เศรษฐกิจพอเพียงของเวียดนาม พรหมจรรย์สันโดษ

เศรษฐกิจพอเพียงของเวียดนาม พรหมจรรย์สันโดษ

มีไม่กี่คนที่รู้ว่าเวียดนามนอกจากจะเป็นประเทศส่งออกข้าวและกาแฟรายใหญ่ของโลกแล้ว ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่

ของอาเซียนที่สามารถชี้นำเศรษฐกิจลาวและกัมพูชา และคาดหวังจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกภายในปี 2050 ให้ได้

อะไรที่ทำให้ประเทศเวียดนามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเผชิญกับภาวะสงครามและความอดอยากมานานนับ 100 ปีสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจทั้งที่มีประชากรถึง 93 ล้านคนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง (Economics in transition) การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรจำนวนมหาศาลไปสู่อุตสาหกรรมโดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ถนนคลาคล่ำไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์กว่า 40 ล้านคันตลาดรถมอเตอร์ไซค์จึงใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกภายใน 1 ตารางกิโลเมตรของเมืองโฮจิมินห์มีผู้คนมาอาศัยอยู่มากถึง 40,000 คน ขณะที่กรุงเทพมีเพียง 3,634 คน

ในความเป็นจริง เวียดนามไม่ได้สับสนวุ่นวายอย่างนั้น เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคอยกำกับการครองชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์) ทำให้คนยึดเอาการงานเป็นศาสนาเผยศักยภาพของสังคมนักการค้าที่ยิ่งใหญ่มาแต่โบราณ ผสานกับอุดมการณ์สังคมนิยมที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมและความสันโดษที่เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

พรหมจรรย์ของสังคมนักการค้าช่วยพัฒนาเทคโนโลยีในตัวคนขึ้นมา ทั้งทักษะการค้าและการเดินเรือจนเลื่องลือกันว่า ผู้คนในพื้นที่ปากแม่น้ำโขงเป็นนักเดินเรือที่เก่งที่สุดของโลกมีตลาดน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายและกลายเป็นย่านการค้าสำคัญอาทิ ตลาดน้ำโบราณเจ๋อโหนยไก๊รังที่เชื่อมโยงผู้คนใน 6 จังหวัด 4 ประเทศ (เวียดนาม จีน กัมพูชาและไทย) เข้าด้วยกัน เรือโบราณทำจากไม้ไกซาว (ไม้ตะเคียน) สามารถแล่นไปขายสินค้าเกษตรราคาถูกได้ไกลถึงต่างประเทศเพราะความสามารถในการเดินเรือและการตัดเส้นทางลัดเลาะสู่คลองต่างๆ เพื่อย่นระยะทาง

ความสามารถในการหาพืชผักราคาถูกตามเรือกสวนไร่นาภายในรัศมี 150 กิโลเมตรได้อย่างรวดเร็ว แล้วขายให้หมดภายในสองหรือสามวันทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพ ต้นทุนการค้าที่ต่ำทำให้ตลาดน้ำเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน

ผักและการปลูกผักซ่อนความสันโดษของคนเวียดนามเอาไว้ ช่วงหลังสงคราม (1980) เป็นช่วงที่โหดร้ายผู้คนต้องเผชิญกับความอดอยากพากันล้มตายเนื่องจากขาดอาหาร ต้องกินข้าวที่ใส่ “บอบอ” กับผักและหน่อไม้จิ้มเกลือ ผักจึงเป็นความอยู่รอดที่คนยกย่องให้เป็นองค์ความรู้หลักเอาไว้สั่งสอนลูกหลานให้ปลูกผักได้งามแม้ในวัด พระยังต้องปลูกข้าวและผักไว้ฉันเองราชาแห่งผักสำหรับคนเวียดนามคือ “ผักบุ้ง” ของดีที่คนมีฐานะนิยมกินกัน เชื่อว่าช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง

ความสันโดษทำให้การปลูกผักเป็นความมหัศจรรย์สวนผักขนาดเล็กไม่ถึง 1 ไร่นั้นมีกำลังการผลิตมหาศาล ผักที่ “ตลาดเจอเด่าโม้ย” ในเมืองฮกโมงสามารถส่งออกไปขายถึงต่างประเทศจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

หัวใจสำคัญอยู่ที่คูระบายน้ำและ “การดำผัก” วิทยาการง่ายๆ แต่ไม่ง่ายเลย เพราะต้องคอยปรับระดับน้ำในคูให้น้ำไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำทำให้ผักงามดีการดำผักไม่ได้ใช้แค่แรงกาย แต่ต้องใช้แรงใจอันแรงกล้าจึงจะสามารถดำผักทีละต้นได้ โดยพอใจในที่สงบสงัด มีระเบียบวินัย หมั่นประกอบความเพียรทางจิตใจอยู่เสมอและรู้จักประมาณในการกินการอยู่

ใจที่สันโดษเปลี่ยนสวนผักเล็กๆ ให้เป็นพื้นที่การประดิษฐ์คิดค้นจนเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา (Technology breakthrough) เช่นการกางมุ้งคลุมทั่วพื้นที่ การกางมุ้งคลุมแปลงเพาะปลูก การแกล้งดินโดยคลุมหน้าดินเพื่อป้องกันวัชพืชฉวยโอกาส และการหมักปุ๋ยขี้ไก่กับแกลบไว้บำรุงดินผักจึงออกมาสวย สด มีคุณภาพและได้ราคาดีความสันโดษจึงเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง หากตัดผักขายได้ในปริมาณมากๆ จะมีอำนาจในการต่อรองราคาที่ 10,000 ดองต่อกิโลกรัม (ประมาณ 15 บาท) แต่ถ้าผักดีมีน้อย เจ้าของต้องยอมลดราคาลงมาเกือบครึ่งกำไรต่อวันประมาณ 300 - 600 บาท

ชาวเวียดนามมองแปลงผักด้วยสายตาที่มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น เมื่อยึดการทำงานเป็นศาสนา หรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ช่วยลดกิเลสการปลูกผักจึงเป็นการขัดเกลาตนเองเพื่อลดกิเลส และความดับกิเลสได้นั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ทำให้คนไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกันอีกต่อไป

เศรษฐกิจพอเพียงของชาวเวียดนามยังให้ความสำคัญกับการแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือคนจน เพราะถูกปลูกฝังด้วยแนวคิดของระบบคอมมิวนิสต์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ (ค.ศ. 1954 ถึง 1990) แม้รูปแบบการแบ่งปันจะไม่ใช่การแจกคูปองและการปันสินค้าเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ด้วยการยอมลดราคาสินค้าเพื่อให้ผู้อื่นได้มีของไว้กินแทนการกักตุนสินค้าหรือปล่อยให้เน่าเสียเพื่อดึงราคา การทำการค้าโดยยอมรับการขาดทุนในบางครั้งถือเป็นการสร้างบุญด้วยการทำประโยชน์ให้สังคม

เมื่อการทำบุญหมายถึงการช่วยเหลือสังคมพระสงฆ์ที่เวียดนามในฐานะผู้นำทางสังคมจึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของรัฐสภา โดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องพรหมจรรย์ การแบ่งปันและความสันโดษไปวางอยู่ในใจกลางของทุกระบบเศรษฐกิจ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เศรษฐกิจให้เป็นแหล่งประดิษฐ์คิดค้นที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเวียดนาม ....แม้โลกหลังสงครามจะเต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง