'ซิมโพเซี่ยม' แบงก์ชาติปีนี้มีอะไร?

'ซิมโพเซี่ยม' แบงก์ชาติปีนี้มีอะไร?

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” จะมีงานสัมมนาวิชาการใหญ่ประจำปี ที่เรียกกัน

ติดปากว่า “ซิมโพเซี่ยม” โดยหัวข้อหลักของงานปีนี้ นับว่าน่าสนใจยิ่ง เป็นธีมเรื่อง “มิติใหม่ของภาคการเงิน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” วันนี้จึงอยากเขียนถึงงานดังกล่าวเล็กน้อย

ที่มาที่ไปของการจัดงานในปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก การตั้งคำถามของผู้จัดงานว่า ช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้อาศัยระบบการเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การเติบโตที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วภาคการเงินไทยยังมีบทบาท สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

คำถามนี้เอง ทำให้ต้องกลับมาทบทวนระบบการเงินอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงมิติของประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร หรือเสถียรภาพและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งประเมินถึงอุปสรรคและข้อจำกัดที่กำลังหน่วงรั้งการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ภาคการเงินเป็นกลไกที่ผลักดันการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความฉบับย่อของหัวข้อย่อยต่างๆ ที่จะนำเสนอในงานปีนี้ ทุกบทความล้วนมีความน่าสนใจ เพียงแต่บทความที่อยากเขียนถึงเป็นพิเศษ คือ บทความเรื่อง “เศรษฐกิจจริงอิงการเงิน : โตไปใช่ว่าดี?” เขียนโดย “ดร.ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล” และ “ดร.นครินทร์ อมเรศ”

บทความนี้ชี้ให้เห็นถึง การแข่งขันของสถาบันการเงินในต่างประเทศ ที่เน้นการปล่อยสินเชื่อผ่านกลยุทธ์ด้านราคาด้วยการ “หั่นดอกเบี้ย” ลง เพื่อรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ ทั้งยังขยายไปสู่ฐานลูกค้าใหม่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มี “ความเสี่ยงสูง” ได้รับสินเชื่อและก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ จนกระทั่งเผชิญกับ “วิกฤตการเงินโลก” ในปี 2550-2551

ในบทความดังกล่าว ยังอ้างถึงสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยว่า มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยระหว่างปี 2554-2556 สินเชื่อเร่งขึ้นในอัตราเลข “สองหลัก” สาเหตุหนึ่งมาจากความต้องการสินเชื่อที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการเร่งซ่อมแซมความเสียหายจากมหาอุทกภัย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ผ่านโครงการรถยนต์คันแรก เป็นต้น

ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่า สินเชื่อที่เร่งตัวสูงกว่าจีดีพีค่อนข้างมาก สะท้อนถึงการ “เติบโต” ใน “ภาคการเงิน” ที่มากกว่า “ภาคเศรษฐกิจจริง” และยังมากกว่าแนวโน้มในอดีต ซึ่งการเร่งตัวแบบนี้เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวในประเทศไทย นั่นคือ ช่วงวิกฤตปี 2540

ผมมีโอกาสได้คุยกับ “ดร.นครินทร์” หนึ่งในผู้เขียนงานชิ้นนี้ เขาชี้ให้เห็นว่า ช่วงปี 2554-2555 สถาบันการเงินเริ่มแข่งขันในด้านราคากันมากขึ้น โดยหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนลดลงจาก 3.5% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2555 ขณะที่สินเชื่อต่อจีดีพีเร่งขึ้นจาก 135% เป็น 170% ในช่วงเดียวกัน

ขณะเดียวกันยังพบว่า สถาบันการเงินยอมแบกความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้เพิ่มด้วย สถานการณ์จึงคล้ายกับสหรัฐช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์มปี 2550

แต่ “ดร.นครินทร์” ย้ำว่า ความน่าเป็นห่วงของเรามีน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และใช้มาตรการกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน (Macro prudential) มาช่วย ที่สำคัญระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความแข็งแกร่งมาก ดูได้จากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงลิ่ว

อันนี้เป็นเพียงน้ำจิ้มย่อยๆ เพราะความน่าสนใจยังมีอีกมาก ไม่เฉพาะแค่บทความนี้ ถ้าสนใจเชิญได้ที่งาน “ซิมโพเซี่ยม” ระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค.นี้