หนี้เอกชนกับดอกเบี้ยขาขึ้น!

หนี้เอกชนกับดอกเบี้ยขาขึ้น!

ชัดเจนแล้วว่า ต.ค.นี้ มาตรการ “คิวอี” หรือ การผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด”

จะจบลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็รอดูว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ยังสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งถ้าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างที่ เฟด คาดการณ์เอาไว้ บวกกับ “เงินเฟ้อ” เร่งตัวขึ้น เราคงได้เห็น เฟด ปรับขึ้น “ดอกเบี้ยนโยบาย” อย่างช้าสุดภายในกลางปีหน้า

ถ้าดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปรับเพิ่มขึ้น ก็คงกดดันให้ดอกเบี้ยทั่วโลกขยับขึ้นตามด้วย ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยนโยบายของไทย “คำถาม” คือ แล้ว “เศรษฐกิจไทย” พร้อมรับมือกับภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” มากน้อยแค่ไหน?

เรื่องนี้น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนด้วย “หนี้” สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ภาคเอกชนที่ปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2557 “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ก็เพิ่งออกมาเตือนถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า “หนี้ภาคเอกชน” ของไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2557 สัดส่วนหนี้ภาคเอกชนต่อจีดีพีของไทยสูงเกือบ 155% ซึ่งเป็นระดับ “สูงสุด” เมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ สะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพสินทรัพย์ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งระดับหนี้ที่เติบโตเร็ว ยังสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์” บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ระบุเช่นกันว่า หลายประเทศในเอเชียเวลานี้ มีสัดส่วนหนี้ภาคเอกชนที่สูงราว 150-200% ของจีดีพี กลุ่มประเทศเอเชียที่ว่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย จีน และเวียดนาม เป็นต้น

รายงานดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ระดับหนี้เอเชียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าเอเชียอาจไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่รับรู้กัน และเมื่อระดับหนี้เพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤติปี 2540 หมายความว่า เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้อยู่บนเส้นทางที่ต้องมีการปรับตัว

ว่าไปแล้ว การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 63% ของจีดีพีในปี 2553 เป็น 82% ของจีดีพีในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “ดอกเบี้ยแท้จริง” ที่ติดลบเป็นเวลานาน แม้ว่าเศรษฐกิจในบางช่วงจะเติบโตค่อนข้างร้อนแรงก็ตาม จึงเอื้อให้การก่อหนี้มีมากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายปีมานี้ เศรษฐกิจไทยสะสมความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อดอกเบี้ยโลกขยับขึ้น บีบให้ดอกเบี้ยไทยต้องปรับเพิ่มตาม เศรษฐกิจที่ “แบกด้วยหนี้” จะทนแรงเสียดทานได้มากน้อยแค่ไหน.. เพราะเมื่อครั้งวิกฤติซับไพร์ม ส่วนหนึ่งของปัญหาก็เกิดจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย

“ดร.บัณฑิต นิจถาวร” อดีตรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” บอกว่า ถ้าช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี คนมั่นใจว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ผลกระทบตรงนี้คงไม่ได้มาก แต่ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตอย่างเชื่องช้า ปัญหานี้ก็คงเป็นคำถามที่น่าคิดเช่นกัน

ทั้งหมดนี้จึงต้องย้อนกลับไปถาม “แบงก์ชาติ” ดังๆ ว่า พร้อมหรือยังกับภาวะดอกเบี้ยโลกที่กำลังจะเป็นขาขึ้น!