ได้ทั้งใจ..!! ได้ทั้ง "อิมเมจ"

ได้ทั้งใจ..!! ได้ทั้ง "อิมเมจ"

ข่าวใหญ่ที่ปรากกฎหน้าสื่อทุกแขนงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือการ "พบกันหมด" ของ 4 ไทคูน ผู้กุมทัพธุรกิจไทย

ในแขนงต่างๆ กับ "ภาครัฐ" โดยมีเจ้ากระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นโต้โผใหญ่

เรียกได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่อยู่ๆ นักธุรกิจระดับ "แสนล้าน" จะโคจรมาเจอกัน

ไม่ว่าจะเป็น เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานผู้บริหาร กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) พี่เบิ้มในธุรกิจเกษตรครบวงจรของไทย ที่มีเครือข่ายการค้าธุรกิจเกษตรในหลายสิบประเทศ

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร ทีซีซี กรุ๊ป เจ้าของเบียร์ช้าง ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมืองไทย และยังเป็นหนึ่งในผู้นำสินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์ หลังเข้าซื้อกิจการเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในเอเซีย

เจ้าสัวน้อยทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้นำธุรกิจค้าปลีกประเภทศูนย์การค้าในไทย และยังมีหลายธุรกิจในเครือ อาทิ ธุรกิจโรงแรม พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทค้าปลีก และเจ้าสัวน้อยเวทิต โชควัฒนา กรรมการและกรรมการบริหาร เครือสหพัฒน์ ทายาทสหพัฒน์ตัวแทน เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ยักษ์ใหญ่คอนซูเมอร์ โปรดักท์ระดับประเทศ

แม้เวลาหารือกันเพียง "ชั่วโมงเศษ" จะยังไม่ได้เนื้อได้หนัง ในการเสนอแนะแนวทางพัฒนาประเทศแบบ "ลงลึก" ในรายละเอียด

ส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็นเพียงการ"รับฟัง" แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ แบบ "เข้าใจตรงกัน(นะ)" ว่า..

นับจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนจะ "แน่นแฟ้น" มากขึ้น

จนเปรยว่า "อาจจะ" มีการจัดเวทีพบปะหารือรอบสอง รอบสาม ตามมา

ทว่า "ผลลัพธ์" ความสำเร็จยิ่งกว่านั้น

นั่นคือการ "ได้ใจ" เหล่าเศรษฐีไทยไปเต็มๆ

ที่สำคัญยังได้ "ภาพลักษณ์" (image) รัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ในแง่ที่ว่า..

แม้จะเป็นรัฐบาล ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวนหนึ่งมาจาก "ทหาร"

ทว่า กลับเข้าใจ "ภาษาธุรกิจ" ได้อย่างเยี่ยมยอด

ไม่รู้ว่ากุนซือท่านไหนของรัฐบาลชุดนี้ คิดแผนการนี้ให้ คิดกันไปว่าน่าจะเป็นกูรูการตลาดอย่างท่าน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือไม่อย่างไร ?

แต่ต้องบอกว่า "ดอกแรก" ในการเรียกความเชื่อมั่น ความร่วมมือของภาคธุรกิจ ต่อการดำเนินการของรัฐ นับว่าประสบความสำเร็จ ไปแล้ว !!

"ดอกสอง" ที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการ "ตีเหล็กเมื่อร้อน" คือ ทำในสิ่งที่ให้ "คำมั่น" ไว้กับเจ้าสัวทั้งหลาย

นั่นคือ การทำงาน อย่าง "บูรณาการ" ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับภาคการตลาด ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์

ในลักษณะเดียวกับกระทรวงมิติ ของญี่ปุ่น

ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กลายเป็นปัญหาหนึ่ง ของการผลักดันเศรษฐกิจประเทศ นอกเหนือจากการ "ปรับนโยบาย" แล้วปรับนโยบายอีก ทุกครั้งที่มี "รัฐบาลใหม่" เข้าบริหารประเทศ

"ภาคเอกชน" จึงกลายเป็นคนเดินหน้าไปบุกตะลุยหาโอกาสธุรกิจเพื่อช่วยเหลือตัวเอง

จนได้ยินเสียงบ่นจากเอกชนว่า..

รัฐไม่ต้องทำอะไร พวกเราทำเอง ขอเพียงอย่าสร้างปัญหาให้บ้านเมือง เป็นพอ