PVD การออมเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจที่ควรใส่ใจ

PVD การออมเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจที่ควรใส่ใจ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่ากองทุน PVD (ย่อมาจาก Provident Fund)

นับเป็นเครื่องมือการออมเพื่อวัยเกษียณประเภทหนึ่งสำหรับพนักงานในบริษัทเอกชนทั่วไป โดยกลไกของกองทุน PVD คือการเปิดโอกาสให้พนักงานออมเงินระยะยาวผ่านการตัดเป็นสัดส่วนของเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างจะเป็นผู้ให้เงินสมทบเพิ่มในจำนวนที่เท่ากันกับที่พนักงานสะสมไปในกองทุน และเมื่ออายุครบพนักงานก็จะได้รับเงินทั้งก้อนไป คือ เงินที่พนักงานสะสม เงินที่นายจ้างสมทบ และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทเอกชนหลายแห่งในปัจจุบันได้จัดตั้งกองทุน PVD เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน โดยฝ่ายนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดนโยบายสัดส่วนของเงินสะสมเข้ากองทุน เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 3 จนสูงสุดถึงร้อยละ 15 ของเงินเดือน ส่วนตัวพนักงานจะต้องเป็นผู้สมัครขอเป็นสมาชิกกองทุนด้วยตนเองไม่ได้เป็นการบังคับ จึงเรียกการออมลักษณะนี้ว่า “การออมภาคสมัครใจ” ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการกองทุน PVD ของบริษัทที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง เป็นผู้นำเงินในกองทุนไปให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นผู้บริหารเงินกองทุนให้

จากการที่กองทุน PVD ไม่ใช่การออมภาคบังคับ แต่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเงินออมในวัยเกษียณของเจ้าของกองทุน ภาครัฐจึงได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกกองทุน PVD เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสร้างการออมระยะยาว โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถนำเงินสะสมที่นำส่งเข้ากองทุน PVD มาลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้หรือสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท แต่หากเจ้าของกองทุน PVD จะไถ่ถอนกองทุนก่อนอายุครบ 55 ปี จะต้องชำระภาษีย้อนหลังตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับไปทั้งหมด

กองทุน PVD สามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับกองทุนเพื่อวัยเกษียณอื่นๆ ของไทยได้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นกองทุนเงินออมเพื่อวัยเกษียณสำหรับข้าราชการ ที่มีกลไกการทำงานที่ใกล้เคียงกัน คือ ฝ่ายนายจ้าง (ในกรณีนี้คือรัฐบาล) จะให้เงินสมทบในปริมาณที่เท่ากันกับเงินสะสมของข้าราชการ (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 ของเงินเดือน) หรืออาจนำกองทุน PVD ไปเปรียบเทียบกับกองทุนประกันสังคมที่ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างส่งเงินเข้ากองทุนส่วนรัฐบาลจะช่วยสมทบเงินเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์หลังจากออกจากงานและในช่วงเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม ทั้งกองทุน กบข. และกองทุนประกันสังคมนั้น นับว่าเป็นกองทุนในรูปแบบบังคับ โดย พ.ร.บ. กบข. กำหนดให้ข้าราชการทุกคนที่เข้ารับราชการหลังปี พ.ศ. 2539 จะต้องเข้าร่วมกับกองทุน กบข. ในขณะที่ พ.ร.บ. ประกันสังคม กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเพื่อเข้าร่วมกับกองทุนประกันสังคม

จากการที่กองทุน PVD ไม่ได้อยู่ในรูปแบบบังคับ ส่งผลเสียต่อการออมของประชาชนในภาพรวมและส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ในด้านมิติของการออมนั้น เนื่องจากมีลูกจ้างบางรายที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายยามเกษียณ จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุน PVD ทำให้เสียโอกาสในการออมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เงินออมนั้นผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนบางรายที่มีความกังวลว่าอาจเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายผูกพันระยะยาวให้แก่บริษัท ก็อาจจะเลือกที่ไม่ตั้งกองทุน PVD จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 พบว่าบริษัทเอกชนที่มีกองทุน PVD ปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 14,241 บริษัท ครอบคลุมสมาชิกกองทุนราว 2.62 ล้านคน เทียบกับจำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วมในกองทุนประกันสังคมที่มีจำนวนทั้งหมดมากกว่า 418,000 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้างถึง 9.86 ล้านคน

นอกจากนี้ หากเจาะลึกลงไปถึงการลงทุนของกองทุน PVD จะพบว่าส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงนัก และในระยะยาวอาจแพ้อัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ จากสัดส่วนการลงทุนโดยรวมของกองทุน PVD ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 พบว่ามีการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพันธบัตร หุ้นกู้และเงินฝากธนาคารรวมกันสูงถึงร้อยละ 77.6 ในขณะสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอยู่เพียงประมาณร้อยละ 14.9 ทั้งที่หุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวและเหมาะสมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ (ผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของหุ้นไทยอยู่ที่ร้อยละ 12.1 ต่อปี ส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่เพียงร้อยละ 3.3 ต่อปี) ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการขาดความเข้าใจและความชำนาญเรื่องการลงทุนระยะยาวของกรรมการกองทุนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายลงทุน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังได้เริ่มมีการจัดทำโครงการ Employee’s Choice ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสามารถเลือกสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนได้ด้วยตนเองตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดย ณ สิ้นปี 2556 มีนายจ้างจำนวนทั้งสิ้น 5,223 รายที่เสนอ Employee’s Choice ให้กับลูกจ้าง

สำหรับมิติเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวนั้น การออมภาคบังคับจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีเงินออมของตนเองที่สูงเพียงพอจะใช้ดำรงชีวิตยามเกษียณ ลดภาระการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาครัฐ ปัจจุบันระดับการออมเพื่อการเกษียณอายุของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงร้อยละ 17 ของ GDP เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 60 ของ GDP สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการออมภาคบังคับ รวมถึงการออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุน PVD จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า เราเริ่มได้ยินผู้กำหนดนโยบายพูดถึงการปฏิรูประบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ (Pension Reform) ซึ่งมีภาพกว้างไปกว่าการเปลี่ยนระบบกองทุน PVD จากการออมภาคสมัครใจเป็นการออมภาคบังคับเพื่อเพิ่มความครอบคลุม แต่หมายรวมถึง การดูความเพียงพอของเงินออมในระดับประเทศรวมถึงความครอบคลุมของผู้ที่อยู่ในระบบการออมทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ทั้งนี้ ระบบ Pension ของไทยในปัจจุบันครอบคลุมประชาชนเพียงประมาณ 10 ล้านคนจากกองทุนประกันสังคมและข้าราชการอีกประมาณ 2 ล้านคนจากเงินบำนาญจากรัฐบาลและกองทุน กบข. (สมาชิก กบข. ประมาณ 1.2 ล้านคน)

ย้อนกลับมามองในภาพเล็กในระยะสั้นก่อน Pension Reform นั้น การลงทุนในกองทุน PVD เองควรต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับจุดประสงค์การลงทุนเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนระยะยาวแก่คณะกรรมการกองทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนและการรณรงค์ให้บริษัทมีโครงการ Employee’s Choice รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนส่วนบุคคลแก่ประชาชนที่เป็นเจ้าของกองทุนเอง เพื่อให้สมาชิกกองทุนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการ Employee’s Choice ได้อย่างเต็มที่ และทั้งหมดก็เพื่อเป็นส่วนช่วยสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชน การรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปของประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว