ทุนญี่ปุ่นแห่ลงทุน "อาเซียน" แซงจีน อินโดฯ-เวียดนาม มาแรง แล้วไทยล่ะ!

ทุนญี่ปุ่นแห่ลงทุน "อาเซียน" แซงจีน อินโดฯ-เวียดนาม มาแรง แล้วไทยล่ะ!

อีกข้อมูลการลงทุนที่น่าสนใจ เปิดเผยโดย "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ระบุถึงการลงทุนตรง (เอฟดีไอ)

จากนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่า ในปี 2556 ทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียน "สูงสุด" เป็นประวัติการณ์ ที่ตัวเลข 23.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ "แซงหน้า" การลงทุนตรงของทุน "ญี่ปุ่นในจีน" ซึ่งเป็นแหล่งลงทุน "สำคัญที่สุด" ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า "อาเซียน" คือภูมิภาคที่เป็นตัวเลือก "อันดับ 1" ในการ "ย้ายฐานการผลิต" ของนักลงทุนญี่ปุ่น จากการ "เร่งตัว" เข้ามาลงทุนรับประโยชน์จากการที่อาเซียนจะรวมตัวเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (เออีซี) ในปลายปี 2558 หรืออีก "ปีเศษ" จากนี้

ถือเป็นคลื่นการลงทุน "ระลอกสอง" ของญี่ปุ่นที่โถมเข้ามาในอาเซียน จากคลื่น "ระลอกแรก" ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2528-2533

นอกจากเหตุผลต้องการเข้ามาหาประโยชน์ในตลาดเออีซี (Single Market) ที่มีประชากร 10 ประเทศอาเซียน รวมกันกว่า 600 ล้านคนแล้ว ปัจจัยการแข็งค่าของเงินหยวน ต้นทุนค่าแรงของจีนที่สูงขึ้น รวมถึง "กรณีของพิพาทในทะเลจีนตะวันออก" ยังเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุนญี่ปุ่นดาหน้าเข้ามาลงทุนกับ "ตาอยู่" อาเซียน

ทว่า..ไทยกลับไม่ใช่ตัวเลือกที่เป็น The Best อีกต่อไป เพราะกำลังถูกเบียดแทรกโดย "อินโดนีเซีย" และ "เวียดนาม" ที่มาแรงสุดๆ

โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ตามข้อมูลระบุว่า ในช่วงปี 2551-2556 มีอัตราการขยายตัวของทุนญี่ปุ่นเฉลี่ย 39.8% เป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับไทยที่หล่นมาอยู่อันดับ 2 ที่ 38.2% ตามมาด้วยเวียดนามที่สัดส่วน 24.4%

เกิดภาวะ "หายใจรดต้นคอ" ระหว่างอินโดนีเซีย กับไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ทุนญี่ปุ่นเลือกเข้ามาลงทุนทั้งไทยและอินโดนีเซีย "เหมือนกัน"

นั่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ

แม้มูลค่าการลงทุนรวม "5 ประเทศ" ที่ทุนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุน ไทยจะมีอันดับที่ดีกว่าอินโดนีเซีย ก็ตาม (อันดับ1 จีน อันดับ 2 ไทย อันดับ 3 อินโดนีเซีย อันดับ 4 เวียดนาม และอันดับ 5 สหรัฐฯ)

ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา สะท้อนว่า ในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ต้องการรายได้การลงทุนต่างชาติเข้าประเทศ ไทย "จำเป็น" ต้อง "สร้างเสน่ห์" ให้กลายเป็นแรงดึงดูดทุนข้ามชาติ ไม่เฉพาะนักลงทุนเบอร์ 1 ในไทยอย่างญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หมายถึงกับทุกชาติ

"การเมืองที่มีเสถียรภาพ" น่าจะเป็น คำตอบที่สำคัญที่สุด

เพราะย้อนกลับไปในปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงของการเก็บข้อมูลการลงทุนดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่ "ประเทศไทย" กำลังเผชิญกับภาวะ "ไม่ปกติ" จากการเผชิญปัญหาการเมืองหนักหน่วง มาจนถึงการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.ปีนี้

แน่นอนว่า..สถานการณ์ดังกล่าว ย่อมทำให้ทุนต่างชาติหลายราย "ตัดไทย" จากตัวเลือกการลงทุนไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเทียบกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ที่ "เริ่มนิ่ง" หลังจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ และกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายประเทศอย่างจริงจัง

หวังว่า จากนี้ไปการเมืองไทยจะกลับมามี "เสถียรภาพ" สักที !

เพราะประเมินจากองคาพยพอื่น ไทยยังเป็น "แม็กเน็ต" การลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนเกือบทุกด้าน

โดยเฉพาะความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน อาหารอร่อย อากาศดี คนมีไมตรีจิต ฯลฯ

ที่สำคัญ ยังมีสนามกอล์ฟกว้างใหญ่ ที่ทุนญี่ปุ่น "พิศมัย" กันนักหนา