ไลบีเรีย ที่ผมรู้จัก

ไลบีเรีย ที่ผมรู้จัก

คนไทยส่วนใหญ่คงไม่คุ้นกับชื่อประเทศไลบีเรีย จนกระทั่งเกิดข่าวโรคอีโบล่าระบาด

ทำให้มีคนตายแล้วถึงสองพันคน และยังไม่มีสัญญาณว่าจะควบคุมได้ ไลบีเรียเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคอีโบล่ารอบใหม่นี้

ไลบีเรียเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก มีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นในโลก ประวัติศาสตร์ไลบีเรียเริ่มขึ้นเกือบ 200 ปีที่แล้ว เป็นถิ่นฐานที่อยู่ของลูกหลานทาสผิวดำที่ถูกปลดปล่อยจากอเมริกาและต้องการกลับแอฟริกา ชื่อไลบีเรีย มาจากคำว่า “liberal” หรือเสรีภาพ หลายอย่างของไลบีเรียลอกเลียนแบบมาจากอเมริกา ธงชาติของไลบีเรียต่างกับธงชาติอเมริกันตรงจำนวนดาวที่มีเพียงดวงเดียว เมืองหลวงของไลบีเรียชื่อ Monrovia เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี Monroe ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานในไลบีเรีย หลายเมืองในไลบีเรียตั้งชื่อตามกับมลรัฐสำคัญในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Maryland หรือ Virginia

ด้วยความที่ไลบีเรียมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับอเมริกามาแต่แรก จึงได้รับการดูแลจากรัฐบาลอเมริกาเป็นพิเศษ กองทัพเรืออเมริกาเคยใช้ไลบีเรียเป็นฐานทัพสำคัญสำหรับแอฟริกาตะวันตก รัฐบาลอเมริกาให้ทุนสนับสนุนคนไลบีเรีย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ธุรกิจอเมริกาหลายแห่งเคยใช้ไลบีเรียเป็นฐานการผลิต ไลบีเรียมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้นตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่ได้ผลผลิตดีมาก เคยเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก โรงงานใหญ่ที่สุดของ Firestone ก็เคยตั้งอยู่ในไลบีเรีย

เนื่องจากไลบีเรียเป็นถิ่นฐานที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นจากอเมริกา ไลบีเรียจึงต้องเผชิญกับปัญหาความแตกแยกและการต่อสู้ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ มาตั้งแต่แรก ตั้งแต่การต่อสู้กับชนเผ่าท้องถิ่นหลายเผ่าที่อยู่แต่เดิมและแต่ละเผ่าก็ไม่ค่อยลงรอยกัน ลูกหลานของอดีตทาสที่อพยพมาจากอเมริกาก็มาจากหลายพื้นที่ หลายเผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ของไลบีเรียจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การใช้กำลังแย่งชิงอำนาจ การใช้ความรุนแรง และสงครามกลางเมือง ครั้งหนึ่งหลังจากที่เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ กลุ่มที่ยึดอำนาจได้สำเร็จได้จัดถ่ายทอดสดการประหารชีวิตคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดก่อนด้วยการจับเรียงแถวหน้ากระดานแล้วทรมานอย่างช้าๆ จนเสียชีวิต ความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองได้ส่งผลให้การพัฒนาของไลบีเรีย ลุ่มๆ ดอนๆ แม้ว่ากลุ่มคนชั้นผู้นำของไลบีเรียจะมีการศึกษาสูง และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกามาโดยต่อเนื่อง

สำหรับผมแล้ว ไลบีเรียเป็นประเทศที่สร้างความทรงจำให้นักเศรษฐศาสตร์พเนจรเป็นพิเศษ เพราะเป็นประเทศที่สภาพความเป็นอยู่ยากลำบากที่สุดที่เคยเข้าไปทำงาน และมีโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร ผมถูกส่งเข้าไปทำงานในไลบีเรียเมื่อประมาณ 16 ปีมาแล้วในสมัยที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มของผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไลบีเรียหลังจากที่สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ซึ่งรบกันถึงเจ็ดปียุติลงในปี 1996 Charles Taylor ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีรัฐมนตรีที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกาหลายคนที่เลิกสู้รบในป่าออกมาบริหารประเทศ รัฐบาลใหม่ต้องการบูรณะประเทศอย่างจริงจัง หลังจากที่โครงสร้างพื้นฐาน ระบบเศรษฐกิจ และสังคมถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงจากสงครามกลางเมือง

การเดินทางเข้าไลบีเรียตอนนั้นค่อนข้างยากลำบาก จำได้ว่าต้องบินเครื่องบินเก่าๆ ของสายการบินที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนจาก Abidjan เมืองหลวงของไอวอรี่โคสต์ สนามบินของ Monrovia เหลือแต่รันเวย์ที่สองข้างเต็มไปด้วยเพิงพักพิงของชาวบ้านที่มีลักษณะคล้ายผู้อพยพ เครื่องบินลงจอดแล้วไม่ดับเครื่องยนต์พร้อมที่จะ take off ใหม่ได้ตลอดเวลา ต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนถือตะบองยาวๆ ล้อมรอบเครื่องบิน กันไม่ให้ชาวบ้านเข้าใกล้เครื่องบินและเข้ามาหยิบฉวยกระเป๋าที่ขนลงจากเครื่อง ในอาคารชั่วคราวของสนามบิน มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสองสามคน ตรวจหนังสือเดินทาง แต่ทั้งสามคนมีปากกาหนึ่งด้ามและสมุดบันทึกเก่าๆ หนึ่งเล่ม ผลัดกันบันทึกรายละเอียดจากหนังสือเดินทางของผู้โดยสาร กว่าจะผ่านออกมาได้และตามหากระเป๋าพบก็เหงื่อตกพอสมควร

บ้านเมืองของไลบีเรียในวันนั้นเต็มไปด้วยซากปรักหักพังจากสงครามกลางเมือง สถานที่ราชการที่ไม่ได้ถูกทำลาย กลายเป็นที่พักของชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องใช้ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านแบบยอมรับสภาพ ตึกของธนาคารกลางมีราวตากผ้าของชาวบ้านเต็มไปหมด ที่จำได้แม่นอีกที่หนึ่งคือสำนักงานใหญ่ของธนาคารเพื่อการ เกษตร ซึ่งถูกเผาและถูกทำลายไปหลายส่วน ห้องผู้จัดการใหญ่เหลือผนังอยู่เพียงสามด้านและมีตู้เอกสารเก่าๆ เหลืออยู่ 2-3 ใบ ในขณะที่ประชุมกับผู้จัดการใหญ่ว่าจะบูรณะระบบธนาคารเพื่อการเกษตรให้กลับขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร เราได้ยินเสียงไก่ขันอยู่ในห้องข้างๆ และได้กลิ่นควันไฟจากชาวบ้านที่ทำกับข้าวไปพร้อมๆ กับที่เราประชุม นับได้ว่าเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรที่ติดดินที่สุดในโลก

ทุกตึกใหญ่ๆ ที่เหลืออยู่พอทำงานได้ต้องมีเครื่องปั่นไฟ (เครื่องใหญ่ๆ เสียงดังๆ) เป็นของตัวเอง เพราะโรงผลิตไฟฟ้ากลางได้ถูกทำลายหมดในช่วงสงครามกลางเมือง ไฟที่ปั่นเองก็จำกัดเพียงพอแค่ทำงานได้เท่านั้น ผมจำได้ว่าเดินเข้าไปในธนาคารกลางแล้วเห็นแต่จอคอมพิวเตอร์เปิดไว้ทั้งห้องแต่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่สักคน ต้องรอให้สายตาปรับสัก 2-3 นาทีจึงเห็นว่าทุกจอคอมพิวเตอร์มีเจ้าหน้าที่นั่งจ้องอยู่ แต่เนื่องจากมีไฟฟ้าจำกัด จึงต้องทำงานท่ามกลางความมืด ไม่เปิดไฟ การประชุมกับรัฐมนตรีคลังแต่ละวันก็เป็นอีกภาระอันใหญ่หลวง เพราะห้องรัฐมนตรีอยู่บนชั้นเจ็ดที่ต้องเดินขึ้นลงบันได ทุกครั้งที่ต้องการเข้าห้องน้ำก็ต้องเดินลงมาชั้นหนึ่ง เพราะไม่มีไฟฟ้าพอสำหรับปั๊มน้ำที่จะดึงน้ำขึ้นไปห้องน้ำข้างบน

โจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ใหญ่สุดที่เราได้รับในวันนั้น คือหลังจากที่สงครามกลางเมืองสงบลงแล้ว รัฐบาลไลบีเรียควรใช้เงินสกุลใดเป็นเงินสกุลหลักของประเทศ และจะทำให้มีธนบัตรเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศได้อย่างไร ในเวลานั้นชาวไลบีเรียใช้ธนบัตรอยู่สองสกุลคือไลบีเรียนดอลลาร์ กับอเมริกันดอลล่าร์ ปริมาณธนบัตรทั้งสองสกุลที่หมุนเวียนอยู่ในไลบีเรียจำกัดมาก

รับรองได้ว่าเงินไลบีเรียนดอลลาร์ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน อาจจะเป็นตัวอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในโลกของการมีปริมาณเงินที่จำกัดมาก ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก ธนาคารกลางของไลบีเรียหยุดทำงานไปหลายปีในช่วงสงครามกลางเมือง ไม่มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติม เมื่อสงครามกลางเมืองสงบลงแล้วอยากจะพิมพ์ธนบัตรเพิ่มก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีโรงพิมพ์ธนบัตรของตนเอง และยังค้างหนี้ค่าพิมพ์ธนบัตรรุ่นเก่ากับโรงพิมพ์ในต่างประเทศ ไม่มีโรงพิมพ์ธนบัตรที่ไหนในโลกยอมพิมพ์ธนบัตรให้ใหม่ นอกจากนี้ ไลบีเรียไม่มีระบบธนาคารพาณิชย์ที่จะคอยรับฝากเงินและหมุนเงิน ทำให้ปริมาณเงินไลบีเรียนดอลลาร์ทั้งระบบเศรษฐกิจจึงเท่ากับจำนวนธนบัตรที่เหลือใช้หมุนเวียนอยู่เท่านั้น ไลบีเรียในวันนั้นจึงมีปัญหาเงินฝืดอย่างแท้จริง หาไม่ได้ที่อื่นในโลก ต่างจากหลายประเทศที่มักเกิดปัญหาเงินเฟ้อในสภาวะสงครามหรือหลังสงคราม เพราะรัฐบาลมักจะขอให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินจำนวนมากออกมาใช้จ่ายในสภาวะที่ยากลำบาก

ธนบัตรไลบีเรียนดอลลาร์ที่เหลือใช้หมุนเวียนอยู่พิมพ์มาหลายปีมากแล้ว และสภาพของธนบัตรทั้งเก่าและเปื่อยมาก เพราะภูมิอากาศของไลบีเรียนร้อนชื้น รวมทั้งคนต้องซ่อนธนบัตรไว้ตามตัวในช่วงสงครามกลางเมือง คนไลบีเรียแก้ปัญหาด้วยการเอาเทปใสแปะขอบธนบัตรทุกใบและจับธนบัตรเฉพาะตรงที่แปะเทปใสไว้เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ธนบัตรขาดยุ่ยเวลาที่ใช้จ่าย

นอกจากนี้ธนบัตรที่คงเหลือใช้อยู่ในไลบีเรียก็พิเศษมาก เพราะเหลือธนบัตรสองรุ่นที่พิมพ์ต่างปีกัน ในช่วงของสองประธานาธิบดี(ที่มาจากสองฝ่าย)ก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ สองรุ่นนี้พิมพ์ออกมาจำนวนไม่เท่ากัน และประธานาธิบดีทั้งสองคนได้รับการยอมรับต่างกันในต่างพื้นที่ของไลบีเรีย ทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนบัตรไลบีเรียนดอลลาร์ด้วยกันเอง เวลาที่คนจะซื้อจะขายของต้องดูก่อนว่าธนบัตรที่ได้รับพิมพ์สมัยประธานาธิบดีคนไหน ถึงจะหยิบของให้ได้ถูกจำนวน

ความพิเศษมากอีกประการหนึ่งคือธนบัตรไลบีเรียนดอลลาร์ที่เหลืออยู่ทั้งสองรุ่น คือเหลืออยู่เฉพาะธนบัตรมูลค่าห้าดอลลาร์เท่านั้น เนื่องจากธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรมูลค่าห้าดอลลาร์แล้วเบี้ยวไม่จ่ายเงินค่าพิมพ์ให้โรงพิมพ์ โรงพิมพ์จึงไม่ยอมพิมพ์ธนบัตรมูลค่าอื่นให้ ผลที่เกิดขึ้นคือการซื้อขายของทุกอย่างต้องปรับให้มีราคาหารด้วยห้าลงตัว เช่น ไม่ขายกระดาษเป็นห่อ แต่จะแบ่งออกมาขายทีละห้าดอลลาร์ ไม่ซื้อขายผักผลไม้เป็นกิโลกรัม แต่ซื้อขายกันเป็นกองละห้าดอลลาร์ ถ้าบางอย่างราคาหารด้วยเลขห้าไม่ลงตัวก็จะได้ของแถมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ซื้อน้ำอัดลมหนึ่งขวดแล้วได้แถมลูกกวาดเป็นเงินทอน

นอกจากนักเศรษฐศาสตร์พเนจรจะตื่นตาตื่นใจกับตัวอย่างปริมาณเงินจำกัด และธนบัตรแปลกประหลาดแล้ว ไลบีเรียเป็นประสบการณ์การทำงานในสภาวะหลังสงครามประเทศเดียวของผม ได้เห็นความแตกต่างระหว่างคุณภาพชีวิตของผู้มีอำนาจและผู้มีเงินกับประชาชนทั่วไปที่ต่างกันหลายร้อยหลายพันเท่า ได้เห็นวิธีการทำธุรกิจของคนบางกลุ่มที่สามารถปรับตัว เอาตัวรอด และสร้างความร่ำรวยได้อย่างไม่น่าเชื่อ จากสภาวะที่ยากลำบาก โรงแรมที่ผมอยู่เป็นสถานทูตเก่า (จึงรอดจากการถูกเผา) ที่นักธุรกิจชาวเลบานีสรีบเข้าไปบูรณะสำหรับพวกเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ เราฝากท้องไว้กับร้านอาหารอิตาเลียนที่เปิดต่อเนื่องตลอดช่วงเจ็ดปีของสงครามกลางเมือง เป็นร้านอาหารเดียวที่คงอยู่ได้โดยไม่ถูกทำลาย (เข้าใจว่าเป็นร้านโปรดของผู้มีอำนาจทุกสมัย) ได้พบกับเจ้าของธนาคารพาณิชย์ชาวอิตาเลียนที่สร้างกำแพงสูงรอบบ้านและติดเหล็กดัดขังตัวเองอยู่แต่ภายในบ้าน คอยหากำไรจากการโอนเงินเข้าออกไลบีเรียตลอดช่วงสงครามกลางเมือง

สิ่งที่หดหู่มากที่สุดตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผมอยู่ในไลบีเรีย ไม่ใช่ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเมือง แต่เป็นสภาวะความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และสภาวะสังคมที่เหลืออยู่ เพราะนอกจากชาวบ้านจะไม่มีที่อยู่อาศัยถาวร และไม่มีอาชีพแล้ว หลายคนสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงสงครามกลางเมือง สภาพจิตใจของชาวไลบีเรียถูกทำลายอย่างไม่มีความหวัง ใช้ความรุนแรงกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา เห็นคนทะเลาะกันรุนแรงตามท้องถนนเป็นประจำ พร้อมที่จะแก่งแย่งและแสดงความเกลียดชังใส่กันเพื่อความอยู่รอด การบูรณะสภาพจิตใจและวิถีชีวิตของชาวบ้านยากกว่าการสร้างตึกรามบ้านช่องใหม่ หรือพิมพ์ธนบัตรใหม่ หลายเท่านัก

ผ่านไปสิบหกปีแล้ว ไลบีเรียกลับไปเผชิญสงครามกลางเมืองอีกรอบหนึ่ง ก่อนที่เสถียรภาพทางการเมืองจะดีขึ้นมากหลังการเลือกตั้งในปี 2005 ไลบีเรียวันนี้ มีประธานาธิบดี Ellen Johnson Sirleaf เป็นประธานาธิบดีหญิงที่แข็งแกร่ง เธอเป็นอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ได้ผลักดันการบูรณะและพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นหลายด้านตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาพที่ปรากฏในรายงานข่าวเรื่องโรคอีโบล่าระบาดใน BBC และ CNN ยังแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนไลบีเรียยังต้องเดินทางอีกไกลมาก เวลานี้ได้แต่หวังว่าจะควบคุมสถานการณ์การการระบาดของโรคอีโบล่าได้โดยเร็ว และไลบีเรียไม่ถูกฉุดให้ถอยหลังไปไกล

ประสบการณ์การทำงานในไลบีเรียเป็นเครื่องเตือนใจผมอยู่ตลอดเวลาว่าโชคดีนักหนาที่เกิดเป็นคนไทย ปัญหาที่เราเผชิญในช่วงห้าปีที่ผ่านมาเป็นเพียงเรื่องน้อยนิดเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ไลบีเรีย ได้แต่หวังว่าคนไทยจะช่วยกันป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้สังคมไทยใช้ความรุนแรง และหยุดไม่ให้ความแตกแยกทางความคิดนำไปสู่สงครามกลางเมือง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม