จอดำอีกครา กับช่อง 3 ว่าด้วย "Must-carry"

จอดำอีกครา กับช่อง 3 ว่าด้วย "Must-carry"

และแล้วก็เป็นอีกครั้งที่เกิดการพิพาทระหว่างองค์กรกำกับดูแลและสื่อเอกชนจนนำไปสู่กรณี "จอดำ"

ในการแพร่ภาพออกอากาศรายการโทรทัศน์ ซึ่งหากใครจำได้ "จอดำ" ครั้งแรกเกิดเมื่อปี 2555 จากข้อพิพาทในประเด็นการฉายรายการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 อันเป็นข้อพิพาทสามเส้าระหว่างบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เจ้าของลิขสิทธิ์รายการ บริษัททรูวิชั่นเจ้าของแพลตฟอร์มโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก กับผู้กำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ซึ่งปรากฏการณ์จอดำครั้งนั้นทำเอาเกิดอาการดราม่าหนักในสังคมไทย จนส่งผลให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต้องเกาะกระแสออกมาเรียกร้องให้ชาวไทยได้ดูบอลให้จงได้ เพราะตีความเนื้อหาบอลในฐานะของผลประโยชน์สาธารณะในอันที่ใครจะละเมิดไม่ได้ จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ขนาดที่บอลจบแต่เรื่องไม่จบ

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คนไทยอย่างเราก็ได้อาจต้องเผชิญหน้ากับกรณีจอดำอีกครา ด้วยเหตุข้อพิพาทระหว่างช่อง 3 อนาล็อกกับ กสทช. ที่กำลังงัดคานกันด้วยข้อกฎหมายโดยเจตนาที่ กสทช. ต้องการให้เกิดความชอบธรรมในการแข่งขันกับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะช่อง 7 ซึ่งเป็นต้นแบบของเด็กดีที่อยู่ในอาณัติยอมทำตามระเบียบในการเปลี่ยนถ่ายให้อุตสาหกรรมไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลให้เร็วที่สุดด้วยการออกอากาศรายการแบบเหมือนกันเป๊ะทั้งในแพลตฟอร์มอนาล็อกและดิจิทัล ในขณะที่ทางช่อง 3 เองก็มีประเด็นในการรักษาสิทธิของการออกอากาศของตนในระบบอนาล็อกที่ได้สัมปทานเดิมมาจาก อสมท ซึ่งก็ยังสามารถเป็นแพลตฟอร์มทำเงินและแสวงหากำไรได้อีกมากโข ดังนั้น การจะออกอากาศคู่ขนานเหมือนกันเป๊ะก็ดูจะเสียของ อีกทั้งมีต้นทุนการดำเนินการที่ฝ่ายตนต้องรับภาระเพิ่มเติม

กรณีจอดำทั้งสองกรณีในข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นกรณีพิพาทที่ใช้ข้อกฎหมายเพื่อเอาชนะคะคานกัน โดยแต่ละฝ่ายต่างอ้างถึงผลประโยชน์ของผู้ชมทางบ้านเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ ที่น่าสังเกตคือ จอดำในกรณีแรกเป็นเหตุปัจจัยที่เกิดจากเนื้อหาเชิงธุรกิจหนึ่งเนื้อหา ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการจะแสวงหาผลดอกผลกำไรจากสิ่งที่ตัวเองไปประมูลมาให้มากที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องชอบธรรมในเชิงธุรกิจ โดยขณะนั้นองค์กรกำกับดูแลหวังผลว่า หากมีกฎระเบียบที่เรียกว่า Must carry เมื่อใด การควบคุมดูแลผลประโยชน์เพื่อผู้ชมทางบ้านจะทำได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นและจอดำจะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ในขณะที่ จอดำกรณีที่สองเกิดขึ้นหลังจากกฎ Must carry มีผลบังคับใช้ได้จริงแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่ากฎนี้เองกลับเป็นเครื่องมือขององค์กรกำกับดูแลในการส่งผลให้คนไทยจะไม่ได้ดูช่อง 3 อนาล็อกบนโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิกและกล่องดาวเทียมต่าง ๆ อีกต่อไป

ทั้งนี้ โดยความจริงแล้ว กฎ "Must-carry" หรือที่แปลเป็นไทยคือ การนำพาช่องรายการโทรทัศน์ที่สามารถรับชมได้เป็นการทั่วไป อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีปรัชญาของการบริการอยู่บนฐานของเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างหลักประกันว่า ผู้ชมสามารถเข้าถึงและได้รับชมรายการหรือช่องรายการที่ถูกกำหนดไว้ (ซึ่งในเมืองไทยก็หมายถึงช่องฟรีทีวี) ได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าการรับชมนั้น ๆ จะผ่านช่องทาง (Platform) ใด ๆ ทั้งระบบหนวดกุ้งก้างปลา หรือกล่องเคเบิล จานดาวเทียม ซึ่งต้นแบบของกฎ Must-carry นี้ถูกวางไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยระบุให้บริษัทโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกต้องให้ช่องทางการออกอากาศกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นและสื่อสาธารณะ (Public broadcasting) ทุกช่องที่อยู่ในรัศมีการออกอากาศ 50 ไมล์ เพื่อการันตีสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในการเข้าถึงเนื้อหาสื่อที่จำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับในฝากของอังกฤษ ที่ได้มีการใช้กฎ Must-carry กับการบังคับให้ทีวีแบบบอกรับสมาชิกจำเป็นต้องจัดพื้นที่ออกอากาศให้สื่อสาธารณะอย่างบีบีซี ที่เป็นประหนึ่งสถาบันทางวัฒนธรรมแห่งชาติของเขาได้เข้าถึงผู้ชมอย่างทั่วถึงโดยไม่มีเทคโนโลยีใดๆ มากีดกั้นหรือเป็นอุปสรรคขัดขวาง

ดังนั้น ปรัชญาของเครื่องมือในการกำกับดูแลอย่าง Must-carry จึงอยู่บนฐานของสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งเมื่อมาประยุกต์ใช้กับการกำกับดูแลแบบไทยสไตล์แล้ว กฎ Must-carry กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัล โดยมีการออกคำสั่งทางปกครองไปยัง โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียม ห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ช่อง 3 อนาล็อกในฐานะของการเป็นฟรีทีวี อันจะส่งผลให้เกิดกรณีจอดำของช่อง 3 อนาล็อกบนแพลตฟอร์มเพย์ทีวีอีกครา แต่คราวนี้ไม่ได้จอดำเฉพาะรายการ หากแต่เป็นจอดำทั้งช่อง

ความโกลาหลอันเกิดจากเจตนารมณ์อันดีขององค์กรกำกับดูแลที่ต้องการจะให้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเกิดในเมืองไทยให้เร็วที่สุด นำไปสู่การคัดง้างที่ระดมข้อกฎหมายและเครื่องมือกำกับดูแลทุกชนิดในการต้อนช่อง 3 ให้จนมุม โดยมีช่องสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลอื่นๆ เป็นกองเชียร์ ทั้งนี้ การไล่บี้อำนาจนำในตลาดโทรทัศน์ของช่อง 3 ด้วยกฎ Must-carry จนกลายมาเป็น Must not carry จึงเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของการกำกับดูแลสื่อมวลชนไทยที่ต้องจารึกไว้ที่ประชาชนคนรับสารต้องมองกันตาปริบๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของพวกเขาที่ควรได้รับการรันตีจากเครื่องมือ Must-carry ขององค์กรกำกับดูแลสื่อ และการดื้อแพ่งของช่อง 3 ในรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จนเกิดกรณีการ Switch-off เทคโนโลยีอนาล็อกชนิดเฉียบพลัน ยาแรง แบบไม่ทันตั้งตัว

อย่างไรก็ตาม เกมการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและการรักษาความแฟร์ในการแข่งขันของตลาดโทรทัศน์ดิจิทัลโดยเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกันนี้เองอาจเป็นเกมดราม่าที่แก้ปัญหาได้เพียงปลายทางของห่วงโซ่การอุปทานในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากอำนาจผูกขาดที่แท้จริงแล้วอยู่ที่โครงข่ายการแพร่ภาพออกอากาศ (MUX) อันเป็นเนื้อก้อนใหญ่ที่ต่างฝ่ายต่างจับจ้องที่จะเป็นเจ้าของ โดยหวังว่าท้ายสุดมหากาพย์ของการใช้เครื่องมือ Must-carry แบบไทยๆ จนเกิดดราม่าจอดำอีกคราคงไม่ได้ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนประเด็นจนส่งผลต่อการผูกขาดของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในอนาคตต่อไป