ชาวนายังรอ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

ชาวนายังรอ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

ที่สุดแล้ว รัฐบาลก็ประกาศแนวทางช่วยเหลือชาวนา ผ่านการจ่ายเงินจำนวน 1,000 บาท ต่อ 1 ไร่

โดยให้ในจำนวนพื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่ คำถามที่ตามมา คือ แนวทางนี้แตกต่างอย่างไรกับนโยบายจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดก่อนๆ คำตอบ คือ แตกต่างกันที่วิธีการ และวงเงินที่ใช้ แต่ท้ายสุด รัฐบาลก็ใช้เงินงบประมาณเข้ามาจัดการกับปัญหา และไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม

รัฐมนตรีคลัง สมหมาย ภาษี อ้างเหตุผล 3 ประการ คือ 1. ราคาข้าวในขณะนี้ ตกต่ำ ผลพวงจากการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน ทำให้ข้าวค้างสต็อกจำนวนมา การจ่ายเงินแก่ชาวนา จะช่วยให้ชาวนาชะลอการขายข้าว เพื่อช่วยให้ราคาข้าวขยับขึ้น ขณะเดียวกัน ชาวนากลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว เพราะเป็นชาวนารายย่อย

2.ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา บวกกับการส่งออกที่หดตัวอย่างมาก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจจ่ายเงินแก่ชาวนารายย่อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ทำให้รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการคลังมาดูแลเศรษฐกิจได้ แตกต่างจากประเทศในแถบยุโรปที่ใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะไม่มีช่องว่างที่จะนำนโยบายการคลังมาใช้แล้ว

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีประกาศชะลอแผนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการไปก่อน อ้างเหตุผลว่า ยังไม่ใช่จังหวะที่ดี เพราะการขึ้นเงินเดือนไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่ากับการจ่ายเงินแก่ชาวนารายย่อย ขณะที่ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามตัดงบทุกส่วนราชการ เพื่อนำมาใช้ในกรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะวงเงินไม่เพียงพอ

แน่นอนว่า ชาวนาจะต้องยินดีกับเงินที่ได้รับ แม้จะเป็นจำนวนไม่สูงเท่ากับที่เคยได้รับจากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ แต่ชาวนาส่วนใหญ่ รวมถึง ประชาชนทุกภาคส่วนก็อยากเห็นรัฐบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับราคาข้าวที่ตกต่ำและต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง แต่ดูเหมือนแนวทางที่รัฐบาลนี้ดำเนินการจะสวนทาง

ประมาณกลางเดือนต.ค.นี้ ชาวนาจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน จะเริ่มได้รับการจ่ายเงิน ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เม็ดเงินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท จะเข้าบัญชีชาวนากลุ่มดังกล่าว และจะไหลเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลต้องการ ขณะที่ รัฐบาลยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มชาวนา