจพอเพียงของเห็ดที่ช่วยฟื้นป่าแต่สิ่งที่เป็นความหมายจริงๆ ของการปฏิวัติพันธุกรรมคือการสร้างสมบัติอันประเสริฐโดยการรู้จักธรรมชาติแห่งชีวิตซึ่งเป็นเรื่องภายใน

หลวงพ่อนาน หรือ พระครูพิพิธประชานาถ วัดสามัคคีนำจังหวัดสุรินทร์เข้าสู่เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bio-economy) ด้วยเกษตรอินทรีย์โดยเห็นว่าข้าวที่ดีต้องปลูกจากคุณธรรมการ“เอาคนไปตายก่อนตาย” โดยฝึกปฏิบัติธรรมที่ป่าช้า 15 วันสร้างความเข้าใจเรื่องเวรกรรมในการปลูกข้าวทำให้คนเป็นอินทรีย์ยินดีในความสันโดษ รู้จักความพอดีของชีวิตทำให้ผืนนามีชีวิตโดยใช้น้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมียาฆ่าแมลงหรือการเผาไร่เผานาหลังเก็บเกี่ยวเพื่อเร่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์จึงเป็นการสร้างปัญญาเพื่อสร้างชีวิตอันประเสริฐ (ปญฺญาชีวํ ชีวิตมาหุเสฏฺฐํ)

ชีวิตที่ประเสริฐนั้นไม่คิดที่จะอยู่เหนือธรรมชาติแต่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข จังหวัดน่านพัฒนาการเพาะปลูกเพื่อลดการใช้พื้นที่และการใช้น้ำโดยปลูกข้าวต้นเดียวก่อนปลูกแช่ข้าวเปลือกในน้ำเกลือเข้มข้นและน้ำสะเดาแล้วนำไปตากให้แห้ง น้ำเกลือทำให้เมล็ดพันธุ์ทนแล้งและเติบโตได้รวดเร็วเมื่อโดนฝนแรก น้ำสะเดาช่วยป้องกันแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน

จังหวัดสุรินทร์สร้างธนาคารพันธุกรรมในธรรมชาติโดยขยายพื้นที่ป่าชุมชนออกไปสู่ดินริมถนนและป่าช้าชายแดนเห็ดและสมุนไพรจากป่าชุมชนที่บ้านท่าสว่างสร้างรายได้ถึง 2 ล้านบาท ป่ายังเป็นแหล่งอาหารที่ไม่มีวันหมดให้ทั้งคนและแมลงศัตรูพืชจะได้ไม่มาสร้างความเสียหายให้แปลงนาอินทรีย์สุรินทร์จึงส่งออกข้าวอินทรีย์ได้ถึงปีละ 1,400 ตันในราคาที่สูงเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป เนื่องจากคนตื่นตัวเรื่องการดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

การปฏิวัติพันธุกรรมด้วยการนำคนกลับคืนสู่ธรรมชาติภายในทำให้เศรษฐกิจพอเพียงของไทยยิ่งใหญ่การค้นหาเศรษฐกิจพอเพียงของอาเซียนต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยเลย