เศรษฐกิจพอเพียงของลาว คืนความสุขให้ประชาชน

เศรษฐกิจพอเพียงของลาว คืนความสุขให้ประชาชน

ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงของลาว แม่น้ำโขงคือความมั่งคั่ง แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาความมั่งคั่ง

หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้เช่น ปลาข่อน อาหารแหล่งสุดท้ายช่วงหน้าแล้งอันยาวนานถึง 6 เดือนที่ปลาแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขงว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ทิ้งไว้ตามแปลงนาริมฝั่งหรือผักแม่น้ำโขงจากสวนครัวเล็กๆ ปลูกได้เฉพาะหน้าแล้งบนดินริมตลิ่งที่จะโผล่ขึ้นมาเมื่อแม่น้ำโขงแห้งหรือการเปิดโอกาสให้ผู้ชายเข้าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมด้วยการทอผ้าซิ่นที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดหลังจากรัฐบาลประกาศให้เด็กหญิงและผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ทำให้ไม่มีใครว่างงานในระบบเศรษฐกิจพอเพียงของลาว

“ผี” จะดูแลจัดสรรทรัพยากรให้มีเพียงพอและเท่าเทียมกันทุกคนเพราะเจ้าของที่แท้จริงคือ “ผีไร่ผีนา” คนเป็นเพียงผู้เช่า ต้องเสียค่าเช่ารายปีเป็นเหล้าไหไก่ตัว เพื่ออธิษฐานขอให้มีข้าวเต็มนา ปลาเต็มต้อน การเลี้ยงผีเป็นฮีตคองที่สำคัญช่วยสร้างสำนึกให้คนเป็นผู้รู้จักประมาณ หรือ “มัตตัญญุตา” ผู้ที่ทำลายทรัพยากรหรือไม่แบ่งปันจะถูกพญานาคตักเตือน ถ้าโทษหนัก จระเข้ผีจะแปลงกายเป็นผู้หญิงสวยมาหลอกจับตัวไปกิน หากยังอยากมีชีวิตรอดต้องหมั่นเข้าวัดทำบุญ เพราะบุญ (ปุญฺญ) จะช่วยชำระจิตใจให้สะอาด ขจัดความอยากและลดความเห็นแก่ตัวลง

ฮีตคองทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดำรงอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนลาว โดยเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาและความเชื่อต่างๆ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและทำให้คนบริสุทธิ์ด้วยปัญญา (ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ) โดยเห็นว่าธรรมชาติไม่ได้โหดร้ายเพราะ “โลกธรรม” ทั้งปวงต่างมีทั้งสุขและทุกข์ปนกันไป ดังนั้น คนต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฏจักรน้ำดิน และเงื่อนไขใหม่ๆ ของธรรมชาติ

ความสามารถในการปรับตัวทำให้เศรษฐกิจพอเพียงของลาวได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแม้ต้องเผชิญกับพายุโซนร้อนไหหม่าและพายุฝุ่นนกเตน ในปี พ.ศ. 2555 สร้างความเสียหายถึง 1 ใน 3 ของ GDP แต่เศรษฐกิจของลาวก็ยังคงเติบโตในระดับที่สูง การปรับตัวยังช่วยทำให้เกิดความต่อเนื่องในการต่อยอดภูมิปัญญาเรื่องฝุ่น (ปุ๋ย) ฝุ่นคือขี้ควายแห้งคานา เศษใบไม้ใบหญ้า ดินอ่อนริมบึงที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์นับพันปี หรือแม้กระทั่งขุยขี่กะเดือน (ขี้ไส้เดือน)

คนลาวต่อยอดภูมิปัญญาโดยการนำฝุ่นมาเผากับแกลบด้วยไฟอ่อนๆ พอให้แมลงที่หลบอยู่ในนั้นตาย หมั่นรดด้วยน้ำปัสสาวะที่คนทั้งครอบครัวช่วยกันรวบรวม น้ำปัสสาวะดองในกระบอกไม้ไผ่เป็น “แม่ฝุ่น” ชั้นดี ช่วยเร่งต้นอ่อนของใบยาสูบให้โตเร็วทำให้ผักงามผลไม้ลูกใหญ่ โดยไม่ต้องใช้สารเร่งทั้งยังช่วยรักษาครอบครัวเอาไว้ไม่ให้ล่มสลาย ฝุ่นที่ดีจึงต้องอยู่ไม่ไกลบ้าน

การสร้างนวัตกรรมในครอบครัวที่ทุกคนร่วมกันผลิตขึ้นมาทำให้เกิดฐานการผลิตขนาดใหญ่ สามารถเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจหลักอย่างทรงพลัง ฝุ่นกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของทุกประเทศในอาเซียน แม้แต่ไทยยังต้องนำเข้าฝุ่นจากลาวเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา หรือผักแม่น้ำโขง เศรษฐกิจชุมชนที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโรงแรมและร้านอาหารใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาลาวปีละ 3 ล้านคน (เท่ากับประชากรลาวครึ่งประเทศ) ผักบางส่วนถูกส่งมาขายถึงกรุงเทพฯ

พรมแดนเศรษฐกิจพอเพียงของลาวแผ่ออกไปจนกว้างใหญ่ไพศาลด้วยปรัชญาเรื่อง “ความเป็นพี่เป็นน้อง” ผญากล่าวไว้ว่า “แก้วบ่ขัด สามปีกลายเป็นแห่ พี่น้องบ่มาแวะ สามปีกลายเป็นคนอื่น” ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการแบ่งปันผลผลิตและเมล็ดพันธุ์ภายในหมู่บ้านทำให้เกิดคลังเมล็ดพันธุ์จำนวนมากไว้ปลูกซ่อมหากมีแมลงมาทำลายหรือน้ำท่วมเสียหาย พืชผักที่ปลูกได้ก็นำมา “กินส้มโฮมกัน” (กินส้มตำ) ในช่วงบ่ายของทุกวัน ทำให้คนรับรู้ความเป็นไปต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมความเป็นพี่เป็นน้องยังรวมถึงธรรมชาติรอบตัว เช่น การนำเข่งไม้จากบ่อขยะมาครอบผักสวนครัวเพื่อเป็นอาหารให้แมลงศัตรูพืชที่หนียาฆ่าแมลงจากแปลงนารอบบ้าน แทนการใช้ยาฆ่าแมลง การพึงสำรวจระวังในสัตว์ทั้งหลายทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

คนลาวทุกคนรู้จักเศรษฐกิจพอเพียงจากการเสด็จมาเยือนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และยกย่องให้เป็นความรู้ชั้นสูงของสามัญชน ผู้แสดงบทบาททางเศรษฐกิจ (Economic actors) ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่พ่อค้าแม่ขายทั่วไป แต่เป็นปราชญ์ที่มีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น พ่อเฒ่าฮมแข่ว (หมอฟันพื้นบ้าน) ใช้การสูบควันสมุนไพรจากบ้องเพื่อทำให้แข่ว (ฟัน) อยู่ต่อไปได้ถึง 20 ปีโดยไม่ต้องถอนและพ่อหมอตำแยใช้การนวดท้อง การสวดคาถา และการอยู่กรรม (อยู่ไฟ) คุ้มครองสองแม่ลูกให้รอดพ้นความตาย

เศรษฐกิจพอเพียงของลาวประกาศความยิ่งใหญ่ด้วยการเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมาจากการต่อยอดภูมิปัญญาและปรัชญา “ความเป็นพี่เป็นน้อง” เพื่อ “คืนความสุขกลับมาให้คน”....บทเรียนสำคัญที่คนไทยต้องเรียนรู้

--------------------

อ้างอิง

รายงานผลการจัดเสวนาชวนถก ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ วิทยาลัยครูสงฆ์จำปาสัก แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557.