ภาษีมรดก

ภาษีมรดก

ในอดีต การทิ้งมรดกให้กับลูกหลานน่าจะมีเหตุผลประมาณนี้ 1. เป็นการสร้างสายสัมพันธ์และความผูกพัน

ของความเป็นครอบครัวเดียวกัน ดูแลกันและกัน 2. เป็นแรงขับให้ขยันทำมาหากิน และการดูแลรักษาครัวเรือนครอบครัวของตนได้โดยไม่มีปัญหาย่อมจะส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจของสังคมหรือรัฐ ยามเมื่อรัฐจะระดมทรัพยากรมนุษย์และอื่นๆ เพื่อปกป้องหรือขยายอาณาเขตของรัฐ 3. สืบต่อจากประการที่สอง ครอบครัวแต่ละครอบครัวจะต้องดูแลตัวเอง การสั่งสมทรัพย์ในรูปมรดกที่ส่งผ่านต่อๆ กันไปจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหลักประกันสำหรับความมั่นคงในชีวิต

4. และการหาเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ในสมัยโบราณนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตร ซึ่งต้องอาศัยแรงงานจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่วัยแรกเริ่มที่พอช่วยทำงานได้ ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาย่อมมาจากน้ำพักน้ำแรงของสมาชิกทุกคนในครอบครัว การสืบสานมรดกจึงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและเป็นธรรมสำหรับคนในครอบครัวที่ช่วยกันทำงาน และต้องดูแลตัวเองโดยไม่มีสวัสดิการความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ 5. แม้ว่าจะไม่มีระบบสวัสดิการ และไม่มีภาษีมรดก แต่ระบบศาสนาความเชื่อ ตลอดจนจารีตประเพณีได้กำหนดข้อควรปฏิบัติเอาไว้เพื่อให้มีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือมีความลำบากในชีวิต ในรูปของทานและการกุศล ซึ่งค่านิยมดังกล่าวก็ยังสืบทอดมาจนปัจจุบัน โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจหรือความต้องการการยอมรับของคนในสังคม

ในสังคมสมัยใหม่ภายใต้เสรีทุนนิยม เศรษฐกิจสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงจากโบราณมาก การสั่งสมอย่างมหาศาลของผู้คนจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นอย่างอดีตเทียบไม่ติด การผลิตแบบการเกษตรที่ต้องอาศัยแรงงานของทุกคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านเปลี่ยนมาเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ความจำเป็นในการพึ่งพาอาศัยกันและกันลดน้อยถอยลง และจากปริมาณการผลิตและกำไรมหาศาลอันนำมาซึ่งมูลค่าส่วนเกินอย่างไม่เคยปรากฏก่อนหน้านี้ ทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายต่อความจำเป็นทางสังคมในภาวะสมัยใหม่ที่ต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภค ฯลฯ ทั้งช่องว่างทางสถานะเศรษฐกิจสังคมก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รัฐจำเป็นต้องเข้ามาแบกภาระดูแลประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะที่มีรายได้ต่ำ การที่รัฐยื่นมือเข้ามาดูแลนี้ คือ “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งยังคงรักษาแนวทางเสรีนิยมไว้นั่นคือ “กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล” (private property)

รัฐสวัสดิการต้องมีงบประมาณเพียงพอที่จะแบกรับภาระที่ประชาชนเคยแบกไว้เอง ยิ่งขอบเขตและขนาดของสวัสดิการกว้างขวางเพียงใด งบประมาณก็ต้องมากขึ้นเท่านั้น อาศัยจากการเก็บภาษีต่างๆ ในอัตราก้าวหน้า การเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยอมรับได้มากกว่าการเก็บภาษีมรดก โดยเฉพาะภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า หลายคนทำงานหาเงิน เก็บหอมรอบริบ หวังให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานจะได้มีชีวิตที่สุขสบาย โดยตัวเองยอมลำบาก แต่เมื่อจะต้องถูกเก็บภาษีมรดกไปเฉยๆ (จะรู้สึกว่าถูกเก็บภาษี “มากเกินไปหรือไม่” ขึ้นอยู่กับการรับรู้และความเข้าใจของแต่ละคนหรือของสังคมโดยรวม) คนเหล่านี้จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาจะต้องเสียเงินภาษีมรดกไปเพื่อรัฐจะเอาไปจัดสวัสดิการให้แก่คนจน และไม่ใช่คนจนทุกคนที่สมควรได้รับสวัสดิการ ในแง่หนึ่ง การเก็บภาษีมรดกก้าวหน้าไม่เป็นธรรมต่อคนที่ขยันขันแข็งสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ อีกทั้งการทำให้คนจำนวนหนึ่งที่หวังพึ่งแต่สวัสดิการ อาจไม่กระตือรือร้นที่จะทำมาหากิน

ทั้งสองประเด็นนี้เกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัด แนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อส่งเสริมการเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ยังมุ่งให้คงไว้ซึ่งความชอบธรรมในการส่งผ่านกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคลก็คือ แนวคิดเสรีนิยม โดยเฉพาะพวกที่เห็นว่า ทรัพย์สินที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนลงแรงหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีการเสียภาษีรายได้อยู่แล้ว ที่เหลือย่อมเป็นสิทธิ์ของเขาอย่างชอบธรรม และเขาย่อมมีสิทธิที่จะส่งต่อให้กับทายาทหรือใครก็ได้ตามความพอใจของเขา อย่างไรก็ตาม เสรีนิยมอีกพวกหนึ่งกลับเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีมรดก จนถึงขนาดที่ไม่ให้มีการส่งผ่านมรดกเลยซ้ำ และเหตุผลสนับสนุนของพวกเขาก็เป็นเหตุผลภายใต้ฐานคิดแบบเสรีนิยมเสียด้วย นั่นคือ หลักการที่ว่า ทรัพย์สินที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนลงแรงหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีการเสียภาษีรายได้อยู่แล้ว ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาอย่างชอบธรรม แต่ทายาทในฐานะปัจเจกบุคคลอีกคนหนึ่งต่างหากที่ไม่ชอบธรรมที่จะครอบครองหรือได้รับมรดกทรัพย์สินอันมั่งคั่งขนาดนั้นโดยมิได้ลงแรงของตัวเองแต่อย่างใด ความไม่เสมอภาคระหว่างคนรวยคนจนยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

และถ้าจะเก็บภาษีมรดก 10% ตั้งแต่ 50 ล้านขึ้นไป แล้วคนที่ได้มรดกเป็นอสังหาริมทรัพย์จะทำอย่างไร ? เป็นที่ดินบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ? ขณะเดียวกัน ถ้าหาทางจัดสรรทรัพย์สินก่อนจะกลายเป็นมรดก ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดก ? และยังมีปัญหาในรายละเอียดอีกร้อยแปด ! แล้วไม่คิดจะเก็บภาษีในการซื้อขายหุ้นหรือ ? ดังนั้น ควรคิดให้ดีก่อนจะออกเป็นกฎหมาย !

ขณะเดียวกัน การเก็บภาษีมรดกก้าวหน้า ผู้คนอาจจะบริจาคเพื่อการกุศลน้อยลง เพราะเห็นว่า มีการเก็บภาษีจากรายได้หรือมรดกของตนเพื่อไปจัดสรรสวัสดิการอย่างเป็นทางการให้กับผู้ด้อยโอกาสมากอยู่แล้ว ตนจึงไม่จำเป็นต้องมีภาระหน้าที่และภาระทางอารมณ์สำหรับคนเหล่านี้อีกต่อไป ทุกคนจะเริ่มเป็น “คนแปลกหน้า” ต่อกันมากขึ้นภายใต้การดูแลของรัฐสวัสดิการ และแม้ว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการทางวัตถุได้ แต่สังคมก็จะเกิดปัญหาลักษณะใหม่ขึ้น นั่นคือ การขาดความมีน้ำจิตน้ำใจที่มีต่อกันเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นใหม่ได้ยากมาก