การฟื้นตัวของศก.ไทย น้อยและช้ากว่าที่คาด

การฟื้นตัวของศก.ไทย น้อยและช้ากว่าที่คาด

เมื่อ 4 เดือนที่แล้วหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ผมเขียนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งตอนนั้นเรามองว่าการฟื้นน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเราเชื่อว่าการบริโภคภายในประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ก่อนการลงทุน ในเดือนต.ค.นี้ ผมขอนุญาตเล่าสู่กันฟังถึงตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด (2เดือนแรกของไตรมาสที่ 3) ว่าส่งสัญญาณอย่างไรบ้างครับ

การบริโภคเริ่มหยุดหดตัว แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน

ตัวเลขดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวเลขแรกๆ ที่ส่งสัญญาณการหยุดหดตัว แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก (+0.3% ในเดือน ก.ค. แต่พอเดือน ส.ค. กลับ-0.8%) โดยตัวถ่วงหลักๆ ยังคงเป็นสินค้าชิ้นใหญ่โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งยอดขายติดลบแบบ Year on Year (เดือนเดียวกันของปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว) ติดต่อกันนานถึง 15 เดือนแล้ว

นอกจากนั้นราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัวก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การบริโภคในบ้านเรายังมีปัญหาอยู่ อย่างที่ทราบกันครับ ทั้งราคายางพารา และราคาข้าวยังคงมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะราคายางพาราที่ล่าสุดต่ำกว่า 50บาท/กก. ไปแล้ว (นับเป็นระดับต่ำที่สุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2009) ซึ่งคงต้องติดตามดูกันว่านโยบายช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล จะช่วยให้การบริโภคในต่างจังหวัดกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีมาตรการมาช่วยเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ อีกหรือไม่ ซึ่งถ้ามองจากเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ผมมองว่าการเรียกร้องจากกลุ่มอื่นๆ จะตามมาในอีกไม่ช้าและสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องออกมาช่วยเหลือ (เหมือนเดิม)

การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่อง การฟื้นตัวคงต้องรอปี 2015

แน่นอนว่าหากการบริโภคยังไม่กลับมา การลงทุนภาคเอกชนก็คงไม่ฟื้น คงไม่มีผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ไหนขยายกำลังการผลิตหากยังไม่เห็นยอดสั่งซื้อกลับมา จากตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมล่าสุดเดือน สค. ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว (อยู่ในระดับแค่ 60% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดหลังน้ำท่วมปลายปี 2011)

หากเราไม่เห็นการบริโภคฟื้นตัวอย่างชัดเจน โอกาสที่จะเห็นการลงทุนภาคเอกชนกลับมาภายในปีนี้ก็น่าจะมีค่อนข้างน้อย ตัวถ่วงหลักๆ อย่างยอดขายรถกระบะ และการนำเข้าสินค้าทุน ยังคงแรงถ่วงต่อเนื่อง หากจะหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเข้ามาช่วย ก็อาจจะต้องลุ้นกันหนักหน่อย เพราะภายในปีนี้เราคงยังไม่ได้เห็นโครงการใหญ่ๆ เริ่มก่อสร้างกัน

นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่การส่งออกยังฟื้นตัวช้ากว่าคาด

แม้โดยรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาเที่ยวบ้านเราอาจยังมีจำนวนน้อยกว่าปีที่แล้ว (9เดือนแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังติดลบอยู่ประมาณ 10%) แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวบ้างแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน (ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาบ้านเราคิดเป็นประมาณ 18% ของทั้งหมด) ที่เริ่มกลับมาเที่ยวบ้านเรามากขึ้น

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการยกเว้นค่าวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งมาตรการนี้จะหมดอายุลงในวันที่ 8 พย. นี้ ต้องมาลุ้นกันอีกทีครับว่ารัฐบาลจะต่อมาตรการนี้เพื่อรับนักท่องเที่ยวจีนในช่วง high season รึเปล่า? แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมทั้งปีนี้น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว โดย TISO ESU มองว่าน่าจะน้อยกว่าประมาณ 8%-10% เลยทีเดียว

สำหรับการส่งออก ยังคงมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่เราคาดมาก โดย 9 เดือนแรกมูลค่าส่งออกยังคงติดลบอยู่ประมาณ 1% โดยเรามองว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะไม่ถึง 1% ซึ่งจะเป็นอีกปีที่ค่อนข้างผิดหวัง ในแง่ของตลาดการส่งออก ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) ยังเป็นตลาดส่งออกที่มีการเติบโตสูงอยู่

หันมาดูการนำเข้าที่หดตัวค่อนข้างมากในปีนี้โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ ซี่งเป็นการส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของการส่งออกและลงทุนอาจไม่ได้เกิดขึ้นได้เร็วนัก โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีการนำเข้าโดยรวมหดตัวถึง 13%

ปีนี้เศรษฐกิจอาจโตน้อยกว่า 1.5%

จากตัวเลขที่ออกมาล่าสุด เรามองว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส3 ที่จะประกาศในช่วงกลางเดือน พย. อาจจะออกมาต่ำกว่าที่เราคาดไว้ (2.6% YoY) ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขประมาณการทั้งปีของเราที่ 1.5% ด้วย อย่างไรก็ตามเรายังไม่คิดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเกิด technical recession (อัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับผลของฤดูกาลแล้ว ติดลบสองไตรมาสติดกัน)

ในปีหน้าด้วยฐานที่ต่ำ เรายังคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่า 5%

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้านเราในครึ่งหลังของปี จะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย เรามองว่าการฟื้นตัวจะชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะแรงถ่วงจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ ซึ่งแม้จะยังมีผลกระทบอยู่บ้างในปีหน้า แต่น่าจะน้อยลงค่อนข้างมาก

ดังนั้นอุปสงค์ในประเทศน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง ทั้งในแง่ของการบริโภคและการลงทุน สำหรับการส่งออก เรามองว่าน่าจะมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรวมเรายังคงมุมมองเดิมซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้เกิน 5% ในปี 2015 ครับ