เงินโอนคนจนไม่ใช่ของฟรี

เงินโอนคนจนไม่ใช่ของฟรี

ระดับนโยบายของกระทรวงการคลัง มีแผนที่จะผลักดันแนวทางนำเงินภาษี ของประชาชนไปจ่ายให้กับ

ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจน ให้เหตุผลว่า แนวทางนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวย เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า การหว่านนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เช่น นโยบายจำนำข้าว ที่ต้องการช่วยชาวนาที่ยากจน แต่ผลปรากฏ ชาวนาที่ร่ำรวยได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้มากที่สุด กรณีนี้ ไม่นับรวมการทุจริตของนักการเมืองที่ยังเป็นคดีความ

แนวทางนี้ อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดในแนวทางปฏิบัติ เช่น การตรวจสอบว่า ผู้ที่ขอรับเงินโอนมีรายได้ตามที่แสดงหรือไม่ ถ้าแสดงรายได้เป็นเท็จ จะได้รับโทษอย่างไร ใครจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่จ่ายเงินระหว่างกรมสรรพากรกับกรมบัญชีกลาง ที่สำคัญ เงินโอนที่ว่านี้ จะจัดสรรมาจากงบประมาณส่วนใด และ รัฐบาลใหม่จะเห็นด้วยกับนโยบายนี้หรือไม่ ต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆ เงินงบประมาณที่ใช้ในการโอนนี้ ไม่ใช่ของที่จะได้มาฟรี โดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยน

ประเด็นแรก คนที่จะได้รับเงินโอนนี้ จะต้องทำงาน เพราะวัตถุประสงค์สำคัญของแนวทางนี้ คือ ต้องการให้คนทำงาน ทำมาก หรือ ทำน้อย ก็ขอให้ทำ แต่เมื่อทำแล้ว มีรายได้น้อย รัฐก็พร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยให้

ประเด็นที่สอง เมื่อรัฐต้องนำงบประมาณมาใช้ในการจ่ายเงินนี้ จะต้องมีงบประมาณส่วนอื่นที่ถูกตัด เพราะงบประมาณมีจำกัด แนวคิดก็คือ นโยบายประชานิยมที่คนกลุ่มนี้เคยได้ ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ไปด้วย จะยอมรับสิ่งแลกเปลี่ยนนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าที่กระทรวงการคลังกำลังออกแบบ

ประเด็นที่สาม หากไม่มีการตัดสิทธิ์นโยบายต่างๆ รัฐก็ต้องหาแนวทางที่จะได้มาซึ่งรายได้ แน่นอน ไม่พ้นการรีดภาษีเพิ่ม เพราะหากเราต้องการสวัสดิการที่ดี แต่ไม่เก็บภาษีในอัตราสูง ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือ หากเก็บภาษีในอัตราต่ำ เราก็จะได้สวัสดิการไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างกรณีนโยบายเรียนฟรี ซึ่งไม่ได้ฟรีจริง ทุกวันนี้ ผู้ปกครองก็ยังต้องจ่ายเงินค่าเล่าเรียน แต่ออกไปในรูปแบบค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครูสอนพิเศษ เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่า เงินโอนโดยตรงแก่คนจนนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เงินนี้ ไม่ใช่ของฟรี และต้องแปรความหมายว่า เมื่อคนจนได้รับการอุดหนุน ก็จะต้องมีผู้ที่จ่ายเงินอุดหนุน คนที่จ่ายเงินอุดหนุนประชาชนทั่วไป โดยรัฐมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเท่านั้น

ทุกวันนี้ ภาระภาษีตกอยู่กับประชาชนทุกคน โดยกลุ่มที่มีรายได้เป็นเงินเดือน จะมีภาระภาษีที่ถูกหักภาษีโดยตรง ส่วนคนที่ไม่มีรายได้ที่เป็นเงินเดือนหรือและมีรายได้เป็นเงินเดือน จะมีภาระภาษีทางอ้อม จากการซื้อสินค้าและบริการ เป็นต้น แต่แม้ว่า ทุกคนจะมีภาระภาษี ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการหลีกเลี่ยง ปัจจุบันยังมีผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่รู้ช่องทาง โดยมีคนที่มีความรู้ทางภาษีให้คำแนะนำ

เมื่อทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายภาษี ขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเงินภาษี ไม่ว่าจะผ่านการสร้างถนน ไฟฟ้า ประปาโดยรัฐเป็นผู้จัดสรร ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะแสดงความเห็น และ ตรวจสอบ การจัดสรรเงินภาษีดังกล่าวของรัฐให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม เหมาะสม และ โปร่งใส เพื่อให้เงินภาษีของประชาชนไม่กลายเป็นของฟรี ให้นักการเมืองนำไปซื้อคะแนนเสียงเหมือนที่ผ่านมา