ฮ่องกงวันนี้ โจทย์ยากของผู้นำจีน

ฮ่องกงวันนี้ โจทย์ยากของผู้นำจีน

ประเด็นร้อนของผู้นำจีนในห้วงเวลานี้คงหนีไม่พ้นปัญหาการออกมาประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดบนเกาะฮ่องกงนับตั้งแต่ปี 1997

ที่ฮ่องกงกลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร จะเป็นเพียงแค่เรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง หรือมีปัญหาอื่นที่หยั่งรากลึกมากกว่านั้น วันนี้ เราจะมาค้นหาคำตอบด้วยกัน

ฮ่องกงวันนี้สำหรับจีนย่อมไม่เหมือน 17 ปีที่ผ่านมาค่ะ ฮ่องกงในวันนั้นยอมกลับคืนสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างไม่อิดออด (มากนัก) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อในคำมั่นสัญญาเรื่อง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของรัฐบาลกลางจีนที่จะให้ high degree of autonomy กับชาวฮ่องกงไปอีกนาน 50 ปี นับจากปี 1997 ที่อังกฤษยอมคืนฮ่องกงให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนในฐานะ “เขตบริหารพิเศษฮ่องกง” (Special Administrative Region : SAR)

“หนึ่งประเทศ สองระบบ” คืออะไร แน่นอนว่า "หนึ่งประเทศ" ย่อมหมายถึง ประเทศเดียวเท่านั้น คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่คำว่า "สองระบบ" ก็คือ สิ่งที่รัฐบาลปักกิ่งเสนอให้กับชาวฮ่องกงในวันนั้น เพื่อไม่ให้รู้สึกตื่นตระหนกจนรู้สึกว่า ต้องถูกกลืนให้กลายมาอยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์เหมือนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ นั่นคือ แม้ว่าฮ่องกงจะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินแม่ แต่ไม่จำเป็นต้องนำ "ระบบสังคมนิยมแบบจีน" ไปใช้ รัฐบาลจีนจะให้ high degree of autonomy เพื่อให้ฮ่องกงสามารถเป็นอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ ทั้งด้านระบบเศรษฐกิจการเงินในแบบทุนนิยม ระบบกฎหมาย ระบบศาลยุติธรรม ที่สำคัญ คือ ระบบการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบคอมมิวนิสต์ โดยมีข้อยกเว้นเพียง 2 เรื่องสำคัญที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่จะดูแลให้ฮ่องกง คือ ด้านการทหาร และการต่างประเทศ นอกจากนี้ ฮ่องกงก็ไม่จำเป็นต้องส่งเงินภาษีใดๆ ให้แผ่นดินแม่ด้วย

“หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ว่า จึงฟังดูดีนะคะ แล้วเหตุไฉนเมื่อเวลาผ่านไป ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งจึงไม่พอใจ และออกมาประท้วงเรียกร้อง “ประชาธิปไตยแบบสากลอย่างเต็มรูปแบบ” จากรัฐบาลปักกิ่ง

เท่าที่ดิฉันได้มีโอกาสสัมผัสพูดคุยและติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 จีนนี้ ชัดเจนว่า ปัญหาครั้งนี้มิได้เป็นเพียงแค่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกผู้นำสูงสุดของเกาะฮ่องกงเท่านั้น หากแต่รากของปัญหาคือ เรื่องของความสัมพันธ์ที่ไม่ไว้วางใจกันของ 2 แผ่นดินจีน อย่างน้อย 2 ประเด็น ดังนี้ค่ะ

ประเด็นแรก คือ ความแปลกแยกที่คนฮ่องกงรู้สึกกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนและอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่มีคนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยมิได้รู้สึกเช่นนั้นและกลับรู้สึก “ไม่ปลื้ม” คนจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามามี “พฤติกรรมไม่น่ารัก” บนเกาะฮ่องกง รวมทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น การข้ามมาคลอดลูกบนเกาะฮ่องกง การเข้ามากว้านซื้อนมผงเด็กจนเกือบหมดเกาะฮ่องกงเพราะปัญหานมผงปลอมในจีน จนทำให้แม่ชาวฮ่องกงแทบจะไม่มีนมผงให้ลูก เป็นต้น

ในขณะนี้ มีคนจีนเดินทางมาฮ่องกงมากกว่า 40 ล้านคนต่อปี มีทั้งแบบมาพักค้างและมาเช้าเย็นกลับ ในขณะที่ พลเมืองฮ่องกงมีเพียงแค่ 7 ล้านกว่าคนเท่านั้น ดังนั้น ชาวฮ่องกงเหล่านี้จึงไม่พอใจที่มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทะลักไหลบ่าเข้ามาแย่งชิง แย่งใช้ทรัพยากรที่เป็นสิทธิสวัสดิการและผลประโยชน์ของตน และในหลายกรณี ทำให้พวกเขาต้องขาดแคลนสินค้าในดินแดนของตน และต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นโดยไม่จำเป็น

อีกประเด็นสำคัญ คือ ความรู้สึกถูกปิดกั้นจากเงามืดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปกคลุมไปทั่วเกาะฮ่องกง ที่ผ่านมา ชาวฮ่องกงคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบอิสรเสรีในสภาพแวดล้อมทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะคนฮ่องกงรุ่นใหม่ กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มวัยรุ่นใน Gen Y ที่เสพติดและต้องการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา หลายคนจึงมีภาพลักษณ์ด้านลบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องเผด็จการและปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก รวมทั้งการสั่งปิดหรือสั่งบล็อกสื่อโซเชียลมีเดีย คนฮ่องกงเหล่านี้จึงกังวลและกลัวว่า ในที่สุดฮ่องกงจะถูกกลืนเข้าไปอยู่ในระบบคอมมิวนิสต์จีน

ดังนั้น ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงจึงออกมาเรียกร้องและตั้งคำถามถึงความจริงใจใน "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่ท่านเติ้งเสี่ยวผิง เคยรับปากไว้ตอนฮ่องกงกลับสู่จีนในปี 1997

สำหรับชนวนระเบิดที่ทำให้ชาวฮ่องกงซึ่งมีความอัดอั้นอึดอัดใจมานานได้ปะทุขึ้น ก็คือ คำตัดสินของคณะกรรมการประจำสภาสมัชชาประชาชนจีน (NPC) ในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งแม้ว่าจะยอมให้ฮ่องกงเลือกตั้งผู้นำสูงสุดโดยตรงแบบ “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” ได้เป็นครั้งแรกในปี 2017 แต่ก็ระบุว่า “ผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของฮ่องกงต้องผ่านการรับรองโดยคณะกรรมาธิการเลือกตั้งฯ” โดยคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวมีสมาชิกส่วนใหญ่จงรักภักดีต่อรัฐบาลปักกิ่ง ทำให้ผู้ประท้วงไม่พอใจที่ตนจะไม่ได้รับสิทธิอย่างแท้จริง จึงออกมาเรียกร้องให้ทางการจีนทบทวนเงื่อนไขการเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามระบบประชาธิปไตยสากลอย่างสมบูรณ์แบบ

หากย้อนไปดูเชื้อเพลิงที่ทำให้ชาวฮ่องกงเริ่มสั่งสมความไม่พอใจมีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็คือ การออกสมุดปกขาวเรื่อง "การบรรลุหนึ่งประเทศสองระบบในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง" ของรัฐบาลกลาง ในสมุดปกขาวที่มีความยาวกว่า 23,000 ตัวอักษรจีนนี้ ทางการจีนได้ประกาศจุดยืนว่า “รัฐบาลกลางมีอำนาจปกครองเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอย่างทั่วทุกด้าน” และยังได้แปลสมุดปกขาวดังกล่าวเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนถึง 7 ภาษา ทำให้ชาวฮ่องกงเริ่มรู้สึกถูกคุกคามและหวั่นเกรงว่า การปกครองทั้งหมดต้องยกให้รัฐบาลจีนแดงแต่เพียงผู้เดียวที่มีอำนาจในการปกครองฮ่องกงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นอกจากนี้ ปัญหาครั้งนี้มิได้เป็นเพียงกรณีขัดแย้งระหว่างฮ่องกงกับจีนเท่านั้น หากแต่กำลังถูกจับตามองจากดินแดนส่วนอื่นๆ ของจีน โดยเฉพาะไต้หวัน และมาเก๊า ที่เริ่มมีข้อกังขากับ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน จึงเป็นโจทย์ยากที่ผู้นำจีนต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเข้าจัดการกับปัญหาที่ได้กลายเป็นแผลลึกไปแล้ว และไม่อาจใช้วิธีการแบบเดียวกับที่เคยจัดการกับผู้ประท้วงในเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 1989 เนื่องด้วยสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป

ที่สำคัญ รัฐบาลจีนต้องไม่เพิกเฉยต่อพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในยุคที่เพียงแค่คลิกก็สามารถเชื่อมโยงหาแนวร่วมไปได้ทั่วทุกมุมโลกตลอด 24 ชั่วโมง หากผู้นำจีนเดินเกมพลาดไป อาจจะบานปลายกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียว !!! ณ วินาทีนี้ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ