ปั้นปั่น

ปั้นปั่น

การจะปั้นให้การปั่นจักรยานกลายมาเป็นทางเลือกการเดินทาง ลำพังความตั้งใจนำเสนอสิ่งดีๆ อย่างเดียวคงไม่พอ

ปัจจุบันการปั่นจักรยานกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่ให้ความนิยมกันอย่างมาก โดยเฉพาะที่เป็นการขี่ออกกำลังกายหรือขี่ท่องเที่ยวและเพื่อได้พบปะสังสรรค์กับก๊วนผู้มีความสนใจร่วมกันในวันพักผ่อน ทำให้โอกาสการส่งเสริมการขี่จักรยานแทนการใช้ยานพาหนะอื่นๆ ที่ทำร้ายโลกมีเพิ่มขึ้นด้วย โดยในกรุงเทพฯ พบโครงการ “ปันปั่น” ที่มีสถานีให้คนได้มาเช่าเอาจักรยานไปใช้

แนวคิด Bike Share นี้เกิดขึ้นมานานมากในหลายประเทศทั่วโลก และที่ดูจะประสบความสำเร็จเป็นที่กล่าวถึงกันเยอะได้แก่ Vélib ในฝรั่งเศส หากวิเคราะห์ตามหลักบริหารธุรกิจพบปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ ตัวสินค้าและบริการเอง ที่แน่นอนจักรยานต้องมีคุณภาพและมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เรื่องนี้เป็นหัวใจและปัญหาหลักที่พบทั่วไป

ในฝรั่งเศสเองพบว่ากว่า 80% ของจักรยานที่จัดไว้เกิดความเสียหายหรือถูกขโมยทำให้ต้องใช้จ่ายเงินราว 4 ล้านยูโรต่อปีในการบริหารจักรยานราว 16,000 คันที่ 1,200 สถานี นอกจากคุณภาพแล้ว ปริมาณก็เป็นอีกส่วนที่ต้องบริหารให้ดี ครอบคลุมตั้งแต่จำนวนสถานีและจำนวนจักรยานต่อสถานีที่ต้องทำให้คนรู้สึกว่ามาแล้วไม่ผิดหวัง มีจักรยานให้เช่าใช้ตามที่ตั้งใจ

ปัญหาที่ต้องคิดเผื่อคือ ปริมาณความต้องการเช่าจากในเมืองหรือที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามีมากกว่า ทำให้จำนวนจักรยานลดลงจากสถานีในเมืองอย่างรวดเร็วในช่วงรีบเร่ง และไปกองกันที่สถานีห่างๆ ออกไปในภายหลัง จึงต้องวางแผนการขนส่งจักรยานเอากลับมาเติมที่ต้นทาง เป็นอีกต้นทุนที่ต้องคิด บางแห่งใช้ระบบรถขนส่งเพื่อความรวดเร็ว บางแห่งใช้วิธีให้ส่วนลดเป็นเวลาขี่ฟรีสำหรับคนที่เอามาคืนณ จุดเดิม

ถัดมาแม้คุณประโยชน์การเช่าจักรยานใช้ในเมืองจะเป็นเรื่องการเดินทางแต่รูปลักษณ์ที่ดูน่าสนใจก็มีผลกระตุ้นให้คนอยากใช้ขี่ให้ดูเท่ นอกจากนั้นยังมีหลายแห่งที่พยายามออกแบบสถานีให้ดูแปลกใหม่ กระทั่งกลายเป็นเหมือนงานศิลปะประดับเมืองได้เช่นกัน

และแม้ว่าจักรยานจะเป็นบริการสาธารณะ แต่การมีแบรนด์ที่สร้างอัตลักษณ์ก็ช่วยให้เกิดการต่อยอดธุรกิจได้ เช่นที่ Vélib กำเนิดจากชื่อ Velo (จักรยาน) + Liberte (อิสรภาพ) และมีการบริหารแบรนด์ให้เป็นสัญลักษณ์วิถีชีวิตแบบร่วมสมัย คือ ยืดหยุ่น ไปที่ไหนๆ ได้ง่ายและช่วยสังคม ต่อมา Vélib จึงสามารถขยายผลไปทำเรื่องการท่องเที่ยวกระตุ้นให้คนหันมาใช้ Vélib ท่องเมืองปารีส และยังงอกต่อไปขายของที่ระลึกได้อีก งาน Branding อีกส่วนมาจากโมเดลทางการเงินกับการโฆษณาและสปอนเซอร์ทำให้พบการตกแต่งตัวจักรยานและสถานีตามแบรนด์ผู้ให้การสนับสนุน เช่น ในนิวยอร์คมี Citibike โดย Citibank พ้องเสียงและมีความหมายสอดคล้องกันดี ฝั่งแบรนด์เองได้ประโยชน์จากการสื่อสารโดยเฉพาะที่ผู้คนพาเอาจักรยานเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆ แต่แม้ว่า Citibikeจะประสบความสำเร็จมีสมาชิกถึงเกือบ 100,000 รายแต่กลับขาดทุน ดังนั้นจึงต้องทบทวนกันต่อไปเรื่องกลไกราคา

แม้ขนส่งสาธารณะจะเป็นหนึ่งในความจำเป็นที่ภาครัฐหลายแห่งทั่วโลกต้องยอมนำเงินมาช่วยชดเชย แต่ความพยายามทำให้การดำเนินงานมีความยั่งยืนก็ผลักดันให้เกิดมาตรการรูปแบบต่างๆ เช่น การเก็บเงินค่าสมาชิกและค่าเช่า ที่พบว่ายังไงก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เพราะท้ายที่สุดมีเพดานราคาเพื่อรักษาความเป็นบริการสาธารณะไว้ไม่ให้เกิดกรณีกีดกันผู้ใช้เฉพาะเพียงบางกลุ่ม โดยพบว่าหลายเมืองทั่วโลกประสบปัญหาขาดทุน เช่น Barcelona ขาดทุนราว 12 ล้านยูโรต่อปี ลอนดอนขาดทุนราว 21 ล้านยูโรต่อปี อย่างไรก็ดีการเก็บเงินก็ยังเป็นเครื่องมือช่วยให้คนร่วมรักษาและลดอัตราการเสียหรือสูญหายลงได้ หากจะพิจารณาโมเดลที่ใช้การได้ทางการเงิน พบว่ามาจากการนำไปผูกกับพื้นที่โฆษณาในเมือง เช่นที่ Vélib ให้บริษัท JCDecaux เข้ามาบริหาร 10 ปี โดยรับผิดชอบต้นทุนทั้งหมด ขณะที่เมืองปารีสรับรายได้จากค่าเช่าจักรยานบวกค่าธรรมเนียมที่บริษัทจ่ายให้ 3 ล้านยูโรต่อปี รวมรายรับแล้วตกที่ราว 20 ล้านยูโรต่อปี ทั้งนี้แลกกับการที่ JCDecaux ได้สิทธิ์เพียงผู้เดียวในการจัดการบิลบอร์ดโฆษณาทั่วเมืองราว 800 จุด

โมเดลดังกล่าวเป็นช่องทางให้ JCDecaux สามารถขยายงานสู่อีกหลายเมืองทั่วโลก เช่นในออสเตรีย ญี่ปุ่น โดยนำธุรกิจพื้นที่โฆษณาไปผูกกับกิจการเพื่อสังคม อย่างไรก็ดี มีเงื่อนไขความคุ้มค่าที่ต้องประเมิน เช่น จำนวนจุดโฆษณาที่ได้รับแลกกับการลงทุนและจัดการระบบการเช่าจักรยาน และยังมีคำถามจากบางสังคมถึงการถล่มป้ายโฆษณาลงในเมือง ซึ่งดูขัดกันกับการส่งเสริมพฤติกรรมขี่จักรยานเพื่อสร้างบรรยากาศเมืองน่าอยู่

กรณีศึกษาเหล่านี้ทำให้ได้ข้อคิดว่า การจะปั้นให้การปั่นจักรยานกลายมาเป็นทางเลือกการเดินทาง ลำพังความตั้งใจนำเสนอสิ่งดีๆ อย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมาพร้อมความสามารถในการบริหารจัดการที่สอดรับกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง