สร้างมาตรฐานสินค้าไทยรับมือเออีซี

สร้างมาตรฐานสินค้าไทยรับมือเออีซี

เหลืออีกเพียงปีเศษ (31 ธ.ค. 2558) อาเซียน 10 ประเทศ ประชากรกว่า 600 ล้านคน จะรวมตัวกัน

เป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือเออีซี มาตรวจ "ความพร้อม" ของผู้ประกอบการไทยว่า จนถึงขณะนี้พวกเขาพร้อมสู้กันมากน้อยแค่ไหน ?

สำหรับผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) ยังไม่เห็นภาพการเสริมเขี้ยวเล็บชัดเท่ากับ บรรดา "บิ๊กธุรกิจ" ทุนหนา ที่มีข่าวซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) การรุกออกไปลงทุนนอกบ้าน หรือการจับพันธมิตรธุรกิจกับต่างชาติ เพื่อเบ่งความใหญ่จากขนาด (Economy of Scale) กันอยู่เนืองๆ

ไม่ว่าจะเป็น เครือ ทีซีซี ของเจริญ สิริวัฒนภักดี สิงห์คอร์เปอเรชั่น ของตระกูลภิรมย์ภักดี เครือเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ของตระกูลเจียรวนนท์ เป็นอาทิ

อย่างไรก็ตาม หากเทียบระดับ "ความเสี่ยง" ต่อการเพลี่ยงพล้ำทางธุรกิจ จากการ "ทะลัก" เข้ามาแข่งขันของสินค้าหน้าใหม่จากทั่วสารทิศ ในสังเวียนการค้าอาเซียน หลังเปิดเสรีการค้าเต็มขั้น

"ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย" คือความเสี่ยงอันดับแรกๆ ที่จะล้มหายตายจากไปก่อน หากธุรกิจเกินเยียวยาเพราะแข่งสู้คนอื่นไม่ได้ใน 2 ประเด็นหลัก คือ

ราคาสินค้า และ คุณภาพสินค้า!!

เป็นผลมาจากภาษีนำเข้าที่ "ไร้แต้มต่อ"

สินค้าจะสู้กันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มากขึ้น ฆ่าฟันตามกระแส "ทุนนิยม"

ทว่า มีอีกความพยายามของผู้ประกอบการไทย ในการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการนำเรื่องของ "มาตรฐานสินค้า" มาใช้เป็นแต้มต่อการแข่งขันแทนการตั้ง "กำแพงภาษี"

เห็นได้จากเริ่มมีข้อเสนอจากภาคเอกชนในการผลักดันให้รัฐกำหนด "มาตรฐานสินค้าและบริการในไทย" เพื่อป้องกันการ "ไหลบ่า" เข้ามาของสินค้า "ด้อยคุณภาพ" เพื่อมาแข่งขันกับสินค้าไทยและบริการในไทย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการในไทย ในสายตาของประเทศคู่ค้า

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย เสนอว่า ไทยต้องเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานสินค้าในระดับประเทศและอาเซียน เพื่อปกป้องสินค้า หรือวัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน มีราคาต่ำเข้ามาในเมืองไทยจำนวนมาก ทำให้สินค้าจากไทยไม่เป็นที่ยอมรับจากประเทศผู้นำเข้า

ขณะเดียวกันสินค้าดังกล่าวยังจะเข้ามาแย่งตลาด "ผู้ผลิตในประเทศในกลุ่มวัตถุดิบ"

เช่นเดียวกับ กมล รัตนวิระกุล นายกสมาคมการบริหารโรงแรมไทย ที่ระบุว่า อยู่ระหว่างผลักดันจัดตั้ง "สถาบันวิชาชีพโรงแรมไทย" เพื่อป้องกันแรงงานไม่ได้มาตรฐานไหลสู่ธุรกิจโรงแรมในไทย เนื่องจากค่าแรงไทยถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน เฉลี่ย 15,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน พม่าได้ค่าจ้างแค่ 4,500 บาท ลาว 6,000 บาท สำหรับตำแหน่งพนักงานต้อนรับ

ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะรายเล็ก หรือรายใหญ่ ต้องเร่งดำเนินการคือ การเร่งเครื่องพัฒนาคุณภาพสินค้าหนีคู่แข่งที่กำลังหายใจรดต้นคอ

เพราะหากไม่เร่งถีบตัวให้หลุดพ้นจากการแข่งขันด้านราคา วันหนึ่งหากมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าไทยขึ้นมาจริงๆ

ก็จะกลายเป็น "วัวพันหลัก" ย้อนกลับมาทำลายความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทย ในที่สุด