Thailand: Reforming for Sustainable Growth

Thailand: Reforming for Sustainable Growth

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

และ Bank of America Merrill Lynch ได้จัดงาน “Thailand Focus” เป็นครั้งที่ 8 เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ได้มีโอกาสรับฟังยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงินจากผู้บริหารสูงสุดของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยหัวข้อการเสวนาในปีนี้คือ Reforming for Sustainable Growth ซึ่งนับเป็นงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงินระดับนานาชาติงานแรกๆ นับจากคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาบริหารประเทศ และเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหารประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายการบริหารประเทศที่มีความแตกต่างจากที่ผ่านๆ มา คือ การมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ในงานนี้เริ่มต้นจากการที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้หยิบยกความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นให้กลับไปสู่อัตราการขยายตัวตามศักยภาพ หรือ Potential Growth ผ่านนโยบายการเงินการคลัง และนโยบายต่อเนื่องในการยกระดับอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ (Lifting Growth Potential) ให้สูงขึ้นจากระดับปกติที่ 4% ถึง 4.5% ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของผู้บริหารประเทศไปจนถึงผู้ประกอบการไทย

เพราะการขยายตัวในอดีตของไทยเกิดจากการใช้แรงงานเป็นหลัก แต่ด้วยสถานการณ์การตึงตัวของภาคแรงงานในปัจจุบัน ประกอบกับการที่สังคมไทยกำลังจะก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุ การจะเพิ่มระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านอื่นๆ ด้วย

นโยบายที่สำคัญและเป็นที่จับตามองของนักลงทุนอย่างมากก็คือ นโยบายการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งท่านพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแผนงานหลัก โดยจะเป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งระบบขนส่งทั้งทางบก (ถนนและระบบรถไฟ) ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญสำหรับกลุ่มประเทศแถบลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion) ซึ่งนับเป็นการใช้ความได้เปรียบจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของไทยเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

โดยจะมีการระดมทุนผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตร การกู้ยืมโดยตรงจากธนาคาร การร่วมทุนกับภาคเอกชน รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้น ส่งผลให้สภาวะตลาดการเงินในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น และเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง สะท้อนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาควบคู่ไปกับการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแล และส่งเสริมให้สถาบันการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อยู่ในภาวะที่เอื้อหรือสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นอกเหนือไปจากบทบาทของภาครัฐ และการสนับสนุนจากภาคธนาคารและตลาดเงินตาม ที่ได้มีการเสวนาใน Thailand Focus 2014 ไปแล้วนั้น ดิฉันอยากจะขอกล่าวถึงบทบาทสำคัญของภาคตลาดทุนในการสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศและบริษัทเอกชน

ทั้งนี้ ภาคตลาดทุนที่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุน และการเป็นช่องทางการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สามารถสนับสนุนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างถนน ระบบรถไฟความเร็วสูงและรางคู่ ท่าเรือน้ำลึก รวมไปถึงระบบขนส่งมวลชนในเมืองสำคัญหลายแห่ง ด้วยการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินการโครงการได้รวดเร็วและมีความคล่องตัว มากกว่าการใช้งบประมาณแผ่นดินหรือการกู้ยืมผ่านตลาดเงิน นอกจากนี้ การระดมทุนจากนักลงทุนที่หลากหลายผ่านตลาดทุน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพทางการคลังให้แก่ประเทศอีกด้วย

สำหรับภาคเอกชน ที่ผ่านมาการระดมทุนผ่านตลาดทุนจะเน้นการระดมทุน เพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตของบริษัท แต่ในช่วงต่อไปบทบาทของตลาดทุนเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างยั่งยืนของธุรกิจจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นนี้ ดิฉันอย่างย้ำถึงความสำคัญของการระดมทุนเพื่อไปใช้ในการพัฒนาด้านนวัตกรรมใหม่ ผ่านโครงการ Research and Development (R&D) ซึ่งเป็นส่วนงานที่บริษัทเอกชนในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญนัก

เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรสูงและต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริษัทที่ประสบความสำเร็จในระดับสากล จะพบว่าบริษัทเหล่านั้นจะมีการลงทุนด้าน R&D อย่างจริงจังและเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท UniLever, Amazon.com หรือแม้กระทั่งบริษัท CP ALL ของประเทศไทยที่ทั้งหมดต่างติดอันดับ Top 10 ในรายชื่อ 2014 World Most Innovative Companies ของนิตยสาร Forbes สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนใน R&D เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท และสามารถสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ การที่นำเอาบริษัทเอกชนมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะสามารถทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้างสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัทเนื่องจากมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบได้ในระดับสากล ทำให้เกิดความโปร่งใส และสามารถสะท้อนถึงธรรมาภิบาลที่ดีของภาคเอกชน นับเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคเอกชน

การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับประเทศ นับเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่การสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนเป็นงานที่ยากยิ่งกว่า ซึ่งการจะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มต้นจากการดำเนินนโยบายบริหารประเทศที่ชัดเจน ประกอบกับการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันของภาคธนาคารและตลาดเงินตลาดทุน ที่ช่วยสนับสนุนผลักดันนโยบาย และส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือการสนับสนุนจากภาคประชาชน เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคเศรษฐกิจอย่างแท้จริง