"ลาว" โอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม

"ลาว" โอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม

มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ สุภาษิตนี้เหมาะที่ไทยจะใช้กับประเทศลาว ประเทศพี่เมืองน้องที่ต้องผูกสัมพันธ์

ให้แนบแน่นกันมานาน ที่ผ่านมามีธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในลาวจำนวนมาก เป็นอันดับ 2-3 ในช่วงปี 2532-2555 รองจากเวียดนาม แม้ลาวจะมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่าประเทศไทย และหลายๆ ประเทศในอาเซียน แต่กำลังซื้อที่มีอยู่ก็มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะตระกูลที่เป็นคหบดีในลาวมีเพียงร้อยกว่าตระกูล แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้ชนชั้นกลางในลาวเริ่มมีขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนจังหวัดตามแนวชายขอบ ทางภาคอีสานของไทยจะเห็นกำลังซื้อที่ข้ามแดนมาจับจ่ายใช้สอยหรือรับบริการต่าง ๆ ทางฝั่งไทย ทั้งโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือบริการทางการเงิน ห้างสรรพสินค้าบางแห่งมีพื้นที่จอดรถรองรับลูกค้าลาวโดยเฉพาะ แม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่พากันไปผุดสาขาและศูนย์บริการ ลูกค้ากระเป๋าหนักหรือลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง (Wealth Management) เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการการออมและการลงทุนค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดเงินในประเทศลาวยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่มากเพียงพอทำให้ทางเลือกในการลงทุนของลูกค้าลาวยังไม่หลากหลาย ไม่เท่านั้นธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีแผนที่จะเข้าไปเปิดสาขาในลาวในเร็ว ๆ นี้ได้แบ่งพื้นที่ชั้นบนของสาขารองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้โดยไม่ต้องเดินทางข้ามชายแดนให้ลำบาก

ที่ผ่านมาตลาดการเงินในลาว สินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 35 แห่งในลาวรวมกันแล้วประมาณ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่เคยชินกับการฝากเงินเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในลาวยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยหากลูกค้าฝากเป็นเงินกีบจะได้รับดอกเบี้ยถึง 10% ฝากเป็นเงินบาทได้รับดอกเบี้ยถึง 7% และฝากเป็นเงินดอลลาร์จะได้รับดอกเบี้ยถึง 5% ขณะที่การกู้เงินก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าประเทศไทย ตลาดรถยนต์ในลาวมีการเติบโตที่ดีแต่การซื้อรถในประเทศลาวกว่า 80-90%ยังใช้เงินสดอยู่

ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารของกลุ่มบริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจรักษาความงามของไทยเช่น วุฒิศักดิ์ มิตรผล บิวตี้บุฟเฟต์ฯลฯ เข้าไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมรเวียดนามและพม่า ประสบการณ์หลายสิบปีของเขาสรุปได้ว่าเวียดนามเป็นตลาดที่เรียกว่าหินที่สุด ด้วยสภาพสังคมที่ผ่านสงครามการต่อสู้ดิ้นรนมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ไม่นับรวมกฎระเบียบของภาครัฐที่ค่อนข้างเข้มชนิดที่ห้ามเปิดช่องว่างให้เล่นงานกันเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันประเทศลาวเป็นประเทศที่เหมาะที่สุด สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ที่กำลังมองหาโอกาส ออกมาลงทุน ไม่ใช่แค่ภาษาเท่านั้นที่เป็นใบเบิกทาง แต่กำลังซื้อในลาวมีมหาศาลและกำลังมีการลงทุนจากจีนเข้ามาอีกมาก เพราะรัฐบาลลาวและจีนมีนโยบายเกื้อหนุนกันอยู่ แต่นั่นไม่ได้ทำให้สินค้าจีนจะได้รับความนิยมมากไปกว่าสินค้าไทยที่ได้รับการจัดชั้นว่ามีระดับเหนือกว่ามาก นอกจากนี้อุปนิสัยของผู้บริโภคชาวลาวยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกด้วย

หากจะว่าอุปนิสัยของคนไทยขี้เกรงใจแล้ว ต้องบอกว่าคนลาวมี อุปนิสัยเป็นคนขี้เกรงใจขั้นสูงกว่า 90% ของลูกค้าที่เดินเข้าห้างร้านต่าง ๆ จะต้องมีสินค้าติดไม้ติดมือกลับไปด้วย

เหล่านี้ถือเป็นข้อสรุปเล็กๆ น้อยจากประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในตลาดเพื่อนบ้านไทย ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย