คนเก็บขยะ

คนเก็บขยะ

หากทำให้เห็นได้ว่าการเก็บขยะมีมูลค่าก็จะเพิ่มโอกาสให้คนหันมาร่วมมือช่วยกันจัดการขยะมากขึ้น

คนส่วนใหญ่ในขณะนี้ตระหนักดีถึงมูลค่าขยะที่มีอยู่เต็มบ้าน ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้ว กระป๋อง กล่องพลาสติก ที่สามารถขายเพื่อนำวัสดุไปรีไซเคิลต่อ หรือเสื้อผ้า ข้าวของ ที่ไม่ค่อยได้ใช้แต่ยังอยู่ในสภาพดีที่อาจขายเป็นมือสองและมีตลาดรองรับอยู่หลายแห่ง กระแสขยะกลายเป็นทองที่พาเอาหลายคนมีเงินใช้เป็นกอบเป็นกำได้ทำให้หลายคนเห็นคุณค่าของการจัดการขยะในบ้านมากขึ้น เช่นมีการเก็บรวบรวมขายให้รถที่มารับซื้อตามบ้าน แต่อีกจำนวนมากก็ยังไม่ลุกขึ้นทำอะไรอย่างจริงจังด้วยความขี้เกียจบ้างหรือรู้สึกว่ายังไม่ค่อยสะดวก

มาตรการตอบโจทย์ดังกล่าวจึงนับว่ามีความสำคัญ ตัวอย่างที่พบมากเช่นการตั้งถังขยะรีไซเคิลตามอาคารสำนักงานและสถานศึกษาที่มีขยะกระดาษและพลาสติกจำนวนมาก โดยการตั้งที่จุดใกล้แหล่งใช้และทิ้งน่าจะช่วยให้คนรู้สึกว่าไม่เป็นการลำบากที่จะให้ความร่วมมือ แม้ผลที่ได้จะไม่กลับมาในรูปตัวเงินตอบแทนแต่ก็ทำให้การช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น และในบางแห่งอาจช่วยลดต้นทุน เช่น นำกระดาษหน้าเดียวกลับมาใช้ซ้ำที่ทำงาน

ไอเดียถังหรือถุงแยกนี้ยังอาจนำไปใช้ตามบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่มีการรณรงค์อย่างจริงจังจะให้คนแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อสะดวกแก่ทางการในการนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลต่อไป ยิ่งถ้าเป็นขยะพิษ เช่น แบตเตอรี่หรือกระป๋องบรรจุสารเคมีต่างๆ ยิ่งอาจถึงขั้นมีกฎระเบียบบังคับให้แยกทิ้งในที่จัดไว้ เพราะหากทิ้งไปรวมกันอาจก่ออันตรายจากการรั่วซึมหรือจุดประกายไฟดังที่พบในข่าวเป็นระยะ และในบางแห่งยังมีการเก็บภาษีขยะจากปริมาณและประเภทที่ทิ้ง เรียกเป็นระบบ Pay as you throw

สำหรับข้าวของชนิดที่ยังมีมูลค่า บางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาและในยุโรปพบปรากฏการณ์ Yard Sale ที่คนเอาของ เช่น เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า มากองขายกันที่สนามหน้าบ้าน คนซื้อมีตั้งแต่เพื่อนบ้านด้วยกันไปจนถึงกลุ่มนักศึกษาที่ไม่อยากลงทุนกับของใช้มากเพราะยังไม่มีรายได้ ประกอบกับพฤติกรรมการย้ายที่อยู่กันบ่อยๆ จึงไม่พร้อมจะจ่ายเงินเยอะๆ กับสิ่งเหล่านี้ สำหรับบางคนที่ขี้เกียจขายอาจเอามาตั้งในจุดเตะตาพร้อมป้ายเชิญชวนให้มาเลือกเอาไปใช้กันต่อ ประกอบกับขยะบางประเภทที่เก่าเกินไปอาจมีมูลค่าในการกำจัด (ไม่ใช่การขาย) เช่นรถยนต์ที่โทรมจนไม่คุ้มซ่อม หากจะทิ้งในอเมริกาต้องไปเสียเงินให้ศูนย์ที่รับเอาไปทำลายหรือแยกส่วน

นอกจากการจัดการโดยครัวเรือนหรือสำนักงาน ยังมีมาตรการใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นด้วยการออกแบบเชิงกลยุทธ์เพื่อให้คนอยากแยกขยะกันมากขึ้น เช่น การกระตุ้นให้คนเอาขวดหรือกระป๋องไปแลกเป็นเงินได้ที่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ในอดีตเคยเป็นแคมเปญตามความสมัครใจของบางแห่งที่อยากมีส่วนช่วยสังคมสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันในบางเมือง อย่างที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกาเป็นกฎหมายบังคับแล้วให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องเป็นที่ขึ้นเงินค่าขวดกระป๋องตั้งแต่ 5 เซ็นต์ขนาดเล็กไปถึง 10 เซ็นต์ขนาดใหญ่ (24 ออนซ์ขึ้นไป)

การเลือกซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นแหล่งจัดการนับเป็นกลยุทธ์บริหารช่องทางที่ช่วยให้การแยกขยะทำได้ง่ายและน่าสนใจเพราะโดยพฤติกรรมคนจะไปซื้อของเข้าบ้านก็เมื่อมีการเคลียร์ของเก่าหมดไปแล้ว เมื่อจะซื้อขวดกระป๋องมาเติมใหม่ก็ควรนำขวดกระป๋องเก่าติดไปรีไซเคิลด้วย และการได้เงินตอบแทนยังอาจมาในรูปคูปองใช้ซื้อสินค้าต่อไปในร้าน ทั้งนี้ทุกคนมีหน้าที่ต้องล้างทำความสะอาดและบางที่ให้บี้กระป๋องลดพื้นที่ให้ด้วย ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องทำกันทุกบ้านเพื่อไม่มาเป็นภาระเรื่องความสะอาดกับการจัดเก็บของซูเปอร์มาร์เก็ต

แต่ลำพังการบริหารร้านและการขายก็วุ่นวายพอแล้ว หากไม่เป็นกฎหมายบังคับก็นับว่ายากอยู่ที่จะให้ทุกซูเปอร์มาร์เก็ตลุกขึ้นทำโครงการสนับสนุนนี้ อีกช่องทางที่เข้ามาตอบโจทย์ได้จึงเป็นการตั้งตู้อัตโนมัติแบบ Vending Machine ต่างจากปรกติที่แทนที่จะใส่เงินเพื่อรับของ ก็กลายเป็นใส่ของ(ขยะ)เพื่อรับเงิน เรียกเป็นตู้ Revend (สวนทางกัน) โดยตู้นี้สามารถแยกประเภทและคำนวณราคาจ่ายเงินคืนให้ลูกค้าได้อัตโนมัติ ความสะดวกของตู้ทำให้สามารถนำไปตั้งกระจายตัวได้ทั่วไป พบตั้งแต่ที่สถานีรถไฟใต้ดินที่คนในเมืองใหญ่ใช้เดินทางอยู่ทุกวัน ทำให้ทยอยเอาออกมาใส่ตู้ได้ไม่ต้องเก็บขยะไว้เกะกะบ้าน หรือตามร้านค้าหลายแห่งที่ยินยอมจัดสรรพื้นที่ให้ตั้งตู้เพราะไม่ได้ต้องยุ่งยากในการจัดการ (ยกเว้นตอนถ่ายตู้ที่หากมีระบบส่วนกลางมารองรับก็น่าจะช่วยตัดปัญหาข้อนี้ไปได้)

ตัวอย่างพบที่ IKEA ในสกอตแลนด์ที่จ่ายเงินคืนให้เป็นคูปองใช้ซื้อสินค้า เป็นการช่วยโลกและช่วยส่งเสริมธุรกิจไปพร้อมๆ กัน นอกจากนั้น ลูกค้ายังมีทางเลือกบริจาคเงินส่วนนี้ช่วยองค์กรการกุศลหรือรับเงินสดคืนเลยก็ได้ สกอตแลนด์ในอดีตเคยใช้วิธีเก็บเงินค่าขวดกระป๋องไปล่วงหน้าและลูกค้าจะได้เงินส่วนนี้คืนเมื่อนำมารีไซเคิล เรียกเป็นการใช้จิตวิทยาของการที่คนรู้สึกไม่อยากสูญเสีย (Loss Aversion) มากกว่าการให้เป็นรางวัลจูงใจในมูลค่าเท่ากัน

อีกหนึ่งช่องทางเป้าหมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกและสอดคล้องความต้องการจัดการขยะ ได้แก่ งานกิจกรรม Event ต่างๆ ที่มีคนมารวมตัวกันมากๆ ทำให้มีปัญหาขยะล้นทะลัก ที่ญี่ปุ่นพบปัญหาต้นทุนในการจัดการขยะมหาศาลเหล่านี้ โดยเฉพาะที่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่นจานหรือแก้กระดาษ/พลาสติก หรือแม้แต่ช้อนส้อมตะเกียบ ต่อมาจึงเกิดนวัตกรรมการประดิษฐ์สิ่งเหล่านี้จากวัสดุที่กินได้ คือกินข้าวแล้วกินจานกินช้อนต่อไปด้วยเลยจบในตัว

แนวคิดที่เล่ามาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านการจัดการขยะที่มีมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบแตกต่างกัน เพราะขยะเป็นเรื่องรอบตัวใกล้ชิดกับทุกคนและทุกบ้าน หากทำให้เห็นได้ว่าการเก็บขยะมีมูลค่า (ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการได้มาเป็นสิ่งจูงใจหรือการไม่ต้องเสียไปเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ) ก็จะเพิ่มโอกาสให้คนหันมาร่วมมือช่วยกันจัดการขยะมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องสะดวกและเข้าถึงได้ และที่ต้องทำต่อไปคือ มาตรการเชิงป้องกันเพื่อลดจำนวนการผลิตขยะอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของการบริหารทรัพยากรโลก