นักลงทุนต่างชาติ พบหัวหน้าคสช.

นักลงทุนต่างชาติ พบหัวหน้าคสช.

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน

วันนี้ผมขอเขียนถึงงาน “Thailand’s Resilience - A Roadmap to a Sustainable Recovery” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเราได้เชิญนักลงทุนสถาบันชั้นนำของโลก 25 รายมาร่วมในงานนี้ ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนเหล่านี้บริหารเม็ดเงินรวมกันทั้งสิ้น 16 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 500 ล้านล้านบาท

วัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน คือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดทุนไทย โดยภายในงานเราได้รับเกียรติจากผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มาร่วมให้ข้อมูลกับนักลงทุน

ไฮไลต์ของงานคือการที่ผมได้รับอนุญาตให้พานักลงทุนกลุ่มนี้เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อรับฟังสถานการณ์ในประเทศ และเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ซักถามคำถามโดยตรง และก่อนที่งานจะจบลงด้วยการรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน เรายังได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ มากล่าวปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวกับแผนงานด้านเศรษฐกิจที่ทางคสช. กำลังดำเนินการอยู่ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญจากงานนี้ ดังนี้ครับ

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำในที่ประชุมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พค. ว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการแทรกแซงทางการทหาร เพราะคู่ขัดแย้งไม่สามารถตกลงหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะรัฐบาลรักษาการในขณะนั้น ไม่สามารถจัดการปัญหาบ้านเมืองได้ คสช. ไม่ได้ต้องการอำนาจ ไม่ได้ต้องการทำลายประชาธิปไตย แต่ต้องการแก้ปัญหาของประเทศเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ การเร่งให้เลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็วนั้นไม่ใช่ทางออกสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถแก้ต้นตอของปัญหาได้

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้อธิบายถึงโรดแมพเพื่อแก้ปัญหาของประเทศโดยประกอบไปด้วย 3 ระยะ ระยะแรก : แก้ปัญหาทางตันทางการเมืองโดยบริหารบ้านเมืองภายใต้อำนาจของ คสช. ระยะกลาง : เราจะได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ระยะสุดท้าย : ภายใต้รัฐบาลระหว่างกาล จะมีประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูป 11 ประเด็น ได้แก่ การเมือง, การบริหาร, กฎหมายและความยุติธรรม, เศรษฐกิจ, พลังงาน, การศึกษา, สาธารณสุข, สื่อมวลชน, สิ่งแวดล้อม, งบประมาณรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น

สำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติจะมีการคัดเลือกเร็วๆ นี้ และการแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ จะถูกดูแลโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายหลังการเลือกตั้ง

ส่วนการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าแผนโรดแมพดำเนินไปอย่างราบรื่นตามแผน การเลือกตั้งครั้งใหม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2558 ทางด้านประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ได้พูดอย่างชัดเจนว่าหน้าที่หลักของ คสช. คือการก่อให้เกิดการเริ่มต้นทำในสิ่งที่จำเป็น มากกว่าที่จะไปควบคุมบงการเศรษฐกิจ และงานทางด้านบริหารก็จะถูกดำเนินการโดยข้าราชการ

สำหรับสภาวะทางเศรษฐกิจ นาย ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท. มองว่าเศรษฐกิจประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะค่อยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการคลังและการเงินที่ยังคงผ่อนปรน ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวได้ 5.5% ส่วนความกังวลหนี้ครัวเรือนที่สูง นายไพบูลย์มองว่ามีพัฒนาการในทางที่ดีหลังจากทั้งครัวเรือนและธนาคารพาณิชย์ เริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้น ส่วนประเด็นการเติบโตในระยะยาวเพื่อให้จีดีพีเติบโตได้ตามศักยภาพ 4-5% นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ประสิทธิภาพการผลิต และนวัตกรรม

ทางด้านการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคม ดร. จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม อธิบายว่าถึงแม้แผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ คสช. จะเป็นแผนระยะยาวที่ต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปี แต่สิ่งที่จะทำเป็นลำดับแรก (เริ่มปี 2558) คือจะไปเน้นการเชื่อมโยงเมืองสำคัญหลักๆ (ทั้งถนนและเส้นทางขนส่งมวลชน) และรถไฟรางคู่ ดังนั้นเราจะเห็นการลงทุนเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นแน่นอน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ย้ำว่าประเทศไทยยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะใช้สนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยภายใต้หลักเกณฑ์ด้านการคลังของประเทศไทย หากมีการขาดทุนงบประมาณประจำปีแล้ว โครงการต่างๆ สามารถใช้เงินทุนจากการกู้ยืมภายในประเทศซึ่งค้ำประกันโดยรัฐบาลเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและยังสามารถกู้เงินนอกประเทศเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือสาระสำคัญจากในงาน และจากที่ผมได้พูดคุยกับนักลงทุนหลายท่านที่มาร่วมงาน ผมสรุปความคิดเห็นของพวกเขาได้ดังนี้:

1.นักลงทุนมีความพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับฟัง และชื่นชมในความจริงใจของหัวหน้าคสช. และคณะ ในการเข้ามาปฏิรูปและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะการประกาศโรดแมพที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนมีความชัดเจนมากขึ้น

2.นักลงทุนคลายความกังวลไปมากเมื่อได้เข้าใจวิธีการทำงานของคสช. โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการที่คสช. ทำหน้าที่หลักในการเป็น “Facilitator” หรือผู้อำนวยความสะดวก มากกว่าที่จะเป็น “Dictator” หรือผู้บงการ และให้ข้าราชการเป็นผู้ดำเนินงาน ตามระเบียบและข้อกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้นักลงทุนสบายใจขึ้น

3.นักลงทุนมีความเป็นห่วงว่าคสช. จะไม่สามารถจัดการทุกเรื่องให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี เนื่องจากภารกิจหลักในการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านมีค่อนข้างมาก และน่าจะใช้เวลานาน ซึ่งก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งอาจต้องล่าช้าออกไป

4.นักลงทุนแสดงความกังวลว่าสถานการณ์ทางการเมือง อาจกลับไปเป็นอย่างเดิม ถ้าผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้

กล่าวโดยสรุป ผมเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจมากขึ้น หลังการประชุมครั้งนี้ แต่เราไม่น่าจะเห็นเม็ดเงินจากต่างชาติไหลกลับมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยังมีข้อกังวลอีกค่อนข้างมาก และตลาดหุ้นไทยได้สะท้อนผลประกอบการของปีนี้เกือบเต็มที่แล้ว หัวใจสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติให้กลับมาเร็วขึ้น อยู่ที่ความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจตามโรดแมพที่วางไว้ และความจริงใจในการปฏิรูปประเทศ

พบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีครับ